‘สมคิด’ปาฐกถาในรอบ 2 ปี กาง 6 ข้อห่วงใยฉุดอนาคตประเทศ แนะ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ‘คลัง-ธปท.-สศช.-สำนักงบฯ’ เป็นเสาหลักรับมือวิกฤติการเงินการคลัง ไม่อ่อนให้การเมือง ชูการเมืองสายกลาง-ผู้นำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ สร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ เชื่อใจให้คนในชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2565 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษปิดหลักสูตรผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 12 (Leadership for Change 12) ในหัวข้อ 'สัมมาชีพกับประเทศไทย หัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ' พร้อมเปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกใน 2 ปีที่ได้มาบรรยาย เพราะก่อนหน้านี้หยุดการบรรยายและหยุดการสอนไป 2 ปี นับตั้งแต่พ้นจากภาระหน้าที่ และคิดว่าเมื่อพ้นจากหน้าที่ไปแล้วก็อยากให้พ้นไปไม่อยากจะพูดอะไรที่กระทบกับคนที่เขาทำงานอยู่โดยไม่ได้ตั้งใจ และต้องให้กำลังใจกับคนที่เขากำลังทำงาน ทั้งนี้ มูลนิธิสัมมาชีพได้รับอิทธิพลมาจาก นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เมื่อสัปดาห์ก่อนได้พบกับ นพ.ประเวศ ท่านเป็นปราชญ์ที่รู้จริง ซึ่งในสังคมมีไม่มาก เป็นคนดีที่ไม่เคยเสื่อมเลยในวัย 91 ปี ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ
นายสมคิด กล่าวว่า วันนี้ต้องการมาสะท้อนความคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความหวังดีต่อบ้านเมืองของเรา 2 ปีเต็มที่ห่างออกไป แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนัก แต่ก็มีหลายสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ ทั้งภายนอกและภายใน เป็นพัฒนาการที่นำไปสู่สิ่งที่น่าห่วงใยหลายประการ
ข้อห่วงใยประการแรก คือ โลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนหนาขึ้นทุกวัน จนจินตนาการอนาคตยากมาก และเพื่อความไม่ประมาท ทุกคนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักมาก กระบวนการผลิต การจ้างงาน ชีวิตความเป็นอยู่ ล้วนถูกกระทบทั้งสิ้น ฐานะการเงินการคลังของทุกประเทศตึงไปหมด เพราะต้องเอามาดูแลประชาชน และมองไปข้างหน้ายังไม่มีวี่แววเลยว่าจะจบตรงไหน ฉะนั้นคิดว่าเกือบทุกประเทศ ขณะนี้ตัดสินใจว่าเราไม่สามารถล็อกดาวน์และต้องอยู่กับมัน อนาคตข้างหน้าของทุกประเทศรวมถึงไทยคือต้องอยู่ร่วมกับมัน ก็หวังว่าการบริหารจัดการต้องเข้มข้น ตัวเลขที่ประกาศออกมานั้นต้องมีความน่าเชื่อถือ
“ประเทศที่ประกาศว่าเราจะอยู่กับมัน ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยไม่มีการบริหารจัดการ อันนั้นแปลว่าตัวใครตัวมัน ใครอ่อนแอก็ติดแล้วก็ตาย ใครแข็งแรงติดแล้วก็รอด ต้องบริหารจัดการกัน การตรวจโรคต้องเข้ม หน้ากากต้องมี วัคซีนต้องพอ การฉีดต้องทั่วถึง ใครติดต้องมียา อาการหนักต้องมีสถานพยาบาลรองรับ เด็กที่ติดต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรเมื่อโรงเรียนเปิด” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ขณะที่ปัญหาภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน ใครติดตามประวัติศาสตร์โลกอย่างใกล้ชิดจะรู้ว่าคงไม่ยุติง่ายๆ ไม่ใช่สงครามที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ แต่เป็นสงครามที่แต่ละฝ่าย มีเป้าประสงค์ มีความตั้งใจของตนเอง ตราบใดที่เป้าประสงค์เหล่านั้นไม่บรรลุ ก็ยากที่จะบอกว่า มันจะจบเมื่อไร ไม่มีใครรู้ว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะยูเครนเป็นหมากการเมืองตัวแรกของการต่อสู่ทางภูมิศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อมีภาวะสงครมและภาวะโควิด ลักษณะเช่นนี้ ถ้าเราไม่สามารถจินตนาการอะไรได้ ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ เห็นการเติบโตชะลอตัวลงทั้งโลก เห็นแล้วว่าขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั้งโลกกำลังพุ่งทะยานอย่างน่ากลัว ล่าสุดเรื่องอาหาร เรื่องโภคภัณฑ์พุ่งกระฉูด รวมถึงราคาพลังงานแพงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏ 2 ปัจจัยส่งผลกระทบมหาศาล และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบที่จะตามมาจากสังคมการเมือง ดังนั้นอย่าประมาท และถ้าเป็นผู้ที่ดูแลบ้านเมือง เราต้องคิดล่วงหน้าหนึ่งก้าวเสมอ นั่นคือหน้าที่ของเรา
