‘พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์’ เคลียร์ปมสื่อนอกเสนอข่าวค้ามนุษย์ ยัน ‘พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์’ ไม่ถูกแทรกแซงการทำงาน สำนวนคดีรัดกุม ทำในรูปแบบกรรมการ จับผู้ต้องหาแล้ว 120 คนเหลืออีก 30 คนยังหลบหนี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565 พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ในคดีอาญา ที่ 148/2558 ที่สำนักข่าวอัลจาซีรา นำเสนอการให้สัมภาษณ์ ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีนั้น พล.ต.อ.รอย กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2558 ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งพนักงานสอบสวน 133 นาย มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ในขณะนั้นเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และกำกับดูแลคดี เนื่องจากเป็นคดีที่มีความผิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวน 12 คน ในส่วนของตำรวจยังมี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน
“คดีนี้ เริ่มเมื่อ 3 พ.ค.2558 ต่อมาวันที่ 28 พ.ค.2558 พล.ต.ต.ปวีณ ขณะนั้นเป็น รอง ผบช.ภ.8 เข้าร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวน ตามหนังสือคำสั่งของอัยการสูงสุด คดีนี้ใช้เวลา 51 วัน ทำสำนวนจนส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ในวันที่ 22 มิ.ย.2558 ขยายผลจนพบผู้เกี่ยวข้อง ผู้ต้องหา 155 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ออกหมายจับ 153 หมาย มีเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นผู้ต้องหา 22 คน ประกอบด้วย ทหาร 5 นาย, ตำรวจ 4 นาย, ปกครอง 12 ราย และเจ้าหน้าที่อนามัย 1 ราย จับกุมแล้ว 120 หมาย ถอนหมาย 3 หมาย เนื่องจากเสียชีวิตระหว่างหลบหนี คงเหลือ 30 หมายจับ ที่ยังหลบหนี ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ส่งฟ้องทั้งหมด” พล.ต.อ.รอย กล่าว
พล.ต.อ.รอย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเร่งรัดติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 30 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงผู้สนับสนุน ช่วยเหลือในการกระทำความผิด ประกอบด้วย ชาวไทย และคนต่างด้าว จากการสืบสวนทราบส่วนใหญ่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงมอบหมายให้ตำรวจภูธรภาค 9 ตำรวจสอบสวนกลาง และกองการต่างประเทศ ร่วมกันประสานประเทศที่เกี่ยวข้อง ติดตามผู้ต้องหามาดำเนินคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.และ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการนี้ได้เพิ่มอีก 2 ราย คดีนี้ตำรวจยังเกาะติด ไม่ได้ละเลย
ส่วน กรณีที่ พล.ต.ต.ปวีณ ระบุว่าถูกกดดันให้ช่วยเหลือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนี้ เพื่อให้ได้รับการประกันตัว พล.ต.อ.รอย กล่าวว่า คดีนี้ทำในรูปแบบคณะกรรมการ มีทั้งนายตำรวจผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูงกว่า พล.ต.ต.ปวีณ และอัยการเป็นทีมพนักงานสอบสวน การพิจารณาในการปล่อยชั่วคราวอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ประกอบกับเป็นคดีร้ายแรง และมีอัตราโทษสูงถึงการประหารชีวิต มีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก จึงต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ต้องหารายใดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน การกล่าวอ้างว่าถูกกดดันขอให้ช่วยเหลือให้ได้รับการประกันตัว จึงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้ง พล.ต.ต.ปวีณ ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ประกันตัว
นอกจากนี้ คดีนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ และช่วงนั้นไทยก็ถูกจับตาเรื่องการจัดระดับ Trafficking in Persons (TIP) Report ซึ่งตอนนั้นไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 ทำให้คดีนี้เป็นที่จับตาจากหลายฝ่ายอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อการจัดระดับ ซึ่งภายหลังคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เจ้าหน้าที่ไทยขยายผลจับกุบผู้ต้องหาจำนวนมาก ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้การจัดระดับ TIP report ของไทยขยับดีขึ้นอยู่ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวัง
ส่วนที่ระบุว่า พล.ต.ต.ปวีณ ถูกกดดัน คุกคามข่มขู่ พล.ต.อ.รอย กล่าว่วา พล.ต.ต.ปวีณ เป็นเพียงหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งคดี ผู้ควบคุมกำกับดูแลในคดีนี้ คือ พล.ต.อ.เอก ตามการมอบหมายของอัยการสูงสุด
สำหรับกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย ชี้แจงว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลตำรวจ เป็นอำนาจการพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
“มาพูดโดยข้อมูลฝ่ายเดียว โดยไม่มีอะไรรองรับ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว แล้วทำไมต้องมาพูดในช่วงนี้ หวังผลประโยชน์อะไรที่ต้องการให้กระทบภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่ ทำให้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตั้งใจทำงานกันทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ตำรวจ อัยการ เราตั้งใจทำงานปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่มาถูกดิสเครดิตโดยคนคนเดียว มาพูดโดยไม่มีอะไรรองรับ แล้วมาเป็นประเด็น มันไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าตรงไหนยังไม่ทำ ก็บอกมา จะได้ไปทำ” พล.ต.อ.รอย กล่าว
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาได้ประชุมเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยตลอดปีที่ผ่านมาตำรวจปราบปราม ดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง กำชับดำเนินการอย่างเด็ดขาดทุกคดี โดยเฉพาะคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมกระทำผิด หรือมีส่วนรับผลประโยชน์ ต้องดำเนินคดีทั้งทางอาญา และทางปกครอง โดยไม่ละเว้น
พล.ต.อ.รอย กล่าวว่า ศพดส.ตร.มีแนวทางปฏิบัติให้พนักงานสอบสวนหารือกับพนักงานอัยการ สำนักคดีค้ามนุษย์ ในการทำสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ทุกคดี โดยในปี 2564 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ 188 คดี เป็นความรับผิดชอบของตำรวจ 182 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 6 คดี จำแนกเป็น ค้าประเวณี 132 คดี สื่อลามก 13 คดี ผลประโยชน์รูปแบบอื่น 7 คดี เอาคนลงเป็นทาส 2 คดี ขอทาน 2 คดี บังคับใช้แรงงาน 15 คดี ขูดรีดและอื่น ๆ 11 คดี จากทั้งหมดนี้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี
ต่อมาในปี 2565 ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด พบว่าสถิติการจับกุม ดำเนินคดีมนุษย์เพิ่มขึ้น เพียงช่วง 4 เดือนแรกของปี ม.ค.-เม.ย.2565 จับกุมได้แล้ว 85 คดี เป็นความรับผิดชอบของตำรวจ 83 คดี ดีเอสไอ 2 คดี จำแนกเป็นคดีค้าประเวณี 63 คดี สื่อลามก 10 คดี ขอทาน 3 คดี บังคับใช้แรงงาน 7 คดี โดยยังไม่ปรากฏคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง
พล.ต.อ.รอย กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ ต.ค.2564 ได้เข้าช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ อาทิ กัมพูชา , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวม 664 ราย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 279 ราย ไม่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 320 ราย อยู่ระหว่างคัดแยก 65 ราย ขณะเดียวกันดำเนินคดีเรือประมงผิดกฎหมาย 13 ลำ จากการตรวจสอบ 2,116 ลำ นอกจากนี้ยังตรวจสอบคดีลูกเรือตกน้ำในช่วงปี 2563 – 2564 จำนวน 231 ราย พบลูกเรือถูกทำร้ายร่างกายก่อนตกน้ำเสียชีวิต 4 ราย แต่ยังไม่พบว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์