วงเสวนาสื่อ เผยกรณี 'หลวงปู่แสง' สะท้อนสื่อห่วงเรตติ้ง-สร้างตัวตนบนโซเชียล นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ชี้โทษนักข่าวอย่างเดียวไม่ได้ กองบก.ต้องรับรู้ด้วย ด้าน 'สุภิญญา' เผยสื่อเลี่ยงตรวจสอบการเมือง ไปเน้นข่าวชาวบ้านจนละเมิดสิทธิ เสนอทุกฝ่ายกำหนดเส้นจริยธรรมที่เหมาะสม ขณะที่ตัวแทนอัยการแนะนักข่าวควรรู้กฎหมาย ปฏิบัติตามจริยธรรมที่สื่อมี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาในหัวข้อ 'ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อ ทำงาน จัดฉาก ไสยศาสตร์ วงการสงฆ์' โดยมีวิทยากรร่วมดำเนินรายการ 3 ราย ประกอบด้วย นายพีรวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) และ นายวุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการประจำศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัว มีนางสาวปาจารีย์ ปุรินทวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ดำเนินรายการ
'เรตติ้ง-โซเชียล'นำมาสู่จุดปัจจุบัน
นายพีรวัฒน์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่แสง ญาณวโร พระเกจิดัง ไม่ใช่แค่วิกฤติศรัทธาของสื่อมวลชน แต่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) ในการทบทวนและนำเหตุการณ์นี้มาแก้ไขอย่างจริงจัง ในภาพรวม ทุกครั้งเหตุการณ์มันมาจากภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เพราะตัวเลขเรตติ้งคือตัวกำหนดให้กองบรรณาธิการของสถานี จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีเรตติ้ง และนำไปสู่การสร้างรายได้
ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการร้องเรียนและหยิบเรื่องราวนี้มาพูดคุย จะมีเสียงอีกมุมว่า กองบรรณาธิการก็รู้สึกเจ็บปวด แต่ต้องทำ เพื่อรักษาเรตติ้ง ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับการรักษารายได้ขององค์กร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนตัวคิดว่า การแข่งขันได้เดินทางมาถึงจุดที่ หากสื่อทำมากกว่านี้ เรตติ้งก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะช่วงไพร์มไทม์ (20.00 -23.00 น.) ประชาชนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนใจรายการบันเทิง กับ ผู้ที่สนใจในการเนื้อหาสาระของรายการข่าว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ AC Nielsen เคยประมาณการณ์ว่า อยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคน ในอดีตสัดส่วนคนดูทีวีช่วงนี้ จะเป็นละครหลังข่าว 80% และข่าว 20% แต่ปัจจุบันเท่าที่ศึกษาไม่ว่าจะผลักดันอย่างไรก็ตาม เรตติ้งก็ไม่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ส่วนแนวรับ รายการทีวีดังๆ พื้นฐานอยู่ที่ 1.5-1.7 มากสุด 2.8 เท่านั้น เว้นแต่มีเหตุการณ์สด เช่น ถ้ำหลวง หรือเหตุการณ์รุนแรง ดังนั้น เรตติ้งเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.7-1.8 และ 2.5-2.7 จะเห็นว่ามีแต่รักษาฐานเท่านั้น แต่เพิ่มมากกว่านี้ยังไม่ได้ ส่วนเรื่องรายได้ โฆษณาต่อนาที ก็จะไม่เพิ่มมากกว่านี้เช่นกัน ในภาพรวมยังมีโอกาสทบทวนว่า การแข่งขันแบบนี้คุ้มค่า สร้างรายได้เพียงพอกับการเสียจุดยืน แบรนดิ้ง เสียความเป็นสื่อหรือไม่
