สธ.เผยพบแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนัก-เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในการคาดการณ์ ย้ำสงกรานต์ต้องเข้มมาตรการเพื่อลดการติดเชื้อ แนะผู้สูงอายุ-นักเรียนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมเตรียมลดวันกักตัว 'ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง' เหลือ 5+5 เริ่มอย่างช้า พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ ว่า ขณะนี้ทั่วโลกยังมีการติดเชื้อโควิด-19 สูง จึงยังต้องระมัดระวัง โดยหลายประเทศที่ควบคุมได้ดี มีการผ่อนคลายมาตรการ เริ่มกลับมามีผู้เสียชีวิตในอัตราที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปและประเทศเกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 14 วัน ประมาณ 2 หมื่นกว่าราย ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้าๆ จึงยังต้องเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ทั้งหมดยังเป็นไปตามระดับการคาดการณ์ ที่มีการร่วมมือของประชาชนอยู่ในระดับที่ดี หากคงมาตรการต่างๆ ไว้ได้ ก็จะควบคุมการระบาดได้อย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม หลังเทศกาลสงกรานต์ หากมีการรวมตัวทำกิจกรรมโดยไม่เว้นระยะห่าง หรือหย่อนมาตรการ ก็อาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
สำหรับผู้เสียชีวิตยังเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างเทศกาล และช่วงเดินทางกลับ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองทั้งจากโควิด-19 และอุบัติเหตุ โดยก่อนเดินทางต้องทำตนเองให้ปราศจากเชื้อ (Self Clean Up) ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง ระหว่างสงกรานต์ขอให้เข้มมาตรการป้องกันตนเองตลอดเวลา ผู้สูงอายุควรรับวัคซีนให้ครบก่อนร่วมกิจกรรม และหลังเทศกาล ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หากมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ควรตรวจ ATK หลีกเลี่ยงพบปะผู้คนจำนวนมาก ทำงานที่บ้านตามความเหมาะสม ส่วนการลดอุบัติเหตุให้ใช้มาตรการ 3 ม. 3 ด่าน
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับวัคซีน คือ 1.การเดินทางไปรับวัคซีนลำบาก 2.กลัวผลข้างเคียง และ 3.ลังเลที่จะฉีดเข็มกระตุ้น ดังนั้น ช่วงสงกรานต์ที่ลูกหลานกลับภูมิลำเนา ขอให้ถือโอกาสพาผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ที่บ้านไปรับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกระจายวัคซีนทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าไปถึง รพ.สต. เพื่อให้ใกล้บ้านที่สุด โดยวัคซีนไฟเซอร์ 3 ล้านโดส เป็นรุ่นฝาสีเทาซึ่งเหมาะกับการนำไปฉีดที่รพ.สต. เนื่องจากไม่ต้องผสมน้ำเกลือก่อนฉีด และสามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานขึ้นจาก 4 สัปดาห์ เป็น 8-10 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น จะช่วยลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้มากขึ้น
ส่วนกลุ่มเด็กมัธยมศึกษาอายุ 12-17 ปี ขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นแล้วเช่นกัน จึงแนะนำให้รับวัคซีนก่อนเปิดเทอมช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยสามารถเลือกรับได้ทั้งแบบเต็มโดสหรือครึ่งโดส ซึ่งทั้งสองแบบมีประสิทธิภาพในการเพิ่มภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างกัน แต่การฉีดครึ่งโดสจะมีผลข้างเคียงจากวัคซีนน้อยกว่า โดยกลุ่มเด็กที่สุขภาพปกติ จะฉีดโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ส่วนกลุ่มเด็กป่วยสามารถรับบริการในโรงพยาบาลที่รักษาได้ ขณะที่เด็กประถมศึกษาอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรกไปแล้ว จะฉีดเข็มสองห่างจากเข็มแรกประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเร่งรัดฉีดเพื่อรองรับการเปิดเทอมต่อไป
นพ.โอภาส เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบหลักการลดวันกักตัวกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า การลดวันกักตัวสอดคล้องกับทั่วโลกที่ใช้กัน ซึ่งเราดูตามระยะฟักตัวของโรคหลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยผู้กักตัวไม่ได้แปลว่า ป่วย แต่จะคำนึงว่า สัมผัสใกล้ชิดขนาดไหน ต้องดูความเสี่ยง โดยผู้กักตัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง
จากเดิมใช้มาตรการ 7+3 คือ กักตัวไม่พบผู้อื่น 7 วันและสังเกตอาการ 3 วันออกไปไหนได้ แต่ต้องคงมาตรการใส่หน้ากากอนามัย แต่จากปัจจุบันโอไมครอน ระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น และทั่วโลกการเดินทางจะลดวันกักตัวลงสำหรับผู้เดินทางข้ามประเทศ หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
“คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงเห็นชอบลดมาตรการกักตัวเหลือ 5+5 โดย 5 วันกักตัวแบบ Home Isolation และอีก 5 วันออกไปไหนมาไหนได้ แต่ต้องคงมาตรการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งจากนี้จะมีการเสนอต่อ ศปก.ศบค. และศบค.เห็นชอบ คาดว่าน่าจะใช้ได้อย่างช้าเดือน พ.ค. 2565 แต่ก็ต้องมีการพิจารณาหลังสงกรานต์สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะจากการคาดการณ์สงกรานต์จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่เราควบคุมได้ ซึ่งทั้งหมดต้องเป็นไปตามคาดหมาย การลดวันกักตัวก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้บ้านเรามีการติดเชื้อค่อนข้างสูง และทรงตัว ส่วนที่เข้ามาในประเทศไทยเราพบผู้เดินทางติดเชื้ออยู่ที่ 50-60 คน ซึ่งไม่มากนัก และกลุ่มนี้ไม่ได้มากจนมีผลกระทบต่อการดูแลรักษาในประเทศ หรือสถานการณ์ควบคุมโรค