ธปท.เผยยอดใช้งานระบบ ‘พร้อมเพย์’ อยู่ที่เฉลี่ย 39.6 ล้านครั้ง/วัน เพิ่มขึ้น 77.3% ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อออนไลน์ผ่าน ‘P2P lending platform’ ล่าสุดอยู่ที่ 800 สัญญา วงเงินสินเชื่อ 57 ล้านบาท
................................
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ว่า นับตั้งแต่ ธปท.เปิดให้ผู้ประกอบการทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-bank) พัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านกลไก Regulatory Sandbox มาตั้งแต่ปลายปี 2559
ล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 มีโครงการที่เข้ามาทดสอบใน Regulatory Sandbox แล้ว ทั้งสิ้น 78 โครงการ โดยเป็นโครงการที่การทดสอบประสบผลสำเร็จและออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 38 โครงการ และในเร็วๆนี้กำลังจะออกให้บริการอีก 10 โครงการ รวมเป็นทั้งสิ้น 48 โครงการ
สำหรับโครงการที่การทดสอบประสบผลสำเร็จและออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 38 โครงการ ได้แก่
1.โครงการ QR Code เพื่อการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในการชำระเงิน รวมทั้งลดการใช้เงินสด และทำให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงมากขึ้น มีโครงการที่ออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 18 โครงการ โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.พ.2565 มีจุดวาง QR code จำนวน 7.2 ล้านจุด ,มีบัญชีที่ใช้งาน Internet & Mobile Banking จำนวน 125.8 ล้านบัญชี และมีบัญชีที่ใช้งาน e-Money จำนวน 117.7 ล้านบัญชี
ขณะที่ผู้ใช้งานที่ลงทะเบียน PromptPay มีจำนวนกว่า 69.5 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดโอนเงินเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 39.6 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 77.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2.การยืนยันตัวตนโดยใช้ลักษณะทางชีวภาพของแต่ละบุคคล หรือ Biometrics (Phase 1: Facial Recognition และPhase 2: NDID) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชน ผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือได้ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น มีโครงการที่ออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 10 โครงการ
โดยขณะนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วมใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม NDID รวมทั้งสิ้น 94 หน่วยงาน ,มีลูกค้าที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 5 ล้านราย ,มีการเปิดบัญชีเงินฝากผ่าน NDID แล้วกว่า 7 แสนบัญชี และมีการขอข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโร เพื่อสมัครสินเชื่อสำเร็จแล้วกว่า 8 ล้านรายการ
3.การใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) และการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของการออกหนังสือค้ำประกันและการโอนเงินระหว่างประเทศ มีโครงการที่ออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 9 โครงการ
ล่าสุดมีการออกหนังสือ e-LG รวมกว่า 65,000 ใบ มูลค่ารวมกว่า 120,000 ล้านบาท และการออกหนังสือ e-LG ทำได้รวดเร็วขึ้น ภายใน 1-8 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลา 3-7 วัน ส่วนการโอนเงินระหว่างประเทศ สามารถลดระยะเวลาการโอนเหลือ 3-5 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 3-5 วัน และลูกค้าได้รับค่าธรรมเนียมลงเหลือ 199 บาท/รายการ จากเดิมที่ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 500-600 บาท/รายการ
4.การขอสินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P lending platform) เพิ่มโอกาสแก่ผู้กู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อ และเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น มีโครงการที่ออกให้บริการในวงกว้างแล้ว 1 โครงการ โดยผู้ที่ผ่านการทดสอบได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 และปล่อยสินเชื่อแล้ว 800 สัญญา วงเงินสินเชื่อ 57 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการทดสอบ P2P lending platform ผ่านกลไก Regulatory Sandbox อีก 3 ราย
น.ส.สิริธิดา ระบุว่า ธปท. ยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการทางการเงินสามารถทดสอบนวัตกรรมได้เองผ่านกลไก Own Sandbox ในกรณีที่เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ขณะที่โครงการที่เข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox เน้นโครงการที่ถูกออกแบบหรือพัฒนาเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรฐานกลาง ซึ่งต้องการการทดสอบร่วมกันในวงกว้าง หรือกรณที่มีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องเข้าทดสอบใน Regulatory Sandbox