สธ.เผยสาเหตุยอดผู้เสียชีวิตลดต่อเนื่อง แจงรายงานเฉพาะตัวเลขตายจากโควิดจริงๆ เท่านั้น ไม่ร่วมโรคร่วม เนื่องจากมีมาตรการรักษา-ใช้ยาที่แตกต่างกัน โดยปรับระบบรายงานใหม่ให้สอดรับระยะเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาลดลง รวมทั้งผู้ป่วยหนักเริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด สอดคล้องกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงด้วย อัตราการเสียชีวิต 0.14% โอไมครอนแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้จะมีโรคเรื้อรังอื่นแต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโควิด แต่ปัจจุบันคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและติดโควิด ก่อนเสียชีวิตตรวจพบเชื้อแต่สาเหตุการตายมาจากโรคเรื้อรังเดิม เป็นสาเหตุของการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด
“การปรับระบบรายงานให้สอดรับกับสถานการณ์ในช่วงขาลง วางแนวทางการเพื่อลดการเสียชีวิตทั้งจากการติดเชื้อโดยตรงและผู้ที่มีโรคร่วมสำคัญ เนื่องจากลักษณะการใช้ยาแตกต่างกัน การรักษาโควิดอาจทำให้โรคร่วมกำเริบอาการรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้จะเพิ่มการรายงานภาวะหลังติดเชื้อ ทั้งภาวะ Mis-C ในกลุ่มเด็ก เนื่องจากอาการอักเสบหลายระบบอาจทำให้เสียชีวิตได้ และภาวะ Mis-A หรือลองโควิดในผู้ใหญ่” หมอจักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะ plateau เข้าสู่ระยะ Declining ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic ฉะนั้นทุกจังหวัดจำเป็นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคสังคม ดำเนินการปรับแผน โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อหากมีการระบาดระลอกใหม่ ก็จะได้มีแผนรองรับ โดยให้เร่งดำเนินการมาตรการ "2U" และ "3พ" ได้แก่ มีเตียงเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราครองเตียง 23% , ยาเวชภัณฑ์และวัคซีนมีเพียงพอ และ มีหมอเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การประเมินสถานการณ์ระบาด ยังต้องคำนึงถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อจาก PCR ร่วมกับ ATK โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช. ได้รวบรวมข้อมูลผู้ที่มีผล ATK เป็นบวกลงทะเบียนขอรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก รับยาทางไปรษณีย์ ในสัปดาห์ที่ 17 มีผู้ติดเชื้อลงทะเบียน 498,578 คน หมายความว่าแต่ละวันติดเชื้อ 4-6 หมื่นคนต่อวัน ทำให้ สธ.คงระดับการเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ
นพ.จักรรัฐ เปิดเผยว่า ขณะนี้ 40 จังหวัดแนวโน้มติดเชื้อลดลงและทรงตัว ในเดือน พ.ค.เป็นการวางแผนระยะหลังการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ถ้าโควืดกลายพันธุ์แพร่เร็ว หรือรุนแรงขึ้น จะได้มีศักยภาพในการป้องกันและรับมือ การฉีดวัคซีนคือการป้องกันคนในประเทศ จำเป็นต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้นให้เกิน 60% เนื่องจากอัตราการตาย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 65 ซึ่งมีการระบาดของโอมิครอนเป็นวงกว้าง อัตราการตายของประชากรเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มอายุ 60-69 ปี และผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี