ผู้เชี่ยวชาญนิวซีแลนด์เผยอาการลองโควิดอยู่ได้นานนับสิบปี หวั่นเป็นปัญหาเรื้อรัง คาดต้องใช้เวลาห้าปี โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นทั่วโลก แต่ยังต้องอัปเดตบูสเตอร์เป็นระยะ-ล่าสุดเกาหลีเหนือพบผู้ป่วยมีอาการเพิ่ม 2.6 แสนราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสว่า ผู้เชี่ยวชาญจากนิวซีแลนด์ได้ออกมาเตือนว่าอาการลองโควิดนั้นอาจจะอยู่ได้นานนับสิบปี และเรียกร้องให้ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ออกแผนการเพื่อจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอาการลองโควิดนี้
โดย นพ.ร็อบ กริฟฟิธส์ จากมหาวิทยาลัยโอทาโก กรุงเวลลิงตัน และยังทำหน้าที่เป็นผู้นําการประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับกลุ่มอาการหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบเฉียบพลัน กล่าวว่าพบข้อมูลว่าอย่างน้อยหนึ่งในห้ารายนั้นจะมีอาการมากกว่าสามเดือนหลังจากที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ผลการศึกษาดังกล่าวยังเป็นข้อบ่งชี้ว่าไวรัสนั้นน่าจะเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นได้อีกอย่างน้อยห้าปีข้างหน้า และจะมีลักษณะของการพุ่งขึ้นของการติดเชื้อตามฤดูกาล ทำให้ต้องมีการอัปเดตวัคซีนและการฉีดบูสเตอร์อยู่ตลอดเวลา
นพ.กริฟฟิธส์กล่าวต่อว่าขณะที่บางคนที่มีอาการลองโควิดนั้นสามารถจะเรียนรู้และจัดการอาการของตัวเองได้ แต่อีกหลายคนนั้นต้องการการสนับสนุนจากชุมชนและผู้ให้บริการสุขภาพเพื่อให้การช่วยเหลือ และอีกหลายคนอาจจะต้องเผชิญกับอาการลองโควิดที่มีความร้ายแรง อาทิ ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและต้องการการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญระดับสูง
“ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้ว อาการโควิดก็เหมือนกับคลื่นสึนามิของความต้องการที่จะได้รับการดูแลทางด้านสุขภาพ ส่วนอาการลองโควิดก็จะเหมือนกับน้ำท่วมใหญ่ในเหตุการณ์เรือโนอาห์” นพ.กริฟฟิธส์กล่าวและกล่าวต่อว่าประเด็นเรื่องอาการเรื้อรังของลองโควิด กำลังกลายเป็นภาระที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเราก็ไม่รู้ว่าในนิวซีแลนด์นี้ปัญหามันใหญ่แค่ไหนกันแน่
ทั้งนี้รายงานที่ถูกเผยแพร่โดยสภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ อันประกอบไปด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 200 กลุ่ม นำโดย เซอร์ นพ. ปีเตอร์ กลัคแมน อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของนิวซีแลนด์ ระบุว่าภาวะโรคระบาดนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาอ่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกล้มเหลวที่จะดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดนี้
รายงานระบุต่อไปด้วยว่ามีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าไวรัสนั้นจะเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นทั่วโลกอย่างแท้จริงในปี 2570 หรือในอีกห้าปีข้างหน้าและไวรัสนี้ก็จะมีการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อตามฤดูกาล อันจะนำไปสู่การต้องฉีดบูสเตอร์ที่อัปเดตแล้ว
โดยเมื่อถึงเวลานั้นประชากรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และมาตรการอันเข้มข้น อาทิการล็อคดาวน์ในระดับภูมิภาคและนโยบายการทำงานอยู่บ้านนั้นอาจจะมีอยู่ในบางประเทศ
ส่วนสถานการณ์อื่นๆ มีรายงานว่าสำนักข่าวกลางเกาหลี ( เคซีเอ็นเอ ) กระบอกเสียงของรัฐบาลเปียงยาง ยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเกาหลีเหนือใช้คำว่า “ไข้สูงผิดปกติ” เพิ่มอีก 269,510 คน เพิ่มสถิติผู้ป่วยสะสมเป็นอย่างน้อย 1,483,060 คน นับตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา และสถิติสะสมของผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 56 ราย เพิ่มขึ้น 6 ราย
ขณะที่นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ มีคำสั่งให้บุคลากรการแพทย์ทหาร สังกัดกองทัพประชาชนเกาหลี ( เคพีเอ ) กระจายกำลังลงพื้นที่ในกรุงเปียงยาง เพื่อบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในเมืองหลวง และระดมบุคลากรการแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้ารวมมากกว่า 10,000 คน เพื่อการสอบสวนโรค และติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
บุคลากรการแพทย์ทหารของกองทัพประชาชนเกาหลี เตรียมพร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจพิเศษเกี่ยวกับโควิด-19 ในกรุงเปียงยาง
ด้านองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในเกาหลีเหนือ ว่าอาจแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรงมากกว่าที่มีการเปิดเผย เนื่องจากเกาหลีเหนือยังไม่มีโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน และยังคงปฏิเสธยอมรับความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากนานาชาติ
ทั้งนี้ทั้งนั้น WHO ส่งเวชภัณฑ์หลายอย่างให้แก่เกาหลีเหนือแล้ว แต่ปฏิเสธเปิดเผยว่า คืออะไร ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้พยายามประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกาหลีเหนือ เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทว่ายังไม่ได้รับการตอบสนอง
เรียบเรียงจาก:https://www.odt.co.nz/news/national/otago-university-expert-sounds-long-covid-warning