และเมื่อโซเชียลมีเดียมีท่าทีไม่ยอมรับพฤติกรรมสื่อมวลชนในเคสของหลวงปู่แสงแล้ว เมื่อสูญเสียตรงนี้ และหากยังอยู่แบบนี้ต่อไป โอกาสจะกระทบกระเทือนต่อธุรกิจสื่อจะยิ่งมีมาก วันนี้การทำงานของสื่อมวลชนต้องทบทวน แต่อยากสะท้อนว่า สิ่งที่เกิดครั้งนี้มันเป็นแค่ปลายเหตุ ที่ผ่านมาการแข่งขันที่รุนแรงทำให้การบริหารกองบรรณาธิการ , การบริหารรายการข่าว คอนเทนต์ ความละเอีดอ่อนลดลง กระบวนการที่ขาดความรัดกุม ขาดการตรวจสอบ มันทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา นักข่าวคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้
อีกส่วนหนึ่ง คือปรากฎการณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย ที่นักข่าวในปัจจุบันไปยึดการสร้างอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้โลกออนไลน์ยอมรับ เพราะในอดีต เคยมีคนทำแล้วได้รับเสียงชื่นมและมีตัวตนในท้ายที่สุด การแข่งขันที่รุนแรงและความอยากมีตัวตนทำให้เกิดภาพนี้ขึ้นมา ดังนั้น สภาพบวกลบอยู่ใกล้มาก เมื่อพลาดแล้วลงเหวทันที
"กระบวนการสร้างเนื้อหาและการสร้างตัวตนบนวิชาชีพสื่อ มันใช้มาตรฐานในการสร้างตัวตนบนโซเชียลไม่ได้ มันถึงเวลาต้่องคิดว่า เบ้าหลอมแม่พิมพ์ของคนที่จะทำให้น้องๆที่จะก้าวเข้ามาสู่อาชีพผู้สื่อข่าว มองเห็นและอยากเป็นตาม เป็นรูปแบบไหน แต่เพราะเข้ามาในยุคนี้ที่เมื่อมีตัวตนจะได้รางวัลจากผู้บริหารและมีตัวตนในโซเชียล รายการก็มีรายได้จากโซเชียล โฆษณา เรตติ้ง ปัจจัยเป็นตัวเร่งที่ทำให้เดินมาจุดนี้" นายพีรวัฒน์ กล่าว
กองบรรณาธิการไม่รับรู้ ไม่ได้
นายพีรวัฒน์แสดงความเห็นกรณีที่ผู้สื่อข่าวลาออกแล้วเรื่องจะจบหรือไม่ด้วยว่า ก่อนส่งผู้สื่อข่าวลงไป กองบรรณาธิการต้องประชุมกันก่อนว่า ส่งไปทำข่าวอะไร ตัวละครคือใคร เล่นประเด็นแค่ไหน กองบรรณาธิการจะปฏิเสธความรับรู้ไม่ได้ หากกองบรรณาธิการไม่รู้เลยว่านักข่าวไปทำข่าวอะไร ถือว่า โทษจะหนักกว่ารู้ เพราะจะมีคำถามทันทีว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับการการทำงานตอนนี้ การออกต่างจังหวัดต้องเบิกค่าใช้จ่าย เบิกเครื่องมืออกไป ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขออนุญาตกองบรรณาธิการ
ขณะที่การเข้าไปล่อซื้อของผู้สื่อข่าว โดยร่วมกับบุคคลบางคนนั้น เบื้องต้น กองบรรณาธิการต้องมีหลักการที่แม่นยำก่อน การส่งคนไปทำงานต้องสอนว่า ทำได้แค่ไหน ทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งข่าวและอยู่ในกรอบขอบเขต ดังนั้น ถ้าไม่รู้ว่านักข่าวทำอะไร จะเกิดคำถามว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการทำงานขององค์กร
