‘สุธรรม-พี่น้อง’ เตรียมส่งหนังสือเชิญ ‘สุรินทร์’ หารือ หลังศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาให้แบ่ง ‘หุ้น-ที่ดิน’ ให้พี่น้อง หวังยุติความขัดแย้งในตระกูล ‘โตทับเที่ยง’ พร้อมเปิดทางร่วมบริหาร ‘ปุ้มปุ้ย’ แต่ต้องไม่มีเงื่อนไข
...................................
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่โรงแรมอิสตินแกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ พี่น้องตระกูล ‘โตทับเที่ยง’ นำโดยพี่ใหญ่ของตระกูล นายสุธรรม โตทับเที่ยง ประธานกรรมการ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือ POMPUI เจ้าของผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องตรา ‘ปุ้มปุ้ย’ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทีมทนายความ นัดหมายสื่อมวลชนแถลงความคืบหน้าคดีกงสีหรือธุรกิจของครอบครัวตระกูล ‘โตทับเที่ยง’
หลังจากเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีขอแบ่งทรัพย์สินในกงสี หรือทรัพย์ของครอบครัวที่ทำมาหากินร่วมกัน โดยศาลฎีกามีคำพิพากษา ให้นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลย 1) และพวกรวม 6 คน ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่ถือไว้แทนพี่น้องโตทับเที่ยงคนอื่นๆ ในบริษัทฯ 19 แห่ง ได้แก่
บริษัท กว้างไพศาล จํากัด, บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท เอส.ตรัง คอมเพล็กซ์ จํากัด, บริษัท เอส.ตรัง ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด, บริษัท เอส.ตรัง เอ็นเตอร์ไพร์ส จํากัด, บริษัท ตรังแคนเนอรี่ จํากัด, บริษัท โรงแรมธรรมรินทร์ จํากัด, บริษัท อะเมซิ่ง ไอเดีย จํากัด, บริษัท ตรังกว้างไพศาล จํากัด
บริษัท กว้างไพศาล โฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท โตโฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท ตรังโฮลดิ้ง จํากัด, บริษัท ไกรตะวัน จํากัด ,บริษัท ตรังชัวร์ จํากัด, บริษัท ดิสทริค ดิเวอลอปเม้นท์ 2000 จํากัด, บริษัท ล้านรอยยิ้ม จํากัด, บริษัท คอนสแตนท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จํากัด, บริษัท ตรังทราเวิล แอนด์ อะเมซิ่ง ทราเวิล จํากัด และบริษัท เอส.ที แมเนจเม้นท์ (2013) จํากัด
โอนหุ้นในบริษัททั้ง 19 แห่ง ให้แก่ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คน ได้แก่ น.ส.จุรี โตทับเที่ยง, นางจุฬา หวังศิริเลิศ, นางจุรัตน์ มะนะสุทธิ์, นายสลิล โตทับเที่ยง, นางสาวสุนีย์ โตทับเที่ยง, น.ส.ศิริพร โตทับเที่ยง, นายเสริมสันต์ สินสุข, นายไกรลาภ โตทับเที่ยง และนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วน ของหุ้นในแต่ละบริษัท
พร้อมทั้งให้นายสุรินทร์ (จำเลย 1) และจำเลยที่ 4-6 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถือไว้แทนพี่น้องคนอื่นในตระกูลโตทับเที่ยง ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกงสีหรือธุรกิจในครอบครัว (อ่านประกอบ : ‘ศาลฎีกา’ยุติศึกกงสีตระกูลโตทับเที่ยง ‘สุรินทร์’พ่าย-สั่งโอน‘หุ้น-ที่ดิน’แบ่งพี่น้อง)
@‘ทนาย’แจงผลคดีกงสี‘โตทับเที่ยง’-แนะ 10 พี่น้องพูดคุย 'ลดขัดแย้ง'
นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความฝ่ายนายสุธรรมและพี่น้อง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 นายสุธรรมและพี่น้องรวม 9 คน (โจทก์ที่ 1-9) ได้ยื่นฟ้องนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง และพวก (จำเลยทั้ง 6) ต่อศาลแพ่งธนบุรี ในคดีกรรมสิทธิ์รวม เรียกทรัพย์คืน และขอแบ่งทรัพย์ (กงสี)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2561 ศาลฯชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 โอนหุ้นของ 19 บริษัทฯ ที่ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนกงสี ให้แก่โจทก์ที่ 1-9 และนายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วนของหุ้นแต่ละบริษัท พร้อมทั้งให้นายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) และจำเลยที่ 4-6 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่โจทก์ที่ 1-9 และนายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์ และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 (นายสุรินทร์และพวก) โอนหุ้นทั้ง 19 บริษัท ให้แก่โจทก์ทั้ง 9 (นายสุธรรมและพี่น้อง) และนายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ใน 10 ส่วนเท่าๆกันเท่านั้น ไม่มีการชำระเงินแทนหุ้น
ส่วนกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ศาลฯเห็นว่า เมื่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการนำเงินของกงสีไปซื้อ แล้วให้นายสุรินทร์และจำเลยที่ 4-6 ถือไว้แทนกงสี ศาลฯไม่เห็นด้วยที่จะให้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับโจทก์ทั้ง 9 และนายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) ศาลฯจึงยกคำร้องในส่วนนี้ ทำให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกงสี ซึ่งบริษัทของโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 ที่เป็นกงสีจะเข้ามาดำเนินการต่อไป
ต่อมามีการยื่นฎีกา และเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้ง 6 (นายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) และพวก) โอนหุ้นของ 19 บริษัทฯ ที่ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนกงสี ให้แก่โจทก์ที่ 1-9 และนายสุรินทร์ (จำเลยที่ 1) คนละ 1 ส่วนใน 10 ส่วนของหุ้นแต่ละบริษัท และให้นายสุรินทร์ และจำเลยที่ 4-6 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือไว้แทนกงสี ให้แก่บริษัทที่เป็นกงสีของโจทก์ทั้ง 9 และนายสุรินทร์
“จากคำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า หุ้นทั้ง 19 บริษัท เป็นของกงสีหรือธุรกิจครอบครัว และให้แบ่งกันระหว่างพี่น้อง 10 คน คนละ 1 ส่วน ส่วนที่ดินจะมีการพูดคุยกันว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยมาอย่างนี้แล้ว จะดำเนินการอย่างไร จะโอนที่ดินฯเข้าบริษัทไหน โดยจะมีการประชุมหารือกันต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปนั้น ได้ให้คำปรึกษาแก่โจทก์ทั้ง 9 โดยเฉพาะเฉพาะนายสุธรรม ว่า หลังจากนี้ไปจะเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นขอบังคับคดีภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา แต่ในฐานะทนายความและที่ปรึกษาของครอบครัวฯ เสนอไปว่า ในชั้นนี้จะมียังไม่การแจ้งบังคับคดี แต่อยากให้มีการเชิญ นายสุรินทร์มาพูดคุยกัน เพราะไม่ต้องการให้มีการขัดแย้งกันอีกต่อไป