ข้อห่วงใยประการที่สอง คือประเทศไทย ขณะนี้สิ่งที่เรากำลังเจออยู่ เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และควบคุมไม่ได้ 100% ในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้มีความเสี่ยงสูง การบริหารจัดการต้องเข้มข้น ต้องเอาใจใส่ ต้องคิดล่วงหน้า
ลองนึกภาพว่า ตั้งแต่มีโควิด 2 ปี รัฐบาลจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชน ประคองเศรษฐกิจให้พออยู่ได้ แต่ถ้าข้างหน้ายังมองไม่เห็นทางออกชัดเจน ก็แปลว่า จากวันนี้เป็นต้นไป เราต้องพยายามดูว่าจะใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ให้เม็ดเงินทุกเม็ดฉุดประเทศไทยให้พ้นจากหลุมที่ดูดเราอยู่ จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อไปได้ การคิดนอกกรอบ เพื่อให้เขาอยู่รอดได้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและท้าทายผู้บริหารอยู่ในขณะนี้
ขณะเดียวกันการคลังเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องใช้จ่ายเงินมหาศาลแน่นอน ในอดีตเราทำเพื่อประคองให้คนอยู่ได้ แต่ทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเดินหน้า มีเม็ดเงินกลับมาฟื้นฟูฐานะการเงินการคลัง หากนานวันไปความเปราะบางทางการเงินการคลังเป็นสิ่งต้องระมัดระวัง เราเป็นประเทศเล็ก ทรัพยากรมีจำกัด การบริหารงบประมาณแผ่นดินข้างหน้าสำคัญ จะใช้วิธีบริหารคลังในภาวะปกติไม่ได้
เรื่องนี้เรามีผู้เกี่ยวข้อง 4 สถาบัน คือ สำนักงบประมาณ , กระทรวงการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในภาวะไม่ปกติ 4 สถาบันนี้ต้องเป็นเสาหลักของแผ่นดิน หากพวกท่านเสียงแข็ง ใครก็เขย่าท่านไม่ได้ ทรัพยากรมีจำกัด ต่างฝ่ายต่างกระทรวงเสนอของบประมาณอย่างเดิมไม่ได้ ต้องจัดลำดับอะไรสำคัญก่อนหลัง ต้องเอาเงินมาใช้ในสิ่งทำให้อนาคตเดินต่อไปได้ เพราะภาระจะมีมากขึ้นและมีดอกเบี้ยสูงขึ้น
“4 เสาหลักนี้เต็มไปด้วยคนเก่ง วอนขอให้พวกท่านต้องแข็งและมีทิศทางร่วมกันต้องชัดเจนว่าจะให้ประเทศไปทางไหน ต้องกล้าคิดกล้าเสนอ เขาฝากความหวังไว้ที่พวกคุณ เมื่อคุณแข็งจริง การแปรญัตติในสภาทำอะไรไม่ได้ มือที่มองไม่เห็นก็ไม่สามารถทำอะไรได้ พลังของพวกท่านยิ่งใหญ่มาก จากวันนี้ถึงวันนั้น สิ่งที่จะเจอก็คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานมีน้อย ภาวะข้าวยากหมากแพง เรื่องนี้ไม่ได้โทษรัฐบาลหรือใครทั้งนั้น แต่จะชี้ว่า ราคาพลังงาน และโภคภัณฑ์ที่ขึ้นสูงไม่ว่าจะโดยอะไรก็แล้วแต่ แม้ว่าจะมาจากปัจจัยภายนอก แต่พวกเราต้องบริหารจัดการมันให้ได้ หากทำไม่ได้ ประเทศจะเสียหาย” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า เมื่อสังคมวุ่นวาย การเมืองจะมีปัญหา เพราะจะมีความโกรธแค้น ความไม่พอใจ ดังนั้นทำงานต้องรอบคอบ คิดว่าทุกคนจะต้องเตรียมตัว เตรียมแนวทาง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะแย่ลงไม่ว่าจะมาจากอะไรก็ตาม นี่คือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ต้องมีการบริหารจัดการที่ไม่ปกติ ไม่อยากใช้คำว่าวิกฤติ พูดแล้วขวัญมันเสีย เอาเป็นว่าจะต้องมีความเข้มข้นในการดูแลเอาใจใส่ ไม่เพียงแค่รอฟังจากข้าราชการ ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ
ข้อห่วงใยประการที่สาม คือ สิ่งที่เคยค้ำจุนหนุนส่งเศรษฐกิจของเรามาจากภายนอก และเริ่มจะอ่อนกำลังลงไป ส่วนในประเทศค่อนข้างเปราะบาง เราอาจจะต้องปรับโหมดการขับเคลื่อนการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งจากภายในให้ทุกคนยืนบนขาตัวเองได้ กระจายอำนาจการบริหารและการคลังของประเทศ นอกจากนั้นต้องโฟกัสกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในทำให้แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็ง และต้องเปลี่ยนทัศนคติและการบริหารจัดการ และกระทรวงที่มีความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้านครัวเรือน แต่ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากเชิงปกครองไปสู่การพัฒนา
ข้อห่วงใยประการที่สี่ คือ ขณะนี้เราเห็นขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอ่อนตัวลง เราเคยคิดเรื่อง S-Curve เพื่อปักหมุดแห่งอนาคต แต่วันนี้อยู่ที่ไหน เรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีเบ้าหลอมที่ดี นั่นคือ EEC วันนี้ใครรับผิดชอบ ใครกำหนดทิศทางจะอาศัยนายกรัฐมนตรีคนเดียวคงไม่ได้ นอกจากนั้นต้องหาโครงการสำคัญเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเรื่องเทคโนโลยี พัฒนาคน เรื่องเหล่านี้เราต้องช่วยกันดูแลให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นมา
ข้อห่วงใยประการที่ห้า คือ การเป็นประเทศที่มีนัยสำคัญในเวทีการเมืองโลก โดยเฉพาะในภูมิภาค วันนี้เราเบาบางลง อาจทำให้เราหลุดไปจากจอเรดาร์ของการเมืองโลก เราเคยสร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางอาเซียน วันนี้เป็นอย่างไร คงต้องมาหารือกันใหม่
ข้อห่วงใยประการที่หก คือ พลังของชาติกำลังถูกกัดกร่อนที่เล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ จากการเกิดวิกฤติการณ์ซ้ำซากในอดีต มาสู่ความแตกแยกทางความคิด ผันมาสู่การเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง แทนที่จะจางหายไปเมื่อเวลาผ่านไป กลับเป็นไฟสุมขอนที่ยังมีเชื้อพร้อมลุกโชติช่วงขึ้นมาอีก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ 1.ปัจจุบันในโซเชียลมีเดียมีข้อมูลที่ผิดพลาด บางทีไม่ได้ไตร่ตรองก็แชร์กันไป ทำให้เกิดปัญหา 2.อันตรายกว่าคือการจงใจให้ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อบั่นทอน ทำให้เกิดผลที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้ ถ้าคนของเรามีสติ มีความยั้งคิด สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่สามารถโหมกระหน่ำได้
“ความแตกแยกแบ่งเป็นขั้วเป็นเหล่า ความคิดต่างเกิดขึ้นกันได้ ความเห็นต่างกันมีได้ มีขั้วก็ทำได้ แต่อย่าให้ถึงเป็นปฏิปักษ์ เพราะจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ สังฆกรรมกันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ขยายขอบเขตไปถึงช่องว่างระหว่างวัย ผู้มีประสบการณ์มากกว่ามองว่าเด็กรู้อะไรไม่มาก ทั้งที่โลกเป็นของเขาในอนาคต เขาอาจจะอ่อนประสบการณ์ แต่เรื่องการรับรู้ของเขาไม่แพ้เราแน่ ฉะนั้นการให้ความสำคัญกับเขา การรับฟังและเคารพเขา เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า จากภาวะเศรษฐกิจ วิกฤติการต่างๆ มาสู่ความแตกแยก เมื่อมาถึงจุดหนึ่งไม่น่าเชื่อจะเกิดขึ้น จริงเท็จเราไม่รู้ แต่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อธรรมาภิบาลของประเทศค่อยๆ อ่อนลง แล้วก็มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความเชื่อใจ หาก 3 คำนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน รัฐจะทำงานได้ยากจะถูกตั้งคำถามตลอดเวลา ทำอะไรก็ถูกตั้งคำถาม ดังนั้นต้องรีบแก้ไขและสร้าง 3 คำนี้ให้กลับคืนมา เพราะถ้าทำไม่ได้ พลังในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาจะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ทั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาจะว่าใคร แต่เราเห็นแนวโน้มตรงนี้ และอนาคตยังอีกยาวไกลที่จะต้องเผชิญ หมอกยังหนา ความเสี่ยงภัยมีความไม่แน่นอนสูง พลังของชาติ พลังของประเทศต้องแข็งแรงถึงจะฝ่าฟันไปได้
