‘ประธานชมรมแพทย์ชนบท’ ชี้ ‘ศบค.’ ต่ออายุ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ 2 เดือน เอื้อประโยชน์ ‘ผู้รับเหมา’ ที่ทำงานก่อสร้างภาครัฐล่าช้า ไม่ต้องเสีย 'ค่าปรับ' ระบุคนในเมืองหลวง-ต่างจังหวัดใช้ชีวิตตามปกติแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องต่ออายุ 'พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ' อีก
....................................
จากกรณีที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ครั้งที่ 18 เป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.2565 เพื่อให้มีการคงไว้ซึ่งบรรดามาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ต่อไป จนกว่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินการเป็นโรคประจำถิ่นนั้น
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่ ศบค.มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.2565 ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาบางกลุ่ม เพราะการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปนั้น จะทำให้ผู้รับเหมาที่ก่อสร้างงานภาครัฐไม่แล้วเสร็จทันตามสัญญา ไม่เสียค่าปรับใดๆ กรณีส่งมอบงานล่าช้า
“ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีระเบียบของคณะกรรมการพัสดุฯ กรมบัญชีกลาง ที่มีการถึงอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ยกเว้นค่าปรับกรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐล่าช้า โดยอ้างเรื่องโควิดได้ ดังนั้น หากผู้รับเหมาทำงานไม่เสร็จทันสัญญา หรือส่งมอบงานไม่ได้ ก็จะอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตรงนี้ แล้วมาขอยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าปรับกรณีที่ก่อสร้างงานภาครัฐล่าช้าได้” นพ.สุภัทร กล่าว
นพ.สุภัทร ยังกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดๆที่ ศบค.ต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไป เพราะทุกวันนี้ผู้คนในเมืองหลวงและต่างจังหวัดก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว โดยหากใครที่ติดโควิดก็เข้ารับการรักษา และเข้าไปควบคุมโรคเฉพาะคนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ขณะที่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“ผมเห็นว่าสาเหตุที่ ศบค. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไปอีก 2 เดือน น่าจะมาจาก 3 เรื่อง คือ 1.ปราบม็อบ 2.ช่วยผู้รับเหมา และ3.เพื่อสร้างความมั่นคงให้รัฐบาล” นพ.สุภัทร กล่าว
วันเดียวกัน นพ.สุภัทร ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ’ โดยมีเนื้อหาว่า “ต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน น่าจะเพื่อเอื้อผู้รับเหมาจนหยดสุดท้าย
การต่อ พรก ฉุกเฉินที่อ้างการควบคุมโรคโควิด ทั้งๆที่สถานการณ์ทุเลาลงมาก หน้าที่ปกติของภาคส่วนต่างๆก็ดูแลได้อยู่แล้ว ความจำเป็นในต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกจึงไม่มีเลย แต่ทำไมยังจะดันทุรังต่อ
เหตุผลหนึ่งที่สังคมส่วนใหญ่ไม่รับรู้ คือ งานก่อสร้างภาครัฐนั้น สามารถอ้างโควิดผ่านประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ก่อสร้างไม่เสร็จเกินสัญญา โดยมีค่าปรับเป็น 0 บาทได้ ทำให้งานก่อสร้างถนน สะพาน อาคาร หรืออื่นใด แม้จะล่าช้ากว่ากำหนดส่งมอบเป็นปี ก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ โครงการล่าช้าประชาชนเสียโอกาส แต่ผู้รับเหมาชอบมาก
ยิ่งโครงการขนาดใหญ่ ผู้รับเหมาก็ยิ่งยิ้มย่อง ขอให้ต่อ พ.ร.ก.อีก 2 เดือน ก็เอา เพราะค่าปรับวันละเป็นแสนเป็นล้าน
การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 หรือ 2 เดือน (มิถุนายน และหรือ กรกฎาคม) ไม่มีประโยชน์ในการควบคุมโรคแล้ว แต่ต่อเพื่อประโยชน์ผู้รับเหมาทั่วไทยที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา สิ่งนี้ คือ ความจริงที่รัฐบาลไม่เคยบอกประชาชน
ยุติการต่อ พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลต้องไม่เอาเปรียบประชาชน”