สธ.ยันไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เผยเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เน้นคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากต่างประเทศ ส่วนสถานการณ์โควิดลดต่ำลงกว่าที่คาด ติดเชื้อใหม่เริ่มคงตัว
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้แถลงข่าวในประเด็น มาตรการในการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ของประเทศไทย ว่า โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ได้กระจายไปในหลายประเทศทวีปยุโรปและแอฟริกา โดยมีจำนวนผู้ป่วยยังอยู่ในจำนวนหลักร้อย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เชื้อหลุดเข้ามาในประเทศ จึงได้ตั้งศูนย์ EOC โรคฝีดาษลิง กรมควบคุมโรค ตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่พบการระบาด ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่ออย่างใกล้ชิด
โดยปกติแล้วโรคฝีดาษวานรจะเป็นการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน ด้วยการสัมผัสแผลหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ป่วย ขณะเดียวกันก็สามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้เช่นกัน โดยติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะแผลของผู้ป่วย รวมถึงเสื้อผ้าและสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ โดยระยะฟักตัวจะอยู่ที่ 5-21 วัน โดยอาการปกติจะไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลางและมี 2 ระยะหลักดังนี้
1. ช่วงอาการนำ (0-5 วัน) จะมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลังหรือกล้ามเนื้อ และสามารถแพร่เชื้อได้
2. ช่วงออกผื่น (ภายใน 1-3 วันหลังมีไข้) มีลักษณะการกระจายเริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่างๆของร่างกาย รวมถึงยังสามารถพบได้บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ช่องปาก หรือ อวัยวะเพศ ลักษณะของผื่นจะพัฒนาไปตามระยะดังต่อไปนี้ ได้แก่ ผื่นนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ้มหนอง และสะเก็ด หากผู้ป่วยมีสะเก็ดจนแห้งและร่วงหลุดไปจะไม่มีการแพร่เชื้อ
สำหรับจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรทั่วโลกขณะนี้พบแล้ว 257 ราย แบ่งเป็น ได้รับการตรวจผลยืนยันแล้ว 169 ราย และผู้ป่วยต้องสงสัย 88 ราย ซึ่งกระจายใน 18 ประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังพบว่ามีการระบาดภายในประเทศเฉพาะทวีปยุโรปเท่านั้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยต้องสงสัยโรคฝีดาษวานร และไม่เคยมีรายงานโรคนี้มาก่อน จึงต้องเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเป็นหลัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งทางห้องปฏิบัติการและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ทีมสอบสวนโรค และเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์
"ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่หายเองได้ แต่ในขณะเดียวกันก็พบผู้ป่วยรุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีปัญหาสุขภาพหรือคนที่มีอาการแทรกซ้อน อาทิเช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตาา ทำให้สูญเสียการมองเห็น ดังนั้นความเสี่ยงหลักจะมาจากผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ส่วนคนไทยที่กำลังวางแผนไปยุโรป หรือประเทศที่พบการระบาดต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ขอให้สวมแมสก์ เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ" นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคฝีดาษลิง จากการรายงานข้อมูลผู้ป่วยทั่วโลก ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 พบว่า จาก 123 ราย เป็นชาย 122 ราย หญิง 1 ราย ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-59 ปี อาการป่วยที่สำคัญ ผื่น/ตุ่มนูน 98 % ไข้ 39 % ต่อมน้ำเหลืองโต 2 % และไอ 2 % ลักษณะของผื่น เป็นแผลUlcer 75 % ตุ่มน้ำใส 9 % ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2 % บริเวณที่พบผื่น ส่วนใหญ่พบบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณอวัยวะเพศ 39 % ปาก 30 % และรอบทวารหนัก 2 %
ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ West African Clade และCentral African Clade โดยสายพันธุ์ที่เจอในผู้ป่วยทั่วโลก จากการตรวจ 9 ราย พบเป็นสายพันธุ์ West African Clade มีอัตราป่วยตาย 1 % ซึ่งอัตราป่วยตายต่ำกว่า สายพันธุ์ Central African Clade ที่มีอัตราป่วยตาย 10 %
โควิดในไทยติดเชื้อลดต่ำกว่าที่คาด-ผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มทรงตัว
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มถือว่าลดลง ส่วนประเทศไทย แนวโน้มการติดเชื้อลดลงมาต่อเนื่อง 2-3 วัน เฉลี่ยประมาณ 4-5 พันคนต่อวัน ในช่วง 2-3 วันนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในเกณฑ์คงตัว และผู้เสียชีวิตลดลงเล็กน้อย ที่เห็นชัดเจนคือผู้ป่วยรักษาในระบบจากเดิมเกือบ 2 แสนราย เหลือไม่ถึง 5 หมื่นรายแล้ว
"สถานการณ์ถือว่าลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับมาตรการที่ผ่อนคลาย ยังคงสถานะเตือนภัยโควิดระดับ 3 แต่หากติดตามได้ว่ามีการติดเชื้อลดลง อาการป่วยหนักและเสียชีวิตจำนวนลดลง ก็จะปรับไปสู่ระดับ 2 จะมีการผ่อนคลายมากขึ้น ใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น" นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐกล่าว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ทุกวันเป็นกลุ่ม 608 อย่างวันนี้เป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด 100% โดยเกินครึ่งเป็นกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ คือ ไม่ได้วัคซีนเลย ได้รับเข็มเดียว และฉีดสองเข็มเกิน 3 เดือน ทำให้ภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง การป้องกันการป่วยหนักก็ลดลงด้วย จึงต้องรณรงค์ช่วยกันให้กลุ่ม 608 โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไปรับวัคซีนเข็มปกติและเข็มกระตุ้น เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต และปลอดภัยทั้งครอบครัว
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้ต่ำกว่าเส้นคาดการณ์สีเขียว แสดงว่าเราดำเนินการได้อย่างดี ประชาชนร่วมกันปฏิบัติตัวป้องกันตนเอง ดีใจที่คนยังสวมหน้ากากเพราะช่วยลดการแพร่เชื้อได้ ส่วนหลังเปิดเทอมขณะนี้เริ่มพบการระบาดเป็นหย่อมเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน แต่ไม่มาก เป็นในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำ ซึ่งสามารถแยกโซนโดยไม่ต้องปิดโรงเรียน จึงขอให้เน้นการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง ส่วนสถานการณ์ป่วยปอดอักเสบลดลงต่อเนื่องและเริ่มคงตัว ต้องดูว่าสัปดาห์หน้าจะลงต่อหรือไม่ ซึ่งปอดอักเสบเริ่มทรงตัว แสดงว่าการติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์คงตัว ทั้งนี้ หลายจังหวัดมีการผ่อนคลายมากขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมหากพบติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ทั้งที่ รพ. และสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อสอบสวนโรค
"ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงขาลงอยู่ ยังปลอดภัยในหลายจังหวัด โดยการครองเตียงสีเหลืองและแดงต่ำกว่า 20% ถือว่าเรามีเตียงพอหากระบาดขึ้นและพบป่วยหนักจำนวนมาก ส่วนผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ช่วงขาลงหลายคนสบายใจผ่อนคลายมากขึ้น แม้จะผ่อนคลายแต่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่มเสี่ยงไว้ ไปรับวัคซีน รวมถึงเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ควรไปฉีดด้วย เพราะเปิดเรียนแล้วอาจติดเชื้อไปได้" นพ.จักรรัฐกล่าว