สธ.เผยมีการใช้ 'ฟาวิพิราเวียร์' วันละ 2 ล้านเม็ด ยันมีเพียงพอ สำรองคงคลังทั้งหมด 25 ล้านเม็ด พร้อมกระจายทุกพื้นที่ พร้อมแจงปมยาขาดแคลน เหตุ รพ.ไม่ได้คีย์ข้อมูลลงปัจจุบันจึงเติมไม่ทัน เตือนผู้ป่วยโควิดไม่มีอาการไม่ต้องกินฟาวิฯ ย้ำห้ามให้ร่วมกับฟ้าทะลายโจร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์โควิดปัจจุบันติดเชื้อ 2 - 4 หมื่นรายต่อวัน รวมการตรวจ ATK ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ยารักษา ทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวันที่ 28 มี.ค.2565 มียาคงคลังฟาวิพิราเวียร์ทั่วประเทศทั้งหมด 22.8 ล้านเม็ด ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ยาสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด
ดังนั้น อัตราการใช้จึงอยู่ที่ 10 วัน แต่เรามียาเพิ่มเติมตลอดเวลา และได้มีการกระจายยาในระบบออนไลน์ที่เรียกว่า VMI เมื่อรพ.มีการใช้ยา จะคีย์ข้อมูลลงในระบบว่า ใช้ไปเท่าไหร่ ก็จะปรากฎข้อมูลที่ส่วนกลาง ทำให้ทราบว่าเหลือยาเท่าไหร่ จากนั้นก็จะเติมไปให้ โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดหายาเติมให้
"ใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสูงขึ้น จึงมีการใช้ยาเพิ่มและไม่ได้คีย์ข้อมูลเป็นปัจจุบัน มาคีย์ครั้งเดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่า บางที่มีการใช้ไปเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุให้เติมไม่ทัน แต่ไม่ได้ขาดยา เพราะมีการบริหารจัดการในจังหวัด รพ.ข้างเคียงส่งไปเติมได้" นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า มีการกระจายยาตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงปัจจุบันประมาณ 72 ล้านเม็ด มีการใช้ยาฟาวิฯ 2 ปีมาแล้วราว 200 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนมี.ค. มีการกระจายยาตลอดเวลาทุกสัปดาห์ โดยในการสำรองยาทั้งหมดยังมีสต๊อกส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด รวมแล้วมียาสต๊อกทั้งหมด 25 ล้านเม็ด โดยกระจายตามรพ.ต่างๆประมาณ 22 ล้านเม็ด และอยู่ส่วนกลาง 2.2 ล้านเม็ด
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยา โดยเฉพาะไม่มีอาการ โดยทั้งหมดจะเป็นไปตามแนวปฏิบัติการรักษาของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งยาที่จ่ายไปนั้น ในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ 26% ส่วนฟ้าทะลายโจร 24% และอีก 52% ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากสูตรการรักษา "เจอ แจก จบ" เขตสุขภาพที่ 4 ,5 และ 6
"ยาทุกตัวเป็นสารเคมี แพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่าใครสมควรได้รับตามอาการ เพราะยาอาจส่งผลต่อตับ ไตได้ จริงๆ เมื่อเราได้รับวัคซีนป้องกันโควิด โดยเฉพาะ 3 เข็มก็จะช่วยลดอาการ ทำให้อาการไม่รุนแรงได้ การรับยาจึงต้องเหมาะสมกับอาการเป็นไปตามแพทย์วินิจฉัย ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว หากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หมายความว่าร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ ภายใน 5 วันก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อ คล้ายๆกับการทานยาฟาวิฯ ดังนั้น จึงควรสำรองยาให้กับผู้ที่ควรได้รับยา เพราะบางคนภูมิคุ้มกันอาจไม่ดีพอ จึงต้องใช้ยาไปช่วย" รองปลัด สธ. กล่าว และว่า ที่ผ่านมาเราพบเพียง 0.5% ที่การรักษาแบบเจอ แจก จบ หรือ HI มีอาการรุนแรงสูงขึ้นต้องไปรพ. ดังนั้น ต้องสังเกตอาการหากรุนแรงขึ้นก็จะได้รับช่วยเหลือในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง
นพ.ธงชัย กล่าวย้ำว่า ผู้ป่วยโควิด ไม่ใช่ทุกรายต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องดูตามอาการ อย่าไปเสี่ยงให้ยาเกิดผลกระทบต่อตับต่อไตได้ จึงขอให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เพื่อลดการดื้อยา ลดผลกระทบต่อยา และยังลดค่าใช้จ่ายตัวท่านเองและประเทศชาติ
นพ. ธงชัย กล่าวยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข มียาเตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยทุกท่าน ที่มีความจำเป็นต้องได้รับยา เพราะไม่ใช่ทุกรายต้องได้รับยา โดยแพทย์จะวินิจฉัยและพิจารณาตามอาการ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ทุกท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ขอให้มาฉีด เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันมาสู้กับเชื้อได้ ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตัววัคซีนจะไปกระตุ้นภูมิฯ และกำจัดเชื้อได้ภายใน 5 วัน เมื่อครบ 5 วันให้ตรวจ ATK อีกครั้ง หากเป็นผลลบ แสดงว่าร่างกายที่ได้รับวัคซีนขจัดเชื้อได้แล้ว
