ชาวบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด เชียงใหม่ ต้านทีมนักวิชาการ ม.นเรศวร เข้าพื้นที่หวั่นซ้ำรอยอ้างชื่อในอีไอเอร้านลาบ พบดอดอ้างโครงการใหม่พัฒนาแหล่งน้ำเข้าหาชุมชน-ผู้ใหญ่บ้านยันจุดยืนมติประชาคมชาวบ้านแม่งูดไม่เอาโครงการผันน้ำยวม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด เปิดเผยว่าตนเองและประชาชนชาว ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อการเร่งรัดผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) ของกรมชลประทาน โดยในช่วงที่ผ่านมามีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) พยายามขอเข้าพบเพื่อประกอบการดำเนินโครงการ แต่ตนและชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านปฏิเสธไม่ให้เข้าพบ เนื่องจากมีที่ผ่านมามีการนำรูปภาพและข้อมูลไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่รู้จักกันในนาม “อีไอเอร้านลาบ"
ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด กล่าวว่าวันนี้ในการประชุมการเสริมสร้างหมู่บ้านพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย ของ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน แต่กลับมีอาจารย์จากมน. มาร่วมประชุมโดยไม่อยู่ในวาระการประชุมแต่อย่างใด ซึ่งในที่ประชุม อาจารย์มน. ได้กล่าวว่าเป็นโครงการศึกษาสร้างการรับรู้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และจ.ตาก เป็นโครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำ 6 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นโครงการที่กรมชลประทานได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาศึกษาปัญหาของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ เช่น ป่าต้นน้ำ ฝายชะลอน้ำ ประปาหมู่บ้าน น้ำแล้ง น้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน อาชีพของกลุ่มแม่บ้าน
“อาจารย์เขาบอกว่า อาจมีความกังวลว่าเป็นโครงการของกรมชลประทาน ที่ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเขามาในพื้นที่นี้ก็ทราบถึงความขัดแย้ง ชื่อของกรมชล ชื่อของ มน. อาจารย์เขาพูดว่าแต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผันน้ำยวม ซึ่งพวกเราไม่เชื่อแน่นอน หากไม่เกี่ยวแล้วเขาจะเข้ามาทำไม เขาเข้ามาหลังจากโครงการผันน้ำยวมถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร” ผู้ใหญ่บ้าน กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอาจารย์จาก มน.ได้ติดต่อนายวันชัยหลายครั้งเพื่อขอมาชี้แจงโดยเฉพาะได้มีการโทรศัพท์มาหาเป็นระยะ ๆ แต่นายวันชัยได้ปฎิเสธพร้อมกับแจ้งเบอร์โทรของอาจารย์ มน.ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนทราบว่าหากมีเบอร์โทรศัพท์นี้เข้ามาไม่ต้องรับสาย นอกจากชาวบ้านแม่งูด ยังมีมติห้ามคณะอาจารย์จาก มน.และทีมกรมชลประทานเข้าพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตามทางอาจารย์จากมน.ได้ประสานไปยังกำนัน ต.นาคอเรือ โดยอ้างว่าอยากมาพบชาวบ้านเพื่อพูดเรื่องแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลน ทำให้กำนันอนุญาต เมื่อทางคณะอาจารย์ มน.ได้พูดในที่ประชุมเสร็จ ทางผู้ใหญ่บ้านได้เชิญให้ออกจากที่ประชุมเพราะไม่มีกิจที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือกลัวว่าจะถูกนำเอาการประชุมนี้ไปแอบอ้าง เช่น เดียวกับการทำอีไอเอร้านลาบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านห้วยแม่งูด จำนวน 149 คน คณะกรรมการหมู่บ้าน เยาวชน ที่ร่วมกันทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรในชุมชน ได้ประชุมเพื่อจัดทำประชาคม และมีมติของหมู่บ้านไม่เห็นด้วยกับโครงการ และมีการยกมือแสดงความคิดเห็น ทุกคนที่อยู่ในชุมชนเข้าร่วมประชุมต่างยกมือไม่เห็นด้วย โดยบันทึกประชาคมพร้อมทั้งรายชื่อทั้งหมด จะนำส่งให้แก่ทางการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบก็เตรียมจัดทำประชาคมหมู่บ้านเช่นเดียวกัน
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้มีโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps)โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีรูปแบบการลงทุนที่โครงการได้พิจารณา 3 รูปแบบ คือ 1 กรณีรัฐดำเนินงานทั้งหมดตามรูปแบบปกติ ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาที่ดิน ลงทุนก่อสร้าง ดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษา รวมถึงการจัดเก็บรายได้ของโครงการ และผู้ใช้น้ำที่ต้องชำระค่าน้ำตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ พศ. 2561 (ประเภทที่ 1 และ 3) 2 กรณีเอกชนจัดหาแหล่งเงินทุนและลงทุนก่อสร้าง รัฐดำเนินงานและบำรุงรักษา ภาครัฐจัดหาที่ดินและมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาแหล่งเงินทุนและการก่อสร้าง และ 3 กรณีการให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ Gross Cost PPP ซึ่งมูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงานและบำรุงรักษา และค่าลงทุนโครงการ อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท