ดีเอสไอหอบสำนวน 2,600 หน้าส่ง ป.ป.ช.สอบโครงการจัดซื้อโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บนถนน 7 สาย 2,998 ชุด 194.8 ล้าน จ.นครศรีธรรมราช เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พบปมคณะกรรมการ 3 ชุดไม่ได้ประชุมพิจารณาหลังถูกแต่งตั้ง ขรก.เอกชนนับสิบพัวพัน ระดับสูงด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้ส่งเรื่องให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช (กลุ่มงานความมั่นคง) ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการซื้ออุปกรณ์พร้อมติดตั้งชุดโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิด LED จำนวน 2,998 ชุด บนถนน 7 สาย รวมระยะทาง 71.53 กิโลเมตร ในวงเงิน 194,870,000 บาท โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) ถูกร้องเรียนและกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนตรวจสอบพบว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลาง การพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และ การตรวจรับพัสดุ ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2540 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2540 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 162 อันเข้าข่ายการกระทำความผิด ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบปากคำคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลาง คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า คณะกรรมการฯ ไม่มีการประชุมพิจารณากันแต่อย่างใด เอกสารเกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลาง และเอกสารการพิจารณาผล มี หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุคนหนึ่ง นำมาให้กรรมการฯ ลงนามและคณะกรรมการฯ ไม่เคยพบหรือได้พูดคุยกับผู้ชนะการประกวดราคา
กรมสอบสวนคดีพิเศษโดยศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 8 ได้สรุปสำนวน มีเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนกว่า 10 ราย อาจเข้าข่ายกระทำความผิด ได้มีคำสั่งยุติเรื่องสืบสวนและให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ป.(สำนักบริหารกลาง) ได้รับเรื่องเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565
รายงานข่าวแจ้งว่า เอกชนที่เข้าร่วมโครงการเปิดเผยรายละเอียดว่า ถูกเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเรียกสอบสวนจริง และ ได้ให้ปากคำไปตามรายละเอียดที่เกิดขึ้นจริง คือ ขณะดำเนินการทั้งหมดมีเจ้าหน้าที่ โทรศัพท์มาแจ้งให้ดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และในเรื่องนี้น่าจะมีเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันดำเนินการมากกว่า 10 คน ซึ่งขณะนี้ทุกคนที่ตนรู้จักบอกว่า เรื่องทั้งหมดผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดเป็นผู้สั่งการให้ดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เรื่องนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษเสนอให้นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาสำนวนตามที่เจ้าหน้าที่เสนอตามลำดับชั้นิ กระทั่งมีความเห็นให้ยุติเรื่องและส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินการ สำนวนการสอบสวนและเอกสารประกอบจำนวน 2,600 หน้า
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง ป.ป.ช.หลายเรื่องในช่วงที่ตนบริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาตั้งแต่เดือน ตุลาคม และ กรณีนี้ก็เป็นสำนวนหนึ่งที่ส่งไปยัง ป.ป.ช.จริง