ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ เปิดทาง ‘หน่วยงานรัฐ’ คัดเลือกเอกชน ‘สืบหาทรัพย์’ ผู้อยู่ในบังคับ 'ตามมาตรการบังคับทางปกครอง' หากหน่วยงานไม่มีเจ้าหน้าที่สืบทรัพย์สิน และมีวงเงินที่เรียกชำระตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอกชน การกำหนดค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่สืบหาทรัพย์สิน พ.ศ. … ออกตามความในมาตรา 63/11 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเอกชน การกำหนดค่าตอบแทน และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เอกชนที่สืบหาทรัพย์สิน มีดังนี้
1.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศคัดเลือกเอกชนเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองแทนหน่วยงานของรัฐ โดยกำหนดให้ในการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินไม่มีเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการสืบหาทรัพย์สิน และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามมาตรการบังคับทางปกครองมีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป หน่วยงานของรัฐนั้นอาจประกาศคัดเลือกเอกชนเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองแทนได้ โดยประกาศในเว็บไชต์ของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวหรือในเว็บไซต์อื่นหรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นที่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
2.กำหนดให้เอกชนที่ประสงค์จะเข้ารับการคัดเลือกยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารต่อหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงิน
3.กำหนดลักษณะของเอกชนที่อาจได้รับมอบหมายให้สืบหาทรัพย์สิน
3.1 บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย เช่น ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นในหน่วยงานของรัฐที่ออกประกาศคัดเลือก
3.2 นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเกี่ยวกับการดำเนินคดี การสืบทรัพย์ การบังคับคดี การยึด หรืออายัดทรัพย์สิน เป็นต้น
4.กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องและการจัดทำบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกของหน่วยงานของรัฐ โดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาคำร้องและจัดทำบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกซึ่งมีลักษณะตามข้อ 3 ที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในการสืบหาทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันครบกำหนดให้ยื่นคำร้อง และประกาศบัญชีดังกล่าวในเว็บไซต์ของหน่วยงาน
5.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งการมอบหมายไปยังเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือก โดยให้ระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองค้างชำระรายละเอียดภูมิลำเนา ที่อยู่ และข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองที่สืบพบแล้ว ระยะเวลาในการสืบหาทรัพย์สิน ซึ่งต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่คำสั่งให้ชำระเงินเป็นที่สุด รวมทั้งเงื่อนไขอื่นที่เอกชนผู้ได้รับมอบหมายต้องปฏิบัติ
6.กำหนดให้เอกชนผู้ได้รับมอบหมายต้องรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินต่อไป ทั้งนี้ ในการรายงาน ให้แนบแผนที่ที่ตั้งของทรัพย์สิน ภาพถ่ายทรัพย์สินที่จะนำยึด สำเนาโฉนดที่ดินหรือเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน และเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะยึดหรืออายัดด้วย
7.กำหนดเหตุที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีอำนาจสั่งเพิกถอนและสั่งถอนรายชื่อเอกชนผู้ได้รับการคัดเลือกออกจากบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เช่น เอกชนไม่มีลักษณะตามข้อ 3เอกชนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือจงใจกระทำการเป็นเหตุให้เสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ
8.กำหนดเหตุที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีอำนาจยกเลิกการมอบหมายให้เอกชนสืบหาทรัพย์สิน ได้แก่ เอกชนตาย เลิกนิติบุคคล
9.กำหนดให้เอกชนผู้ได้รับมอบหมายที่สืบพบทรัพย์สินแล้วรายงานต่อเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับการสืบหาทรัพย์สิน ดังนี้
9.1 กรณีทรัพย์สินที่สืบพบเป็นเงิน หรือเป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิต่างๆ ที่มีมูลค่า แต่ไม่ต้องขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น เนื่องจากมีการชำระเงินแทนราคาทรัพย์สินดังกล่าว ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละสองครึ่ง (2.5) ของจำนวนเงินที่คำนวณได้ แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
9.2 กรณีทรัพย์สินที่สืบพบเป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิต่าง ๆ ที่มีมูลค่า และมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละสองของจำนวนเงินที่คำนวณได้ แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น ทั้งนี้ให้จ่ายค่าตอบแทนในการสืบหาทรัพย์สินให้แก่เอกชนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้รับเงิน
10.กำหนดให้ประกาศคัดเลือกเอกชน คำร้องขอเข้ารับการคัดเลือกและหนังสือแจ้งการมอบหมาย ให้เป็นไปตามแบบที่หน่วยงานของรัฐกำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง