เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'อุปถัมภ์ ไชยมงคล' อดีตนายกเทศมนตรีตำบลนาน้อย น่าน ทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะขนส่งรถกู้ชีพพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ปี 2555 ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 5 พิพากษาลงโทษ จำคุก 5 ปี พวกอีก 4 ราย ยกฟ้อง ป.ป.ช.เห็นควรอุทธรณ์สู้ต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายอุปถัมภ์ ไชยมงคล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน กับพวก คือ นายเสรี ทองคำ นายทินกร สำราญวงษ์ นายรัฐภูมิ ปิจนำ และนายชุมพร จันทิ ทุจริตการจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่งรถกู้ชีพพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ของเทศบาลตำบลนาน้อย เมื่อปี 2555
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 151 , 157 , 161 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563
ความคืบหน้าคดีล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาว่า นายอุปถัมภ์ ไชยมงคล จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 151 และ 161
นอกจากนี้ ยังมีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ฮั้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ตาม ป.อ. มาตรา 90
จำคุก นายอุปถัมภ์ ไชยมงคล จำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี ให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.38/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 7/2564 ของศาลนี้
ยกฟ้องโจทก์ นายเสรี ทองคำ จำเลยที่ 2 นายทินกร สำราญวงษ์ จำเลยที่ 3 นายรัฐภูมิ ปิจนำ จำเลยที่ 4 และนายชุมพร จันทิ จำเลยที่ 5
ทั้งนี้ คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ ในกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนจำเลยที่ 1 และเห็นควรอุทธรณ์คำพิพากษาให้ ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วน พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
อ่านประกอบ