ถ้าอ้างว่าเป็นหมายข่าวประเภท ว.5 ในหลักการก็ต้องมี 3 คนต้องรู้คือ คนทำงาน หัวหน้างาน และผู้บริหารสูงสุดของกอง เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากผู้สื่อข่าวระบุว่า ที่ทำไปเพราะไม่เชื่อใจผู้บริหาร จะทำให้ทำงานกันลำบาก สังคมจึงตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะกระบวนการทำงานก่อนออกไป ต้องขออนุญาต เมื่อส่งข่าวกลับมา ทุกคลิปต้องผ่านการกลั่นกรอง ในคลิปคือใคร มีหลักฐานอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าเกิดเหตุการณ์นี้จริง หากเป็นพระธรรมดาไม่น่าแปลกใจ แต่พอเป็นหลวงปู่แสง ซึ่งเป็นพระสายปฏิบัติหลวงปู่มั่น ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน
การทำข่าวสืบสวนสอบสวน ในอดีตต้องฝังตัวนานเป็นเดือนๆ เก็บข้อมูลหลักฐานแล้วจึงตกผลึกในการนำเสนอ ซึ่งข่าวแนวสืบสวนสอบสวน เขาไม่ทำเป็นหมู่ เขาทำเดี่ยว เพื่อให้เป็นความลับเสมอ ซึ่งเคสนี้ไม่เป็นข่าวสืบสวนสอบสวน มันขาดการวางแผน กลั่นกรอง ตรวจสอบอย่างชัดเจน
ในแถลงการณ์สมาคมที่ออกมา 1-2 วันนี้ เขียนไว้แล้วว่า อยากให้มีการตรวจสอบการทำงานของผู้สื่อข่าวอย่างเคร่งครัด เพราะกระบวนการมันไม่ครบและไม่ถูกต้อง ถ้ามีกระบวนการที่ถูกต้อง คลิปนี้จะถูกตั้งคำถามก่อนว่า 1.พระในคลิปคือใคร 2.มีประจักษ์พยานชัดเจนไหม 3.ผู้สื่อข่าวไม่มีหน้าที่ทำตัวเป็นตัวละคร เพื่อสร้างเหตุการณ์ได้ หากทำตามกระบวนการทำงานที่ดี จะไม่มีเหตุการณ์ที่นักข่าวต้องรับเคราะห์เกิดขึ้น
ขอทุกฝ่ายทบทวนการทำงาน - ฟื้นระบบบรรณาธิกรณ์
นอกจากนี้ นายพีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ในฐานะนายกสมาคมฯ ได้หารือกรรมการว่า ควรจะต้องคุยได้แล้วว่า ต้องทบทวนกระบวนการทำงานเสียที ไม่ควรมีข้ออ้างในการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณสื่อ และไม่มีเหตุผลที่จะขอนำเสนอบนโซเชียลฯ โดยให้มีมาตรฐานอ่อนกว่าสื่ออื่น ต้องยืนยันว่า การเสนอข่าวบนสื่อใดก็ตาม ต้องมีจริยธรรม จรรยาบรรณบนมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
และส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรฐานต่ำลง ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา วงการนี้สูญเสียบุคลากรสื่อมวลชนไปมาก ขาดแม่พิมพ์ที่จะให้คำแนะนำ ต่อจากนี้ ขอให้ทบทวนการทำงานในกองบรรณาธิการใหม่ จะแข่ง จะต่อสู้ ก็ทำไป แต่กระบวนการที่ได้ข่าวมา ต้องอยู่ใต้กรอบจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และกระบวนการต้องผ่านการบรรณาธิกรณ์ตามขั้นตอน เพราะกระบวนการในการผลิตสินค้ากับกระบวนการผลิตข่าว ไม่เหมือนกัน ผลิตสินค้ายังต้องมี QC กระบวนการผลิตสื่อต้องมีกระบวนการตรวจสอบ กลั่นกรองก่อนออกอากาศ อาจจะคุมกันไม่ได้ 100% แต่จะผิดพลาดในขอบเขตที่ควบคุมได้
ขณะที่การถ่ายทอดสด ในต่างประเทศไม่ได้ถ่ายทอดสดกันพร่ำเพรื่อแต่ไทยถ่ายทอดสดทุกอย่าง โดยไม่ผ่านการกำกับว่า ภาพและคำพูดใดออกอากาศได้หรือไม่ได้ ดังนั้น การวางแผน การให้คำแนะนำ และกรอบการทำงานเป็นอย่างไร ระยะห่างระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว และกฎหมายที่ต้องระวังไว้มีอะไรบ้าง ถ้าสอนด้วย สั่งด้วย มันจะทำให้นักข่าวพกเอาเรื่องนี้ติดตัวไป และถ้าพลาดโดยไม่ปฏิบัติตาม ก็ถือว่าเราบอกแล้ว การบอกว่าไม่รู้ว่านักข่าวไปทำอะไร เป็นเรื่องร้ายแรง อาจจะถูกฟ้องกันทุกภาคส่วนในองค์กรด้วย หากไม่แม่นยำผลเสียหายจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้น ได่เวลาแล้วที่จะต้องกลับใช้การบรรณาธิกรณ์อย่างเข็มแข็ง เพื่อรักษาทุกภาคส่วนในสังคม
