สตง.สอบปมร้องคนนอกพื้นที่เข้าบริหารแหล่งท่องเที่ยวของรัฐมูลค่า 30 ล้านบาท พบมีพฤติกรรมหารายได้รับส่งนักเที่ยว เม็ดเงินสะพัดกว่า 11 ล้าน ได้รายได้ขายรองเท้าอีก 12 ล้าน จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยมีใจความระบุว่า สตง. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งรัฐได้จัดสรรงบประมาณวงเงินเกือบ 30 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัด และให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งใช้ประโยชน์ในพื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง พร้อมบริหารจัดการให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวปรากฎว่ามีกลุ่มบุคคลในพื้นที่ซึ่งเคยบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวมาก่อนที่รัฐจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ได้เข้ามาบริหารจัดการและหาประโยชน์ในพื้นที่โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่นำส่งเงินรายได้ให้กับทางราชการรวมเป็นเงินนับล้านบาท
สตง.จึงได้ชี้แจงผลการตรวจสอบมีรายละเอียดดังนี้ 1.กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีรายได้จากค่าบริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวระหว่างเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564 รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 11 ล้านบาท โดยมีการแบ่งให้เจ้าของรถ 60 % คณะกรรมการกลุ่มฯ 25 % เจ้าของที่ดินเอกชนที่ใช้เป็นที่จอดรถ 8 % และเก็บเข้ากลุ่ม 7%
2. รายได้จากการจำหน่ายรองเท้าผ้าสำหรับสวมทับเพื่อใส่เดินบนพื้นกระจกสกายวอล์คระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564 รวมเป็นเงินมากกว่า 6.6 ล้านบาท นำส่งเป็นรายได้ให้ทางราชการ (ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2564)เป็นจำนวนเงิน 12 ล้านบาท หลังจากนั้นยังไม่มีการนำส่งเงินจนถึงวันที่ สตง. เข้าตรวจสอบคิดเป็นจำนวนเงินอีกกว่าหนึ่งล้านบาทในช่วงระยะเวลาเพียงสามเดือน (ระหว่างดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงดือนมกราคม 2564) ปรากฎข้อมูลเอกสารการจัดหารองเท้าผ้ามากกว่า 300,000 คู่ คิดเป็นเงินมากกว่า 6 ล้านบาท ในขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าวได้วางภาชนะสำหรับใส่รองเท้าผ้าที่ใช้แล้วไว้บริเวณจุดสิ้นสุดทางเดินสกายวอล์ค นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะทิ้งรองเท้าผ้าไว้ในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ และ สตง.ตรวจพบเอกสารการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมาซักรองเท้าผ้าจึงน่าเชื่อว่ามีการหมุนเวียนนำร้องเท้าไปทำความสะอาดเพื่อนำมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวใหม่
การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่กำกับดูแลซึ่งมีหน้าที่และอำนาจบริหารจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน ปล่อยให้กลุ่มบุคคลเข้าไปบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ถือเป็นควาบกพร่องและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
สตง.ยังได้ออกอข้อเสนอแนะที่สำคัญมีสามประการ ดังนี้
1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้และบริหารพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ ทำประโยชน์
2.ออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดหาประโยชน์และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
3.ดำเนินการให้กลุ่มบุคคลที่เข้ามาจัดหาผลประโยชน์ ดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรา 20 (2) มาตรา 21 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแจ้งผลการดำเนินการให้สตง. ทราบภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต่อไป