ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์สิน ‘ธีระรักษ์ จันทรังษี-แบมะ’ กับพวก 241 รายการ 87.8 ล้าน พฤติการณ์ค้ายาเสพติด ฟอกเงิน หลังรับรายงานจาก ตร.ภูธรจังหวัดยะลาชุดจับกุม เงินสด ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ กระเป๋าหนัง พระเลี่ยมทอง เครื่องปั้มน้ำ เครื่องปั่นไฟ เครื่องปั้มลม เครื่องพ่นยา ให้ผู้ครอบครองยื่นเพิกถอนคําสั่งภายใน 30 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 105 /2565 ลงวันที่ 10 พ.ค. 2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราวรายนายธีระรักษ์ จันทรังษี กับพวก มีพฤติการณ์กระทําความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดฐานฟอกเงิน เป็นทรัพย์สินประเภทเงินสด ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ กระเป๋าหนัง พระเลี่ยมทอง เครื่องปั้มน้ำ เครื่องปั่นไฟ เครื่องปั้มลม เครื่องพ่นยา เครื่องยนต์อเนกประสงค์ ปั้มน้ำไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดเหล็ก ตู้เชื่อม เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ที่นอน เครื่องตัดหญ้าและอุปกรณ์ เครื่องหินเจียร ชุดบาร์โซ รวมทั้งสิ้น 241 รายการ มูลค่า 87,833,110.11 บาท อยู่ในชื่อของบุคคลผู้ถือกรรมสิทธิ์/ผู้ครอบครอง ได้แก่ น.ส.ภัทรภร มุสิกโร นายวัฒนา วิวัฒน์เจริญวงศ์ น.ส.พัชรินทร์ เหมโก นายธีรัช แก้วประดับ น.ส.ซอฟียา กิ้มเกี้ยว น.ส.ตอยบ๊ะ หลีหมะ นายยศพล ศุภวิจิตรกุล น.ส.สุนิตา กูโน นางลิ่มล่าง วิวัฒน์เจริญวงศ์ นายอัสซานุสซี สามะ น.ส.เพ็ญประภา เส็นหีม นางสุปราณี แก้วประดับ นายธีระรักษ์ จันทรังษี น.ส.มชิมา แสนสุด
คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ในการยึดและอายัดทรัพย์สินระบุว่า สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากตํารวจภูธรจังหวัดยะลา ตามหนังสือที่ ตข 0024 (ยล).ด(ศอ.ปส.)/1573 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2564 เรื่อง รายงานการจับกุมคดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน รายนายธีระรักษ์ จันทรังษี กับพวก เพื่อให้สํานักงาน ปปง. พิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการ ในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดฐานฟอกเงิน กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เจ้าพนักงานตํารวจกองกํากับการสืบสวนตํารวจภูธรจังหวัดยะลาจับกุมนางสาวสุธิตา แสนสุด นายหายอ ลือมูซอ และนายสุนทรี เวลาแตะ พร้อมเมทแอมเฟตามีน 30,000 เม็ด โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย โดยผิดกฎหมาย นําส่งพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสะบ้าย้อยตามคดีอาญาที่ 411/2563 ดําเนินคดี นางสาวสุธิตา แสนสุด นายหายอ ลือมูซอ และนายสุนทรี แวลาแตะ ให้การยืนยันตรงกันว่ายาเสพติด เป็นของนายธีระรักษ์ จันทรังษี
สืบสวนขยายผลพบข้อมูลว่า นายอัสซานุสซี สามะ นางสาวสุนิตา กูโน นางสาวมชิมา แสนสุด นางสาวพัชรินทร์ เหมโก และนางสาวซอฟียา ยิ้มเกี้ยว ทําหน้าที่โอนและรับโอนเงิน ค่ายาเสพติดให้แก่นายธีระรักษ์ จันทรังษี เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายธีระรักษ์ จันทะรังสี นายอัสซานุสซี สามะ นางสาวสุนิตา กูโน นางสาวมชิมา แสนสุด นางสาวพัชรินทร์ เหมโก และนางสาวซอฟียา กิ้มเกี้ยว นําส่งพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองยะลาตามคดีอาญาที่ 93/2564 ดําเนินคดี ในความผิดฐานสมคบ โดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและร่วมกันฟอกเงิน
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เจ้าพนักงานตํารวจขยายผลจับกุมนางสาวภัทรพร มุสิกโร นายวัฒนา วิวัฒน์เจริญวงศ์ นายยศพล ศุภวิจิตรกุล นางสุปราณี แก้วประดับ และนางสาวเพ็ญประภา เส็นหีม ซึ่งเป็นผู้ทําธุรกรรม ทางการเงินให้กลุ่มผู้กระทําความผิด นําส่งพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองยะลาตามคดีอาญาที่ 440/2564 ดําเนินคดี ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิด ฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทําความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน อันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราขบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายธีระรักษ์ จันทรังษี กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 688/2564 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนายธีระรักษ์ จันทรังษี กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายธีระรักษ์ จันทรังษี กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 241 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ เครื่องประดับ กระเป๋าหนัง พระเลี่ยมทอง เครื่องปั้มน้ำ เครื่องปั่นไฟ เครื่องปั้มลม เครื่องพ่นยา เครื่องยนต์อเนกประสงค์ ปั้มน้ำไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดเหล็ก ตู้เชื่อม เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ที่นอน เครื่องตัดหญ้าและอุปกรณ์ เครื่องหินเจียร ชุดบาร์โซ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครอง สามารถโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดําเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ได้โดยง่าย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏ หลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาจดําเนินการทางนิติกรรม โอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าว ไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายธีระรักษ์ จันทรังษี กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุม ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงาน ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 241 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 198 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 198 และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 43 รายการ ได้แก่ รายการที่ 199 ถึงรายการที่ 241 พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัด ปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สิน ที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ ได้รับแจ้งคําสั่งเป็นหนังสือ
https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2565/105-2565.pdf
ก่อนหน้านี้ วันที่ 11 ก.พ.2564 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผบก.ภ.จว.ยะลา นำเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายใน จ.ยะลา เปิดแผนปฏิบัติการพิทักษ์นิบง 1/64 ติดตามจับกุมเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด รวม 19 จุด ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ตามหมายจับ ในเขตพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.กาบัง จ.ยะลา กับ ต.จะแหน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยจับกุมนายธีระรักษ์ จันทรังษี หรือ “แบมะ” ได้ที่บ้านพักหมู่ 4 ต.จะแหน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จากนั้นจึงได้ทำการตรวจค้นบ้านไม่มีเลขที่อีกหนึ่งหลังในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เจ้าหน้าที่พบท่อ PVC ซึ่งทราบว่าภายในบรรจุเงินไว้จำนวนหลายอันด้วยกัน พร้อมด้วยตู้เซฟอีก 1 ตู้ จึงได้ทำการตรวจยึดทรัพย์สิน รวมรถยนต์อีก 5 คัน รถจักรยานยนต์อีกหลายคัน เพื่อนำสืบประวัติที่มาของทรัพย์สิน และควบคุมตัวนายธีระรักษ์ ไปสอบปากคำขยายผลเพิ่มเติมที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา
(ข่าวเกี่ยวข้อง : รวบสมุน "แบมะ" เครือข่ายค้ายาชายแดนใต้ ยึดทรัพย์ 40 ล้าน)