ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 15 วัน ปรับ 4,000 บาท พร้อมยึดบิ๊กไบค์ ‘ส.ต.ต.นรวิชญ์’ ซิ่งรถชน ‘หมอกระต่าย’ เสียชีวิต ก่อนได้ประกันตัว โดยไม่มีเงื่อนไข ตีราคาหลักทรัพย์ 2 แสนบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.399/2565 คดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) เป็นจำเลยในความผิด ฐานขับโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน และกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาอื่นๆ รวม 9 ข้อหา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ส.ต.ต.นรวิชญ์ จำเลย ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิต
ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ความผิดฐานนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้ มีการประกันความเสียหาย ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถโดยมีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์ สำหรับรถไม่ครบถ้วน ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จำคุก 15 วัน ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือ ทรัพย์สินโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทางเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี
รวมโทษแล้วจำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท
พิเคราะห์รายงานการ สืบเสาะและพินิจของจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงมาก ประมาณช่วงระหว่างความเร็ว 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนดและที่วิญญูชนทั่วไปคาดคิด ทั้งยังขับแซงรถคันอื่นใกล้กับบริเวณที่มี เครื่องหมายจราจรทางข้าม (ทางม้าลาย) ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับสถานพยาบาลและสถานที่ ราชการ ซึ่งเป็นเขตเมืองและเป็นเขตชุมชนที่มีประชาชนจำนวนมากไปรับบริการและใช้ทางดังกล่าวเป็นปกติตลอดทั้งวัน อันเป็นการเพิกเฉยต่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถและผู้สัญจรอื่นๆ บนท้องถนน
ประกอบกับจำเลยขับรถที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้และไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายกับผู้ประสบภัยจากรถ แม้จำเลยจะพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว แต่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ถือว่าเป็นร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลย หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ จัดการตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1)
และหากจำเลยขับรถต่อไปอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น จึงให้ เพิกถอนใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ฉบับที่ 64001268 ออกโดยสำนักงานขนส่ง จังหวัดนครสวรรค์ และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับที่ 64000905 ออกโดยสำนักงานขนส่งจังหวัดนครสวรรค์ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง
ศาลให้ประกัน ‘ส.ต.ต.นรวิชญ์’ โดยไม่มีเงื่อนไข
ต่อมา นายสนทยา น้อยเจริญ ทนายความของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงยอมรับในคดีนี้ทุกชั้น ซึ่งหลังจากศาลพิพากษาลงโทษ บิดาของจำเลยได้ใช้ตำแหน่งร้อยตำรวจตรียื่นประกัน
ทั้งนี้ ศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข
ไล่ออก ‘ส.ต.ต.นรวิชญ์’ ต้องรอศาลพิพากษาถึงที่สุด
ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ต้องออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตัดสินโทษจำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท และได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ยังไม่ได้จำคุกจริง
ในส่วนคดีวินัยที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ดำเนินการ เบื้องต้นเป็นคดีประมาท บช.น.ตรวจสอบแล้วอยู่ระหว่างตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้จะต้องรอคำสั่งศาลถึงที่สุดแล้วว่าจะมีโทษจำคุกหรือไม่ คณะกรรมการวินัยจะพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป
อัยการคัดคำพิพากษา พิจารณายื่น-ไม่ยื่นอุทธรณ์
วันเดียวกันนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า หลังจากนี้พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน จะไปขอคัดคำพิพากษาเพื่อพิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็มีความเห็นไม่อุทธรณ์ ถ้าไม่เห็นนด้วยก็เสนอเห็นควรยื่นอุทธรณ์ผ่านอัยการพิเศษฝ่าย ส่งให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นคดีสำคัญ