ชมรมแพทย์ชนบท เผยยาฟาวิพิราเวียร์ขาดแคลน สร้างความอึมครึมของข่าวสารต่อประชาชน จี้ สธ.แจงให้ชัดเจน เผยคนป่วยได้ยาเร็วช่วยให้โอกาสที่อาการจะหนักลดลง ด้าน 'อนุทิน' ย้ำไทยจัดหาเต็มที่ มีทั้งผลิตเอง-นำเข้าจากต่างประเทศ ยันกระจายไปต่างจังหวัดอย่างทั่วถึง ไม่มีเก็บไว้ในสต๊อก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 เพจเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์การขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์ และข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน จนสร้างความวิตกให้ประชาชนในขณะนี้ ระบุว่า ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนัก ยังไม่เท่าความอึมครึมของข่าวสาร
“ทำไมหมอไม่ให้ยาฟาวิ ยายผม 60 ปีแล้ว มีเบาหวานด้วย”
“ช่วงนี้ยาฟาวิมีน้อยมาก หมอขอสงวนไว้สำหรับคนที่หนักจริงๆนะ”
“โรงพยาบาลห่วยๆ ยาฟาวิก็ยังไม่มี ”
“มันไม่มียาจริงๆ กินฟ้าทะลายโจรไปก่อน ได้ผลเหมือนกัน หากไม่ดีขึ้นมาโรงพยาบาลได้ตลอด”
“ถ้ายายผมพี่ผมเป็นอะไรไป หมอต้องรับผิดชอบ”
นี่คือสถานการณ์จริงหน้างาน สืบเนื่องจากความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติกับฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดแคลนหนัก
สถานการณ์ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนักทั้งประเทศ ยังไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาบ่นดังๆเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2565 และผู้ใหญ่ผู้โตพูดออกสื่อว่า “ไม่จริง ยามีเพียงพอ” แต่ความจริงถ้าลองถามโรงพยาบาลต่างๆดู จะพบว่าช่วงเดือนสองเดือนนี้ ฟาวิมีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย แม้จ่ายยาตามแนวปฏิบัติของกรมการแพทย์ที่ใช้จ่ายเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ยังไม่พออย่างยิ่ง ขาดหนักจนบางพื้นที่ให้เฉพาะคนที่มีภาวะปอดบวมเท่านั้น
ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส ลดการแบ่งตัวของไวรัส งานวิจัยของศิริราชชัดเจนว่า การทานฟาวิเร็วภายใน 2 วันแรกของการเจ็บป่วย จะช่วยให้โอกาสที่อาการจะหนักลดลง ดังนั้นยาฟาวิหากจะให้ได้ผลดี ต้องทานให้เร็ว การมียาเพียงพอจึงจำเป็น
ฟาวิฯ พอไม่พอ ขอให้ สธ.แถลงแบบลงรายละเอียดว่า เหตุที่ฟาวิขาดหนัก การนำเข้าเคมีภัณฑ์สะดุดหรือ องค์การเภสัชผลิตปั๊มเม็ดยาได้สัปดาห์ละกี่เม็ด คงที่ไหม ราคาผลิตเองเม็ดละเท่าไหร่ ข่าวที่ว่าองค์การเภสัชจะเลิกผลิตโดยจะนำเข้าอย่างเดียวจริงไหม ทำไม ขณะนี้นำเข้ามาสัปดาห์ละกี่เม็ด ราคาเม็ดละเท่าไหร่ รวมๆแล้วแต่ละสัปดาห์จะมีฟาวิให้กระจายได้กี่เม็ด จะกระจายอย่างไร เป็นต้น
การขาดแคลนฟาวิพิราเวียร์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือ ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ออกมาบอกความจริงกับสังคมและโรงพยาบาลต่างๆ และร่วมวางแผนกันให้เปิดเผย สิ่งที่ทุกโรงพยาบาลอยากรู้คือ จะได้รับจัดสรรครั้งละประมาณกี่เม็ดและหลังรับจัดสรรแล้วอีกกี่วันจึงจะได้มาอีก จะได้บริหารยาให้เหมาะสมกับจำนวนยาที่มี
ความยากของแพทย์และบุคลากรสุขภาพในปัจจุบันคือ ไม่รู้เลยว่ายาฟาวิที่เหลืออยู่ในมือสมมติว่า มีเหลือ 2,000 เม็ด ซึ่งใช้ได้ 40 คน อีกกี่วันจึงจะได้มาเติม จะได้บริหารยาให้ดีที่สุดในท่ามกลางความขาดแคลน
ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์นั้น แม้จะนำเข้ามาแล้ว แต่มีจำนวนน้อย ราคาแพงกว่าฟาวิมาก การจะขอใช้ยายุ่งยาก จึงไม่อาจนำมาทดแทนฟาวิได้
