ก่อนหน้าปี 2562-2564 โดน 6 ครั้ง 83 รายการ! ปปง.ไล่ยึดอายัดทรัพย์สิน ‘รูดี สุหลง-ฮาซีกิม อับดุลเลาะห์’ ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ จว.ชายแดนใต้ ครั้งที่ 7 รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ยี่ห้อดัง 11 คัน 9 ล้าน ขณะที่เจ้าตัวถูกศาลจำคุก 51 ปี 3 เดือน คดีครอบครองอาวุธปืน ค้าเฮโรอีน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงาน คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 94 /2565 ลงวันที่ 5 เม.ย.2565 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ราย นายรูดี สุหลง นางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ กับพวก ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นทรัพย์สินรถยนต์ รถจักรยายนต์ ยี่ห้อดัง จำนวน 11 รายการ (11 คัน) มูลค่า 9,084,000 บาท ภายหลังจาก นายรูดี สุหลงถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาครอบครองอาวุธปืน และยาเสพติด ต่อมาถูกศาลสั่งจําคุกนายรูดี สุหลง 51 ปี 3 เดือน จําคุกนางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ ตลอดชีวิต จําคุกนางสาวระมะ หมัดอาดัม 50 ปี และจําคุกนายอาชัย อารอมะ ตลอดชีวิต (ดูคำสั่งยึดอายัดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2565/93-2565.pdf
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2562-2564 ปปง.มีคำสั่ง ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว นายสุหลง และ น.ส. ฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ กับพวก รวม 6 ครั้ง 83 รายการ ได้แก่
ครั้งที่ 1 คำสั่งที่ ย.182/2562 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2562 ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว 40 รายการ ได้แก่ ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์ สร้อยแหวนทองคำ ประเมินเฉพาะ 15 รายการ ราคา 10,840,580 บาท ดูรายละเอียดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2562/182-2562.pdf
ครั้งที่ 2 คำสั่งที่ ย.11/2563 ลงวันที่ 14 ก.พ.2563 ยึดและอายัดทรัพย์สิน ไว้ชั่วคราว เพิ่มเติม 20 รายการ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 20 แปลง มูลค่า 5,297,875.20 บาท รายละเอียดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2563/11-2563.pdf
ครั้งที่ 3 คำสั่งที่ ย. 53/2563 ลงวันที่ 15 พ.ค.2563 ยึดและอายัดทรัพย์สิน ไว้ชั่วคราวเพิ่มเติม 5 รายการ ได้แก่ ที่ดิน 5 แปลง มูลค่า 2,508,765 บาท รายละเอียดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2563/53-2563.pdf
ครั้งที่ 4 คำสั่งที่ ย.162 /2564 ลงวันที่ 8 ก.ย.2564 ยึดและอายัดทรัพย์สิน ไว้ชั่วคราวเพิ่มเติม 2 รายการ ได้แก่ ที่ดิน 2 แปลง มูลค่า 824,950 บาท รายละเอียดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2564/162-2564.pdf
ครั้งที่ 5 คำสั่งที่ ย.179 /2564 ลงวันที่ 9 พ.ย.2564 ยึดและอายัดทรัพย์สิน ไว้ชั่วคราวเพิ่มเติม 1 รายการ ได้แก่ อาวุธปืน 1 กระบอก พร้อมซองกระสุน มูลค่า 70,000 บาท ผู้ครอบครองนายแซม แวดาโอะ รายละเอียดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2564/179-2564.pdf
ครั้งที่ 6 คำสั่งที่ ย.190 /2564 ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ยึดและอายัดทรัพย์สิน ไว้ชั่วคราวเพิ่มเติม 15 รายการ ได้แก่ อาวุธปืนชนิดต่าง ๆ จำนวน 15 กระบอก มูลค่า 1,260,000 บาท ผู้ครอบครองนายแซม แวดาโอะ รายละเอียดในลิงก์แนบ https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2564/190-2564.pdf
รวมครั้งล่าสุดครั้งที่ 7 รวมทรัพย์สิน 7 ครั้ง 94 รายการ มูลค่าเบื้องต้น 20.7 ล้านบาท
สำหรับคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินครั้งล่าสุดมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตํารวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ตามหนังสือที่ ตช.0024 (นธ).1 (ศอ.ปส.)/616 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เรื่อง ประสานออกคําสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งเป็น กรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมประกอบด้วยตํารวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ได้ปฏิบัติตาม แผนระดมกวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดและค้นหาผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบําบัดตามแผนปฏิบัติการรวมพลัง แก้ไขปัญหายาเสพติดคืนความสุขจังหวัดชายแดนใต้ จับกุมนายรูดี สุหลง นางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ และนางสาวระมะ หมัดอาดัม พร้อมอาวุธปืนพกสั้น 4 รายการ และยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) น้ำหนักรวมถุงประมาณ 580 กรัม จากนั้นขยายผลจับกุมนายอาชัย อารอมะ พบยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 (เฮโรอีน) น้ำหนักรวมประมาณ 18.693 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายโดยผิดกฎหมาย” แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่นายรูดี สุหลง และนางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ ว่า “ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่นายรูดี สุหลง และนายอาชัย อารอมะ ว่า “เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยผิดกฎหมาย” นําตัว ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสุไหงโก-ลก ตามคดีอาญาที่ 1129/2561 ดําเนินคดี จากการสอบสวน ขยายผล พบว่านางสาวสุริสา สาฆอ และนายอดินันธ์ เจะแมง เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของกลางในคดีนี้ด้วย ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาสในคดีอาญาหมายเลขดําที่ ย 476/2562 หมายเลขแดงที่ ย 2498/2562 มีคําพิพากษาว่านายรูดี สุหลง นางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ นางสาวระมะ หมัดอาดัม นายอาชัย อารอมะ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นายรูดี สุหลง และนางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ มีความผิด ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นายรูดี สุหลง และนายอาชัย อารอมะ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 (เดิม), 91 ลงโทษจําคุกนายรูดี สุหลง 51 ปี 3 เดือน จําคุกนางสาวฮาซีกิม อับดุลเลาะห์ ตลอดชีวิต จําคุกนางสาวระมะ หมัดอาดัม 50 ปี และจําคุกนายอาชัย อารอมะ ตลอดชีวิต อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว ต่อมา คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคําสั่งที่ ย. 182/2562 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว รายนายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก จํานวน 40 รายการ พร้อมดอกผล คําสั่งที่ ย.11/2563 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก จํานวน 20 รายการ พร้อมดอกผล คําสั่งที่ ย.53/2563 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก จํานวน 5 รายการ พร้อมดอกผล คําสั่งที่ ย.162/2564 ลงวันที่ 8 กันยายน 2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก จํานวน 2 รายการ พร้อมดอกผล คําสั่งที่ ย.179/2564 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล และคําสั่งที่ ย.190/2564 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายนายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก จํานวน 15 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นั้น
จากการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคล รวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ในคดีดังกล่าว พบข้อมูลเพิ่มเติมว่านายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกจํานวน 11 รายการ ได้แก่ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจาก ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐาน ทางทะเบียนในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครอง อาจดําเนินการโอน เปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึด ทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มี เหตุอันควรเชื่อได้ว่านายรูดี สุหลง และนางสาวสุริสา สาฆอ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคําสั่งยึดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จํานวน 11 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์ จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึด ดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่ง เป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565