ทั้งนี้ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทิ้งท้ายว่า ควรนำนโยบาย (Policy) ของแต่ละแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มาใช้กำกับทีวีดิจิทัลบ้าง เพราะปัจจุบันองค์กรสื่อยอมรับในกฎระเบียบเหล่านี้มาก เพราะหากฝ่าฝืนจะถูกลดการมองเห็น และหนักที่สุดอาจจะเพจเฟซบุ๊กที่ทำมาก็จะถูกลบ หรือที่เรียกกันว่า ปลิวได้ และอีกด้านหนึ่ง สื่อที่ทำตามกฎและจริยธรรมก็ควรมีรางวัลตอบแทน โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ กสทช. ตัวแทนแพลตฟอร์ม สมาคมมีเดียเอเจนซี่ ต้องร่วมกันกำหนดมาตรการร่วมกัน เพื่อตบรางวัลให้ผู้ที่ทำดี เรากำกับกันเอง กำกับโดยใช้กฎหมายมามากแล้ว ลองใช้มาตรฐานนี้มากำกับบ้างดีหรือไม่
ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำหนด 'เส้น'
ด้านนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เดือนนี้เป็นเดือนที่มีวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี และดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (WPFI) ประจำปีนี้ โดย องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders; RSF) ประเมินสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในไทยดีขึ้น โดยอยู่ในอันดับที่ 115 จากปีที่แล้ว (2564) ที่อยู่ในอันดับ 137 จากประเทศที่สำรวจทั้งหมด 180 ประเทศ แต่เสรีภาพในภาพรวมถือว่าอยู่ในขั้นที่ยากลำบาก
ที่ยกเรื่องนี้มาพูดก่อน เพราะปัญหาจริยธรรมสื่อจะยึดโยงกับปัญหาเสรีภาพสื่อเสมอ เพราะสังคมมองว่า ปัญหาจริยธรรมมาจากส่วนหนึ่งสื่อมวลชนมีเสรีภาพมากเกินไป แต่จากสถิติที่องค์กรสากลจัดอันดับจริงๆแล้ว เรายังอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพสื่อน้อยอยู่ดี คำถามจึงมีว่า มันเกิดอะไรขึ้น ตกลงเรามีเสรีภาพน้อยหรือมาก และทำไมเสรีภาพที่สื่อใช้ถูกมองว่าเป็นการละเมิดจริยธรรม
จริงๆแล้ว เสรีภาพที่พูดถึงจะหมายถึง เสรีภาพในทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นที่อาจจะมีข้อจำกัด ทำให้สื่อไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกกับประเด็นอื่นๆแทน โดยล้ำเส้นไป และไม่กังวลว่าจะถูกแรงบีบทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งจะยึดโยงกับการกำกับดูแลของ กสทช.
เมื่อไม่มีการถ่วงดุลกันตรงนี้ระหว่างสื่อและหน่วยงานกำกับดูแล หลายเรื่องที่กระทบประชาชนในฐานะผู้บริโภค หน่วยงานที่ดูแลตรงนี้ยังอ่อนแอ หรือแม้เมื่อสื่อทำประเด็นตรวจสอบที่เกี่ยวกับผลประโยชน์สาธารณะ ก็มักจะถูกเซ็นเซอร์ และถูกลงโทษ คำถามสำคัญคือ ในระยะยาวเราจะทำอย่างไรให้เกิดดุลยภาคตรงนี้ให้ได้มากที่สุด ในเชิงกำกับดูแล โดยประคับประคองไม่ให้ล้ำเส้น แต่ก็ไม่ต่ำหรือเลยเส้น เส้นที่ว่าคือ เส้นความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง
"ที่ผ่านมา ไม่ได้ดุลย์กันมากนัก เรื่องการเมือง, ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการตรวจสอบวัคซีนโควิด จะเห็นว่ารัฐจะอ่อนไหว เรียกไปตักเตือน บางครั้งอ้างถึงกระทบความมั่นคงของชาติ ก็ทำให้สื่อส่วนใหญ่กลัว และไม่นำเสนอ แต่สื่อจะไปเลยเส้น และละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในคนที่สื่อมองว่าไม่มีอำนาจทางการเมืองที่จะทำอะไรสื่อได้ กรณีเช่น ข่าวบ้านกกกอก หรือ ข่าวพระสงฆ์ในช่วงนี้ ที่ทำให้เห็นว่าสื่อล้ำเส้นมาหลายกรณี" นางสาวสุภิญญา กล่าว
นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะในกรณีบ้านกกกอก ลากกันมายาวนาน จนเป็นจุดที่ถูกวิจารณ์ในเชิงวิกฤติศรัทธาของวงการสื่อ บางช่องที่ไม่ทำข่าวนี้ในเริ่มต้น สุดท้ายก็ต้องลงมาทำข่าวนี้ด้วย เพราะมีช่องที่ขยี้ประเด็นนี้อย่างจริงจัง บวกกับ กสทช. ไม่ได้กำกับดูแลเลย ทำให้หลายๆช่องอดทนไม่ไหว ต้องทำตามด้วย ไม่เช่นนั้นจะเสียรายได้ มันสะท้อนเลยว่า การกำกับดูแลไม่ได้ดุลย์กัน หากกสทช.ออกมาเตือน มีบทลงโทษ เช่น คุณละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดทุกสิ่งอย่างเลย จะถูกลงโทษดังนี้ ว่าไป ส่วนตัวเชื่อว่าจะดีกว่านี้ แต่ในทางปฏิบัติเราไม่เห็นเลย ทำให้สื่อเฮละโรตามกันไปหมด
ดังนั้น เส้นที่ไม่ควรล้ำนั้น จึงต้องวางกันใหม่ แน่นอนว่า สื่อส่วนมากจะโทษเรื่องการแข่งขันและภาระที่มีมากในการแข่งขันด้านทีวีดิจิทัล แต่ในข้อเท็จจริง กสทช. ได้ปลดล็อกค่าใช้จ่ายใบอนุญาตและโครงข่ายแล้ว อาจจะไม่ใช่เหตุที่สื่ออ้างเพื่อแข่งขันล้ำเส้น และจริงๆแล้ว ช่องที่มีปัญหาจริยธรรมสื่อบ่อยๆ ก็เป็นช่องที่มีรายได้ดีและผลกำไรต่อเนื่อง กลับกันช่องที่ยังขาดทุนและเพิ่งพ้นสภาพขาดทุน กลับมีปัญหาด้านจริยธรรมน้อยกว่า
"ไม่ได้บอกว่าสื่อต้องเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ เพียงแต่จุดมันควรอยู่ตรงไหน สื่อจะลุกขึ้นมาวางกันเอง หรือกสทช.ชุดใหม่มาเป็นตัวกลางในการทำตรงนี้ อีกจุดหนึ่งต้องเชื่อมโยงกับโซเชียลมีเดียซึ่งมีผลอย่างมาก เหมือนในต่างประเทศ จะให้เขาเข้ามาสนับสนุนตรงนี้อย่างไร" นางสาวสุภิญญา กล่าว
นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่า สุดท้ายประเด็นผู้บริโภคและภาคพลเมือง กรณหลวงปู้แสง ชัดเจนเลยว่า พลังผู้บริโภคศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการแซงชั่นสื่อให้อยู่หมัด และเป็นครั้งแรกที่เห็นปรากฎการณ์องค์กรสื่ออกมาแสดงความรับผิดชอบกันมากขนาดนี้
แต่ความรับผิดชอบในครั้งนี้ ไปตกกับนักข่าวเพียงผู้เดียว ดังนั้น ประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องไปถึงกองบรรณาธิการและช่องด้วย ถือเป็นจุดที่ดี ถ้าแปรวิกฤติเป็นโอกาสที่จะวางมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งองค์กรสื่อเองก็กำลังถกเถียงกันถึงโมเดลการกำกับดูแลอยู่ ฝั่งหนึ่งอยากให้ออกกฎหมายมาส่งเสริม ฝั่งหนึ่งไม่อยากให้ออก แถม กสทช. ชุดใหม่ก็เข้ามาทำงานพอดี ทางออกของผู้บริโภคยังไม่รู้ว่ามีกลไกไหนรับผิดชอบ แต่เมื่อเราก็อยากดูอะไรที่มันดราม่าบ้างแต่ไม่ล้ำเส้น เส้นที่ไม่ล้ำ เพดานของมันต้องเอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง คงต้องฝากองค์กรวิชาชีพ กสทช. ช่วยกันรับผิดชอบ ผู้บริโภคและประชาชนด้วย
