5 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.โชว์วิสัยทัศน์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โพลชี้คนกรุงฯ อยากให้แก้มลพิษทางอากาศ (PM 2.5) เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยขยะ-พื้นที่สีเขียว
ผู้สื่อข่าวรานยงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมในการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้จัดงานเสวนา 'Greener and Livable Bangkok โชว์วิสัยทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าของกรุงเทพฯ' เพื่อเปิดเป็นเวทีสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนของกรุงเทพฯ
นายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มีความท้าทายต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นอย่างมากในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ
จากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนมองว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เรื่องที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 มลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ร้อยละ 39.2 (ถังขยะ) อันดับที่ 2 ขยะ ร้อยละ 34.2 และอันดับที่ 3 พื้นที่สีเขียว ร้อยละ 8.1
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าวถึงแนวทางในการจัดการ PM2.5 ในกรุงเทพฯ ว่า จะกวดขันโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ หากปล่อยมลพิษเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดต้องมีการตักเตือน หากเตือนแล้วไม่ฟังก็ต้องสั่งปิดชั่วคราว กำหนดเวลาควบคุมรถที่ปล่อยมลพิษ โดยห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาขยะ สิ่งแรกจะต้องคำนึงถึงครัวเรือน ดังนั้น การปรับปรุง การคัดแยก และการจัดเก็บให้ถี่ขึ้นต้องเร่งทำ โดยจะออกข้อบัญญัติ
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 กล่าวว่า จะจัดตั้งจุดตรวจวัด PM2.5 อย่างน้อย 2,000 จุด ทั่วกรุงเทพฯ โดยจะรายงานผ่านป้ายโฆษณาของ กทม. และประชาชนจะได้รับรู้ และป้องกันตัวเอง พร้อมทั้งปฏิรูปการเก็บขยะทั้งต้นทางและปลายทาง
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 นั้น มี 3 มาตรการ 1) รู้ล่วงหน้า โดยอาจจะเผยแพร่ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบค่าของฝุ่นให้รู้ก่อน 2-3 วัน ให้รู้ถึงปัญหา 2) รับมือ โดยการเหลื่อมเวลาการทำงาน หยุดโรงเรียนเพื่อไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบ ทำให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น เพิ่มรถหรือเรือโดยสารที่เป็นพลังงานสะอาด และเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ 3. ร่วมมือ
สำหรับปัญหาขยะ จะแก้ไขได้ 3 ทาง 1) ต้นทาง คือ คัดแยกจากครัวเรือน 2) กลางทาง พวกขยะสดตามตลาด เอาไปบดทำปุ๋ย และ 3) ปลายทาง การแยกขยะไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อแปรรูป
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 กล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ว่า จะทำให้ระบบรางราคาถูก เช่น บีทีเอส 20 บาท ในระหว่างนี้จะส่งเสริมรถเมล์ไฟฟ้า ที่เป็นการขนส่งระยะสั้น สนับสนุนให้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน จะมีการตรวจสอบรถเก่า ควันดำ ที่จะเข้ามาในพื้นที่แออัด จะมีการเข้มงวดมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาขยะ มีนโยบายเอาจริงเอาจังตั้งแต่การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะไปแปรรูป โดยจะสนับสนุนทุนบางส่วนให้ชุมชนแยกขยะ ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือขยะกำพร้า จะประสานกับบริษัทเอกชนซื้อไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ในประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ และต้องการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม