สธ.จับตาโอไมครอน 3 สายพันธุ์ย่อย 'BA.4-BA.5-BA.2.12.1' หลังทั่วโลกจับตามอง พบในไทยแล้ว จากต่างชาติ พร้อมเห็นชอบประกาศลดระดับเตือนภัยโควิดทั่วประเทศ เน้นเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ทั้งผู้เดินทางเข้าประเทศ และการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งตรวจประมาณ 700-800 รายล้วนพบเป็นโอมิครอน โดยเป็นสายพันธุ์ BA.2 ถึง 97.6% และ BA.1 เพียง 2.4%
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อยๆที่ออกมาเป็นลูกหลาน อย่างกรณีสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งของ สไปค์โปรตีนที่ L452 โดยในช่วงปลายเดือนก.พ. 2565 องค์การอนามัยโลกระบุสายพันธุ์นี้ว่าต้องจับตามมอง ซึ่งมีการระบาดในบอตสวานา แอฟริกาใต้ เยอรมัน เดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่นๆ อย่างยุโรปบางแห่งและรายงานข้อมูลในจีเสส โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า สายพันธุ์ทำให้คนนอนรพ.มากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงให้จับตามองส่วนสายพันธุ์ BA.2.12 พบกระจายทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็มีข้อสังเกตว่า ทำให้คนป่วยนอนรพ. หรือแอดมิทมากขึ้น
“ส่วนประเทศไทยมีการเฝ้าระวัง อย่าง BA.5 พบ 1 ราย มาจากบราซิล มีการเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา รายนี้หายดีและกลับบ้านแล้ว ส่วน BA.2.12.1 ยังไม่พบในไทย แต่เราพบสายพันธุ์แม่ คือ BA.2.12 มี 2 ราย เป็นชาวอินเดีย เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน ม.ค. 2565 และอีกรายเป็นชาวแคนาดา เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา จึงต้องตามดูว่า เมื่อมีแม่มาก็อาจมีลูก มีหลานตามมาได้ แต่ขอให้มั่นใจว่าการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจสอบได้ และเราจะเพ่งเล็งมาที่ BA.4 และ BA.5 และ BA.2.12.1 เรามีน้ำยากระจายให้ศูนย์วิทย์ฯ ทั่วประเทศตรวจได้แล้ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้จะมีการเพ่งเล็งคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และมีอาการหนัก ซึ่งหากพบสัดส่วนของคนอาการหนักในกลุ่มเชื้อกลายพันธุ์ที่เฝ้าระวังมากขึ้น แสดงว่ามีสัญญาณบางอย่าง แต่เมื่อเกิดพันธุ์ใหม่ กว่าจะรู้ว่ารุนแรงหรือไม่ หลบภูมิฯหรือไม่ ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เราจะเพาะเชื้อเพื่อให้ได้จำนวนมากพอ เพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไป
เมื่อถามว่าสายพันธุ์ที่กำลังเป็นประเด็นในสหรัฐอเมริกา ทำให้ไทยต้องระวังคนที่เดินทางเข้าออกสหรัฐหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ไม่ต้องขนาดนั้น เพราะจริงๆ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร ยกเว้นว่าอีก 2-3 สัปดาห์หากมีการประกาศว่ารุนแรงมากขึ้น แต่โดยธรรมชาติจากข้อมูลลูกหลานของสายพันธุ์ก็ไม่พบข้อมูลอะไร ส่วนสายพันธุ์ไฮบริด หรือลูกผสมของไทยที่เคยพบในกลุ่ม X ก็ไม่ต้องกังวล ยกเว้นตัวไฮบริดที่เจอจะขยายพันธุ์ แต่ก็ยังไม่พบ หรือแม้แต่การกลายพันธุ์ของประเทศไทยเองก็ยังไม่มี ซึ่งข้อมูลพวกนี้เราส่งไปยังจีเสส (GISAID) ก็ยังไม่พบอะไร และจีเสสยังไม่นำสายพันธุ์ลูกผสมของไทยขึ้นลิสต์ข้อมูล
“ขอย้ำว่าในผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 พบว่าภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากพอ แต่ในผู้ติดเชื้อที่เคยฉีดวัคซีนสามารถป้องกันเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า และขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิดในไทยที่ใช้กันอยู่ยังสามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆได้อยู่” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณ์โรคโควิด-19 ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในประเทศแนวโน้มลดลงชัดเจน จึงสามารถลดระดับการเตือนภัยลงได้ รวมถึงทั่วโลกก็มีการลดระดับลงแล้วเช่นกัน
คำแนะนำประชาชนในการเตือนภัยที่ระดับ 3 คือ 1.การไปในสถานที่เสี่ยง ทุกคน งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด 2.การร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็ม ให้เลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก 3.การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ4.เดินทางเข้า-ออกประเทศ กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศ คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคโควิด19 ประเทศไทย หลังสงกรานต์แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยหนัก เริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด19 หรือได้รับ 2 เข็มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ต่อเนื่องและกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ด้วย
จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง เปลี่ยนผ่านจากระยะ plateau เข้าสู่ระยะ Declining ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic โดยทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) ทั้งนี้เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม เร่งบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมตามมาตรการ"2U" Universal Prevention + Universal Vaccination โดยเน้นกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60 % และ "พอ" เตียงเหลือง-แดง, ยา เวชภัณทั วัคซีน, บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐาน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากระยะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่น ขณะนี้ภาพรวมประเทศอยู่ใน ระยะที่ 2 คงตัว(Plateau) โดยมี 23 จังหวัดอยู่ในระยะนี้ และอีก 54 จังหวัดอยู่ในระยะที่ 3 ดีขึ้นมีสถานการณ์ที่ลดลง มีแนวโน้มเข้าสู่หลังการระบาดใหญ่หรือการเป็นโรคประจำถิ่นเข้าไปทุกขณะ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่จะพิจารณาการเป็นโรคประจำถิ่น คือ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้เป็นจังหวัดนำร่อง ก็จะต้องย้ำว่านอกจากการดูที่สถานการณ์แล้วจะต้องดูที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพราะถ้าหากอนาคตไวรัสมีการกลายพันธุ์และมีความรุนแรงขึ้นอีก การฉีดวัคซีนจะช่วยได้อย่างมาก
ทั้งนี้ 23 จังหวัดที่อยู่ในระยะคงตัว ประกอบด้วย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี หนองลัวลำภู สกลนคร นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่เหลืออีก 54 จังหวัดอยู่ระยะลดลง
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในช่วงพ.ค.2565 จะมีหมุดหมายเรื่องของการเปิดเรียน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยครูและบุคลากรมีการฮีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 90 % ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปีมีการฉีดครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 90 % เพราะฉะนั้นต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยหากเป็นผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดส หรือเต็มโดส ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์เต็มโดส ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี มีจำนวนเป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็น 54.5 % และเข็มที่ 2 แล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็น 17.4 % โดยสูตรฉีดเป็นไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติมจำนวน 1.6 แสนคน
เมื่อถามว่าข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการสถานบันเทิง ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องผับ บาร์ มีความเป็นไปได้อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า จะต้องมีการหารือในที่ประชุมศบค.อีกครั้ง แม้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นแต่ยังเปลี่ยนเร็ว อย่างไรก็ตามในช่วงวันหยุดพบว่าประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ใกล้เคียงปกติมาก แต่ยังให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
“เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด แต่อยากที่เน้นย้ำคือ แต่ละจังหวัดที่จะเปิดขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปดูกลุ่ม 608 เพื่อให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เน้นย้ำว่าหากท่านผู้ว่าฯ อยากดำเนินการมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ศบค.จะอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ถึงเป้าหมายมากกว่า 60% เพื่อผู้ที่จะพิจารณาอนุมัติให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และขณะนี้มี 5 จังหวัดที่เข็มกระตุ้นค่อนข้างดี เช่น นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑล” นพ.โอภาสกล่าว