การยอมรับความจริงและร่วมวางแผนรับสถานการณ์ที่ขาดแคลนอย่างเปิดอกของ สธ. น่าจะดีกว่าการปล่อยให้อึมครึมปล่อยให้พื้นที่ไถๆเอาตามมีตามเกิดแบบนี้นะครับ ไถมาร่วมเดือน ชักจะไถไม่ไหวแล้ว คนไข้ไม่เข้าใจ ก็ทะเลาะกับแพทย์พยาบาลทุกวัน
รอบนี้อย่าบอกนะว่า “ยาฟาวิฯ มีเพียงพอ” ปัญหามีไว้แก้ ขอแค่บอกความจริงกับสังคม แล้วแก้ปัญหาไปด้วยกัน
ในวันเดียวกันนี้ ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นข้างต้นว่า หรับยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีสารตั้งต้นในการผลิตได้เองในประเทศ พร้อมกับมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. รายงานว่า ได้ติดตามดูแลการจัดส่งยาฟาวิไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น เรายังได้จัดหายาตัวอื่นๆ ทั้ง ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตามระดับความรุนแรงของอาการ การใช้ยาต่างๆ ข้างต้นนั้นจะมีแนวทางใช้ตามอาการของผู้ติดเชื้อ
“ยาฟาวิพิราเวียร์ เราได้กระจายอย่างทั่วถึง เราไม่มีทางเก็บยาไว้ในสต๊อกโดยที่ยังมีความต้องการใช้ ทางส่วนกลางจะส่งยาไปที่จังหวัด ทั้งนี้ การบริหารจัดการจะอยู่ในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเรื่องของการประสานงานระดับพื้นที่” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถาม ถึงการประเมินสถานการณ์โรคระบาดในช่วงสงกรานต์ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล โดยประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้ Self-Clean up ตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป เพื่อที่การเดินทางกลับบ้าน หรือไปต่างจังหวัด จะได้เกิดความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงก่อนเดินทางไปพบผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือ วัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) หากใครรับเข็มที่ 3 นานมากกว่า 3 เดือน ให้ไปรับเข็มที่ 4 ได้เลย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นในกรณีการเสนอให้มีการเล่นสาดน้ำในถนนข้าวสาร นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าเรายังมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงหลายด้าน โควิด-19 ไปกับคน ติดได้จากการสัมผัส ใช้ภาระร่วมกัน ดังนั้น การสาดน้ำที่ต้องมีการสนุกสนาน ก็เป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม มาตรการสงกรานต์ปีนี้ ไม่ได้ปิด ยังสามารถพบปะกันได้
นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้อดทนอีกสักปี เรากำลังเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่ไม่ใช่การประกาศไปอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย เราตั้งใจจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ก็พยายามอย่าไปเพิ่มความเสี่ยงในปัจจัยอื่นๆ แล้วเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปได้มาก
เมื่อถามถึงความพยายามจะให้ โควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน ตอบว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงการติดเชื้ออย่างเดียว แต่ยังต้องมีความพร้อมด้านสาธารณสุข จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนการครองเตียง และผู้ป่วยติดเชื้อที่ใช้ท่อช่วยหายใจ ทั้งนี้ ถ้าติดเชื้อหลักแสนราย แน่นอนว่าควบคุมได้ยาก แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดอาการหนัก รักษาหายในเวลาอันสั้น มีระบบสาธารณสุขรองรับ