นักข่าว ต้องระวังกฎหมาย
ขณะที่นายวุฒิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อถูกบีบด้วยเม็ดเงินโฆษณา สื่อใหม่ และเรตติ้ง จึงทำให้สื่อผันไปทำข่าวดราม่ามากขึ้น ในทางกฎหมายอาชีพสื่อถูกให้ความสำคัญและให้ความสนใจมาก โดยมีระบุในรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ซึ่งกำหนดกรอบและหน้าที่ในทางจริยธรรมไว้
ในทางกฎหมาย การเข้าไปทำข่าวต้องคำนึงถึงด้วยว่าเป็นการบุกรุกหรือไม่ การบุกรุก หมายถึง บุคคล 2 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย เข้าบุก กลุ้มรุม ซึ่งอาจจะผิดกฎหมายอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ ดังนั้น ต้องดูว่าเจ้าของหรือผู้ดูแลอนุญาตหรือไม่ หากเจ้าบ้านไม่ได้หวงห้าม ไม่ผิดบุกรุก แม้เจ้าบ้านจะไม่พูด แต่หากมีการพาเข้าไปดูถือว่าไม่ผิด แต่หากเจ้าบ้านถามหาหมายค้น แล้วยังดึงดันเข้าไป อาจจะผิดกฎหมายได้
ส่วนการบุกรุกวัด โบราณสถาน ต้องขออนุญาตเจ้าของหรือหน่วยงานที่ดูแลก่อน หากเข้าไปโดยพลการอาจผิดกฎหมายได้ ส่วนที่อ้างว่าเป็นสถานที่รกร้าง ทางกฎหมายไม่มี ทุกสถานที่มีเจ้าของ เพียงแต่ไม่มีคนเฝ้าเท่านั้น เช่น อาคารสาทรทาวน์เวอร์ที่ถูกทิ้งร้าง แม้ไม่มีคนเฝ้าชัดเจน แต่ถือว่ายังมีเจ้าของ
"การบุกค้น ทำได้เฉพาะเจ้าพนักงาน ชาวบ้านและสื่อมวลชนทำไม่ได้ การค้นต้องมีหมายค้น เว้นแตเจ้าพนักงานจะปฏิบัติในสถานการณ์จำเป็น จะเข้าข้อยกเว้น เช่น มีเสียงเรียก, สิ่่งผิดสังเกต เป็นต้น หากไปกับเจ้าพนักงานถือว่าทำได้ แต่ต้องมีหมายค้น นักข่าวไม่รู้กฎหมายก็จริง แต่ท่านมีจริยธรรมของสื่อมวลชน ถ้าท่านทำตามก็ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสังคม จริยธรรมเป็นการกระทำที่ดีงามที่ถูกต้อง ถ้าสื่อทำตาม ผมกล้าการันตีว่า ถ้าทำตามนี้ ไม่ผิดกฎหมาย" นายวุฒิชัย กล่าว
ส่วนกรณีคำถามเรื่องการเฮละโรจนเกิดเป็นศาลเตี้ยและทัวร์ลงนั้น นายวุฒิชัยกล่าวว่า คดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษไม่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงรูปคดี เพียงแต่จะต้องทำสำนวนคดีให้รัดกุมมากขึ้น ขณะเดียวกัน โลกโซเชียลฯ ขอให้ระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะความผิดตามพ.ร.บ.คอมฯ หนักกว่าคดีหมิ่นประมาทปกติ เพราะความผิดจะคงอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป กฎหมายจึงมีบทกำหนดโทษที่รุนแรงกว่าปกติ
สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม คุณทำข่าวเสร็จ ตอบได้ไหมว่าสังคมได้อะไร และจะแยกความแตกต่างระหว่างสื่อมืออาชีพกับคนที่มีโทรศัพท์มือถือแล้วถ่ายทอดสดอย่างไร? สื่อมออาชีพต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงต่างกันตรงนี้