"เรามียาหลายตัว ทั้งฟ้าทะลายโจร ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ รวมถึงยาฉีดอย่างแพกซ์โลวิด ที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว แต่สิ่งสำคัญขอให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเป็นดีที่สุด เพราะยาบางตัวก็ทำลายตับ ไตได้ แม้แต่ยาพาราเซตามอล หากกินมาก กินผิดวิธีก็ส่งผลต่อตับ ทำตับล้มเหลวได้เช่นกัน" รองปลัดสธ.กล่าว และว่า ขอย้ำบุคลากรทางการแพทย์ใช้เวลาในการอธิบายการใช้ยากับประชาชนเรื่องการใช้ยา เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
ทางด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด-19 ว่า สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ บุคลากรทางการแพทย์นั้น ได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิคอยพิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งฉบับล่าสุดได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 21 ณ วันที่ 22 มี.ค.2565 โดยสถานการณ์ตอนนี้พบว่าเชื้อโอมิครอน ติดเชื้อได้ง่าย แต่ไม่เกิดอาการรุนแรง จึงต้องปรับแนวทางให้สอดคล้อง
โดยการปรับแนวทางล่าสุด มีประเด็นสำคัญในกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัสที่มีการพัฒนา ดังนี้
-
กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือการแยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์
"ที่สำคัญ ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา" นพ.มานัส กล่าว
- ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ
-
-
อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด คือ ไม่เกิน 5 วัน
-
หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
-
"สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ต้องขอให้เน้นย้ำ เรื่องการให้ยา โดยการให้ยาฟาวิฯ มีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะไตรมาสแรก เพราะอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาการทารกในครรภ์ นอกจากนั้น ในกลุ่มมีปัญหาเรื่องตับ ยาฟาวิฯมีผลได้ และยังมีผลต่อการระคายเคืองทางเดินอาหาร รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ยังทำให้กรดยูริกสูงขึ้น ซึ่งคนไข้ที่มีปัญหากรดยูริก จะทำให้ตับ ไตมีผล ตัวยูริกในร่างกายสูงขึ้น จึงขอย้ำเน้นประชาชนต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวทางเวชปฏิบัติฯที่ออกมา" นพ.มานัส กล่าว
นพ.มานัส กล่าวถึงแนวทางการให้ยาในแต่ละราย ว่า เชื้อโควิด เป็นเชื้อไวรัส ซึ่งหากได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก็จะมีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้การดูแลสุขภาพ พักผ่อนเพียงพอ ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันเราดีได้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี ที่ทำให้ไวรัสลงปอดนั้น เราจัดกลุ่มเสี่ยง 607 บวกหญิงตั้งครรภ์เป็น 608 โดยกลุ่มนี้ อย่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และยิ่งมีโรคประจำตัว แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการทานยา เพราะอย่างยาที่ทานประจำ จึงต้องปรึกษาแพทย์ รวมถึงการทานยาที่มีผลต่อกรดยูริกให้สูง หรือทั้งหญิงตั้งครรภ์ก็จะต้องไม่ให้ยาในไตรมาสแรกเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ต้องปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองการ์เภสัชกรรม กล่าวว่า หลังจาก สธ.มอบให้ทาง อภ.มีการสำรองยา 110 ล้านเม็ดเมื่อปลายเดือน ก.พ.2565 ซึ่ง อภ. ได้ทยอยส่งมอบให้สธ.ประมาณ 80 ล้านเม็ด และอีก 30 ล้านเม็ดจะทยอยส่งต่อเนื่องจนถึงกลางเดือน เม.ย.นี้จะครบ 110 ล้านเม็ด
อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน มี.ค.นี้ สธ.ให้มีการสำรองรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ และแจ้งแผนความต้องการเป็นฟาวิพิราเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ 75 ล้านเม็ด ทาง อภ.จึงได้เตรียมการสำรอง โดยจะมากลางเดือน เม.ย.นี้ และในส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ เมื่อมีการลงนามในสัญญา จะมีการส่งยาภายใน 2 สัปดาห์ อีกประมาณ 10 ล้านเม็ด