“เราเห็นว่าความขัดแย้งน่าจะยุติ ดังนั้น การบังคับคดีจะเอาไว้ทีหลัง โดยเราจะทำหนังสือเชิญคุณสุรินทร์มาพูดคุยหารือกัน เพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า พี่น้องทั้ง 10 คน จะดำเนินการอย่างไรกับ 19 บริษัท และเรื่องที่ดินด้วย และแม้ว่าจำเลย (นายสุรินทร์) จะมีเสียงเดียว มีส่วนเดียว ก็จะต้องมีการรับฟังความเห็น เพื่อละลายความขัดแย้งให้หมดไป แล้วดำเนินธุรกิจกันต่อไป เพื่อดำรงคงอยู่ไว้ซึ่งธุรกิจของตระกูลโตทับเที่ยง รวมทั้งล้างภาพลักษณ์ความขัดแย้งออกไป ซึ่งผมหวังจะให้เป็นแบบนั้น และโจทก์ทั้ง 9 ก็ตกลงที่จะดำเนินการตามนี้” นายสมศักดิ์ กล่าว
@'สุธรรม’พร้อมพูดคุย‘สุรินทร์’-เปิดทางร่วมงาน แต่ต้องไม่มีเงื่อนไข
ด้าน นายสุธรรม พี่ชายคนโต ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อตั้งธุรกิจของตระกูลโตทับเที่ยงร่วมกับพี่น้องรวม 10 คน มาตั้งแต่อายุ 22 ปี หรือเมื่อ 54 ปีที่แล้ว กล่าวว่า วันนี้เป็นที่ยุติในสิ่งที่เรียกว่า ‘ความขัดแย้งเล็กน้อย’ เพราะไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา หรือพี่น้องที่อยู่ร่วมกันมา ย่อมมีการคิดอะไรบางอย่างที่ไม่ตรงกันและขัดแย้งกันบ้าง และเมื่อศาลฯได้สรุปจบเรื่องของพวกเรา ซึ่งไม่มีใครแพ้ใครชนะ โดยพี่น้องทุกคนได้ในส่วนที่ตนเองควรจะได้รับ
“ไม่มีใครแพ้ ใครชนะ ทุกคนชนะหมด ด้วยความเป็นธรรมที่ได้รับมา ได้ทุกคน ไม่มีใครเสีย แต่ได้ในสิ่งที่เป็นของตน ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ สิ่งไหนที่ไม่ใช่ก็ไม่ได้ สิ่งไหนที่ใช่ ก็ได้ตามนั้น เป็นความจริง คือ สิ่งไม่ตาย เป็นความจริงที่ปรากฏตามที่ศาลได้พิพากษามา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คิดว่าจะดำเนินการตามเจตนาที่ศาลฯได้กรุณาพิพากษามา คือ จัดการแบ่งหุ้น แบ่งที่ดินต่างๆ ตามสัดส่วนของพี่น้อง 10 คน ที่ร่วมทำกันมา” นายสุธรรม กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการเชิญนายสุรินทร์เข้ามาร่วมบริหารบริษัทของครอบครัวทั้ง 19 บริษัท และบมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือ POMPUI ด้วยหรือไม่ นายสุธรรม กล่าวว่า “เรื่องธุรกิจของครอบครัวผม ต้องเรียนว่า ที่มาถึงวันนี้ได้ เป็นเพราะความร่วมมือของทุกคน แต่จะร่วมมือกันเฉยๆไม่ได้ ต้องมีความสามารถด้วย เราทำงานแบบที่เรียกว่า Put the right man on the right job ใครถนัดทางไหน ก็ทำทางนั้น ใครมีความสามารถทางไหน ก็ช่วยทางนั้น
ส่วนที่บอกว่าจะเชิญคุณสุรินทร์มาร่วมบริหารหรือไม่นั้น ผมยังตอบแทนคุณสุรินทร์ไม่ได้เหมือนกัน และถ้าดูกัน ณ วันนี้แล้ว ตามขั้นตอน ตามระเบียบ เขาได้ลาออกไปแล้ว และการเป็นลูกจ้างหรือการเป็นบุคลากรของนิติบุคคล เขาก็ลาออกไปด้วย คราวนี้จึงต้องมาดูว่าคนของเราพร้อมไหม ถ้าเราพร้อม เราก็ทำของเราได้ แต่ถ้าเกิดขาดเหลืออะไร ที่ต้องหาคนเพิ่ม เราก็มองคนใกล้ตัวก่อน
แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่ต้องมีเงื่อนไข เพราะการทำงานร่วมกัน ถ้าเงื่อนไขมาก ก็ไม่ถูก ดังนั้น บางอย่างผมยังตอบวันนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นไปได้ หรือไม่ได้ มันเป็นไปได้ทุกอย่าง เพราะเป็นไปแล้ว เพราะทำงานร่วมกันมาแล้ว แล้วก็แยกกันแล้ว แล้วศาลฯก็ให้เข้ามาร่วมกันใหม่ ทุกอย่างจึงเข้ามาสู่ระเบียบ และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งบางอย่างต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร”
เมื่อถาม หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีแล้ว ความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกันในครอบครัวโตทับเที่ยงจะจบลงหรือไม่ นายสุธรรม กล่าวว่า “จริงๆแล้ว นอกจากเรื่องที่เป็นปัญหาทางคดีแล้ว เรื่องอื่นๆไม่มี เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน พบศาลฯตัดสินใจมา ก็จบแล้ว เพราะทุกคนก็ได้เท่ากันอยู่แล้ว”
เมื่อถามย้ำว่า พี่น้องโตทับเที่ยงทั้ง 10 คน สามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ นายสุธรรม ระบุว่า “ทางเราเปิด เพียงแต่ว่าตอนนี้ เขาลาออกไป” เมื่อถามต่อว่า พี่น้องจะพูดคุยกันได้อีกหรือไม่ นายสุธรรม กล่าวว่า “เราเปิด ผมเปิด ผมเป็นพี่ใหญ่ของทุกคน ผมเปิดอยู่แล้ว แม้ว่าพักหลังตั้งแต่เกิดคดีความ ไม่ได้เจอกันเลย ตัวเขาเองก็ไม่ค่อยสบาย ส่วนการพูดคุยกันเรื่องคำพิพากษาของศาลฯ เดี๋ยวจะมีหนังสือนัดไป ก็ต้องดูว่าเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ผมเปิดกว้าง อยู่ที่เขาจะมาหรือเปล่า”
(สุธรรม โตทับเที่ยง)
@เชื่อ ‘ปุ้มปุ้ย’ ยังมีรากฐานแข็งแรง แม้ไม่ได้ร่วมบริหาร 7 ปี
นายสุธรรม กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงตระกูลโตทับเที่ยงแล้ว จะต้องพูดถึงปลากระป๋องตรา ‘ปุ้มปุ้ย’ ด้วย เพราะตั้งแต่มีข้อขัดแย้งกันภายในครอบครัว พวกเราทั้งหมดก็ไม่ได้เข้าไปบริหารงานในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน ส.ค.2564 คณะผู้บริหารในปุ้มปุ้ยลาออกทั้งหมด ตนในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่จึงต้องเข้าไปบริหาร และเข้าไปบริหารบริษัทฯได้จริงๆในช่วงปลายเดือน พ.ย.2564 เพื่อให้บริษัทฯเดินหน้าต่อไป
“ในช่วงเริ่มต้น ผมเข้าไปนั่งกุมบังเหียนก่อน ทั้งๆที่จริงแล้ว ผมควรต้องเกษียณแล้ว แต่เมื่อเหตุการณ์จำเป็นบังคับ ก็ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง ผมเข้าไปในนามประธานกรรมการบริษัทฯ โดยมีคณะกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งไม่ได้มีแต่คนในครอบครัวเท่านั้น และทุกคนที่เข้าไปบริหารมีพื้นฐานและคลุกคลีมากับกิจการนี้ มีความรู้ความสามารถลึกซึ่งถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นปุ้มปุ้ย หรือธุรกิจโรงแรมที่เราทำอยู่” นายสุธรรม ในวัย 76 ปี กล่าว
นายสุธรรม กล่าวว่า ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล (POMPUI) ผ่านออนไลน์ เพื่อลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทฯ และรับรองงบการเงินประจำปี 2564 ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯจะปลดเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว) ของ POMPUI ได้เมื่อไหร่ คงต้องขึ้นอยู่กับตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งในครอบครัวโตทับเที่ยง 7 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายพอสมควร
“ต้องยอมรับเลยว่า มีความเสียหาย เพราะพี่น้องโตทับเที่ยงรุ่นที่ 1 คือ รุ่นผม ได้เหินห่างออกมา 7 ปี พวกเรา 9 คน ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนั้น แต่ด้วยพื้นฐาน ฐานรากที่ได้วางไว้ตั้งแต่ต้น จึงขอเรียนว่าปุ้มปุ้ยวันนี้ ฐานรากยังมั่นคง แข็งแรง แต่ส่วนยอดข้างบน และตัวเลขต่างๆยังต้องเข้าไปดูว่า มันโตมาถูกต้องตามทิศทาง หรือว่าเสียหายหรือผิดทิศทางไปมากแค่ไหน เพราะเพิ่งเข้ามาดู โดยจะมีการชี้แจงผ่านช่องทางต่างๆต่อไป” นายสุธรรม ระบุ
อ่านประกอบ :
‘ศาลฎีกา’ยุติศึกกงสีตระกูลโตทับเที่ยง ‘สุรินทร์’พ่าย-สั่งโอน‘หุ้น-ที่ดิน’แบ่งพี่น้อง
เจาะงบฯ บ.เสี่ยปุ้มปุ้ย หนี้พันล. ชนวนแตกหัก สายเลือด ‘โตทับเที่ยง’
เจาะตำนานความขัดแย้งใน‘กงสี’ 8 ตระกูลดัง ก่อนถึง ‘โตทับเที่ยง’