'บิ๊กตู่'โชว์ 4 แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด ร่ายยาว 40 นาที ย้อนเหตุ คสช.ยึดอำนาจ ย้ำเข้าใจความขุ่นเคืองช่วงวิกฤต ขอทุกฝ่ายเชื่อมั่น ยอมรับทำงานไม่ทันใจ แต่อยากให้เห็นความจริงใจ ยันไม่ท้อแท้ ไม่ใช่เวลาขัดแย้ง ขอทุกฝ่ายร่วมมือสร้างอนาคตของไทยไปพร้อมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเสวนา ‘ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม’ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม’
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อนทุกคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ คนไทยไม่มีความสุข บ้านเมืองเดินหน้าต่อไม่ได้ หลายคนที่นี่อายุยังน้อยอาจจะเกิดไม่ทัน สถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสิบปีก่อนที่ตนจะเข้ามา แต่เมื่อตัดสินใจเข้ามาแล้วก็พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ย้อนกลับไปเมื่อมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าใจดีว่าต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย และ คสช.พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าทุกคนสามารถมีสิทธิเสรีภาพทางความคิดภายใต้กฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่าย แม้ว่าจะมีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ก็ไม่ได้ใช้ทุกกรณี และใช้เมื่อจำเป็นในการแก้ปัญหา องค์กรอิสระยังทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงการทำงานแต่อย่างใด
วัตถุประสงค์การเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อย เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป หลังจากนั้นก็ได้เห็นแล้วว่า รัฐบาลไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตจนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน และเวลานั้นรัฐบาลบริหารประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างบ้าน สร้างชาติ ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่างปี 2561-2580
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 ตนมีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญ ตนและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตาม มีการวัดผล ประเมินผล ทบทวนแผนสม่ำเสมอ ตามสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็น
ขณะที่ช่วงสถานการณ์โควิด ตั้งแต่ปี 2563 เป็นวิกฤติโลกที่เราไม่ได้ก่อ เป็นมหาวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่บวกแล้ว แม้โควิดจะเป็นวิกฤตโลก แต่ก็เป็นโอกาสของไทยหลายด้าน เช่น ทุกคนได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย ยกระดับความมั่นคงด้านสุขภาพ ส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุข
นอกจากนั้นอย่างที่ทุกคนทราบดีว่าทั่วโลกรวมถึงไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติความขัดแย้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โลกแบ่งเป็นสองขั้ว ทรัพยากรขาดแคลน ราคาพลังงานและค่าครองชีพปรับตัวสูบขึ้น สร้างความหวาดกลัวว่าสงครามจะยืดเยื้อ สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่อย่ายิ่งยวด คือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน จากวิกฤตพลังงาน สินค้าขาดแคลน ให้คนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลเข้ามาดูแลค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ อาทิ ช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม ช่วยเหลือค่าน้ำมัน ลดภาระค่าไฟ ตรึงราคาขายปบลีกนน้ำมัน ลดอัตราเงินสมทบในระบบประกันสังคม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องสำคัญปี 2565 ที่จะประกาศให้เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขณะนี้ได้ปลดล็อกเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. ช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนจำนวนมาก ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาความยากจนจะต้องทำแบบพุ่งเป้าไปแต่ละครัวเรือน เหมือนการตัดเสื้อให้พอดีตัว โดยส่งทีมพี่เลี้ยงเข้าช่วยเหลือ และวางแผนแก้ปัญหาให้ทุกครัวเรือน ครอบคลุมการช่วยเหลือ 5 มิติ คือ สุขภาพ การศึกษา ความเป็นอยู่ รายได้ การเข้าถึงบริการภาครัฐ
“ไม่ใช่คนจนจะหมดในปีนี้ทันที เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความเข้าใจ รวมถึงสร้างความร่วมมือไปด้วยกัน ที่ผ่านมาไทยเจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะโควิดหรือความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ความแตกแยกทางความคิดที่ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อด้วยว่า หลังสถานการณ์โควิด ไทยจะต้องมีการเติบโตขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ 4 ด้าน คือ 1.เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสด พัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์ แอปพลิเคชั่นถุงเงิน เป๋าตัง ระบบการคืนภาษีด้วยระบบบล็อกเชน การเชื่อมโยงสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับร้านขายยาหรือหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง รวมถึงการพัฒนาโครงข่าย 5G เพื่อต่อยอดการพัฒนาต่างๆ
2.อุตสาหกรรมการค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอนประเทศไทย โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก นอกจากนี้ยังขับเคลื่อน ภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า ที่รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน การขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่มีแผนจะผลิตรถไม่ปล่อยมลพิษ 30% ของการผลิตในปี 2573 รวมถึงการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่าอีกด้วย
3.นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงการนำวัตถุต่างๆกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน สำหรับภาคการเกษตรถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer)
ทั้งนี้ เศรษฐกิจ BCG ยังเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อการรักษา (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมรดกทางวัฒนธรรม (Soft Power) ในกลุ่ม 5 F คือ Food-อาหาร , Film-ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ , Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย , Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ Festival-เทศกาลประเพณีไทย มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก
4.มาตรการดึงดูดช่าวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของไทย และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยชาวต่างชาติที่มีศักยภาพนี้คือกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงหรือผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่นคงสูง และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ โดยรัฐบลได้ดำเนินการรองรับมาตรการดังกล่าว อาทิ ออกวีว่าของผู้พำนักระยะยาวการประกาศใบอนุญาตทำงานและการศึกษาโครงสร้างเพื่อจัดตั้ง OSS : One Stop Service อำนวยความสะดวกผู้มีศักยภาพสูงเข้ามาในไทย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคืองและความไม่พอใจของประชาชนกับวิกฤติที่เยือเยื้อติดต่อกันมา 2 ปี และยังมีวิกฤติซ้อนวิกฤตเกิดขึ้นอีก รัฐบาลปรารถนาอย่ายิ่งนำความสุขกลับมาสู่คนไทยให้ได้โดยเร็ว บางอย่างเราควบคุมไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้อยู่รออย่างพอเพียงและยั่งยืน เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำต่อไป ทำด้วยตัวเราเองและร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ สิ่งที่รัฐบาลสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ไทยยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลังที่ดี รับมือวิกฤติยืดเยื้อ รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีอุตสาหกรรมรองรับคนรุ่นใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการติดต่ออาเซียน
“ผมขออย่างเดียว ขอให้เชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤติ ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน อาจจะทำงานไม่ทันใจ แต่อยากให้เห็นถึงความจริงใจ ตั้งใจทำงาน ขอเพียงร่วมมือร่วมใจ ไม่ใช่เวลาขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายสิ่งๆต่าง เพราะนี่คือประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้มีสิ่งที่งดงาม มีอนาคตที่ดีรอพวกเราอยู่ มีสถาบันสำคัญ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนไทยไว้ด้วยกัน ให้เกิดความรักสามัคคี เราต้องการให้เกิดความร่วมมือ ความเข้าใจ มีจิตสาธารณะ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ไม่ท้อแท้ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตของไทยไปอีกนานเท่านาน เพื่อลูกหลานของเรา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลานานประมาณ 40 นาทีในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ ทั้งนี้ภายในงานมีบุคคลที่เข้าร่วมฟังการปาฐกถาพิเศษไม่มากนัก ทำให้บางช่วงเจ้าหน้าที่ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ขยับไปใกล้เวทีมากขึ้น