“ในภาวะอย่างนี้ ความเห็นส่วนตัวของผม อาจจะผิดพลาดไป แต่ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ดี แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ต้องรีบเยียวยาแก้ไข เรื่องนี้ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาแบกรับ เป็นไปไม่ได้ จะเปลี่ยนอัศวินม้าขาวมากี่คนก็เหมือเดิม ดังนั้นเป็นหน้าที่คนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า หากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จุดเริ่มต้นคือการเมือง ถ้าการเมืองดี ประเทศก็ดี ถ้าการเมืองอ่อนแอ ประเทศและประชาชนลำบาก วันที่ไป นพ.ประเวศ ท่านบอกว่า เรื่องการเมืองที่ขัดแย้งแตกแยก เป็นปฏิปักษ์ต่อกันน่าจะพักไว้ก่อน เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ มันบั่นทอนกำลังคนในชาติ การเมืองที่มีแนวทางที่ยืดหยุ่น เป็นทางสายกลาง ไม่เน้นความขัดแย้ง ไม่เน้นการเป็นปฏิปักษ์ แนวทางสายกลางที่ให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาพูดคุย ร่วมแก้ไขในสถานการณ์ โดยที่ไม่แบ่งขั้ว ไม่แบ่งฝ่าย น่าจะเป็นทางออกของประเทศ
“ผมไม่เคยฟังหมอประเวศพูดชัดเจนขนาดนี้ ท่านบอกว่าแนวทางสายกลางไม่ใช่ว่าเราไม่มีจุดยืน แต่คือจุดยืนของชาวพุทธ ทางสายกลางมุ่งให้คนมาร่วมกัน มีทางออกร่วมกัน แบ่งปันกัน มีความเมตตากัน นั่นคือทางสายกลางที่มีมาแต่อดีต วันนี้ปัญหาข้างหน้าเต็มไปหมด ท่านเชื่อว่าทางสายกลางคือทางที่ถูกต้องและคนจะให้การสนับสนุน เพราะขณะนี้คนไม่ต้องการความขัดแย้งแล้ว อาจจะมีบ้าง แต่ถ้ามีการพูดคุย ทุกอย่างจะดีขึ้น ขณะนี้คนต้องการทางออก ต้องการพลัง ให้พ้นจากความยากลำบาก” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเมือง สิ่งสำคัญคือ สภาวะผู้นำทางการเมือง ผู้นำแต่ละสถานการณ์นั้นมีความสำคัญ ในยามที่ไม่ปกติ ผู้นำที่มองภาพปัญหาได้ชัดเจนหรือมีทิศทางแก้ไขที่มีความชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องวิสัยทัศน์ แต่เป็นเรื่องของความชัดเจนที่สามารถเอาสิ่งที่เห็น มาสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจ เพื่อให้เขาเห็นด้วย ทำให้เกิดพลังแก้ไขปฏิรูปประเทศ
มุมมองทางการเมืองสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเลือกตั้ง แต่เป็นมุมมองที่ทำให้ประเทศดีขึ้น ไม่ได้พูดถึงผู้คนเดียว แต่พูดถึงผู้นำที่มีมากมายในสังคม ไม่ว่าจะในสภา พรรคการเมือง ถ้ายังมีวิสัยทัศน์มองแค่การต่อรองจัดสรรประโยชน์ จะเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง ก็จะเป็นภูเขาที่เขยื้อนไม่ได้ แต่ถ้ามีมุมมองชัดเจนว่าประเทศกำลังลำบาก อย่างน้อยๆ ต้องเอาคนดีคนเก่งมาช่วยกันทำงาน มองแบบนี้ประเทศจะมีพลังในการขับเคลื่อน ทำให้ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความเชื่อใจกลับคืนมา นี่คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งหากต้องการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง นอกจากนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดคือภาคประชาชน ถ้าเราเข้มแข็ง รู้หน้าที่ ประเทศก็จะมีความแข็งแรงมาก
“ที่พูดมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาใดๆทั้งสิ้น แต่เพื่อสื่อความว่าข้างหน้าไม่ปกติ ข้างในเราต้องเตรียมตัว คิดหนึ่งก้าวเสมอ พยายามทำการเมืองของเราให้ดีขึ้น โหมดแห่งการพัฒนาต้องรีบทำ หากทำได้ไม่เร็ว ไม่มากพอ ภาษาฟุตบอลเรียกว่าตกลีก”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังปาฐกถาเสร็จสิ้นได้พยายามสอบ นายสมคิดถึงกรณีที่พรรคสร้างอนาคตไทย จะเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่นายสมคิดโบกมือปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่า วันนี้ไม่สัมภาษณ์เรื่องการเมือง