สธ.ยัน 'ฟาวิพิราเวียร์' มีประสิทธิภาพรักษาโควิด ผลวิจัยชี้รับยาแล้วอาการดีขึ้น 79% วอนอย่าด้อยค่ายา เหมือนตอนวัคซีน หวั่นผู้ป่วยอาจพลาดโอกาสรับการรักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ไทยยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน และมีการระบาดอย่างกว้างขวาง ในฐานะหมอที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็ย่อมต้องหาทาง หายามารักษาผู้ป่วย ซึ่งตั้งแต่เจอโควิดครั้งแรกต้นปี 2563 ตอนนั้นยังไม่รู้จักโรคดี ยังไม่มียารักษา เพราะเป็นโรคใหม่ ทางการแพทย์จึงพยายามนำยาต้านไวรัสต่างๆที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านการรับรองมาใช้ในการช่วยผู้ป่วยโควิด ซึ่งทฤษฎีกลไกยับยั้งไวรัสได้ และพบว่าผู้ป่วยหลายรายมีอาการดีขึ้น จนระยะหลังพบยาฟาวิพิราเวียร์ มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. ไทย ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ก็ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น รวมทั้งสามารถหายามารักษาในไทยได้
สำหรับหลักการในการนำยามารักษาคนไข้ คือ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีผลข้างเคียง และมีความเหมาะสมกับคนไข้ แต่ในกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาต้องมีมากขึ้น อย่างเช่น ยารักษาสามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ ดีกว่าไม่ให้ยาราว 30-40% ถือว่าดีมากแล้ว ปลอดภัย ไม่ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง รวมถึง สถานการณ์การระบาด ความสามารถในการจัดหา ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่สามารถจัดหามาได้ และจากการศึกษาเบื้องต้น จากประสบการณ์การรักษาของแพทย์ พบว่า ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ได้รับยาเร็ว โอกาสอาการรุนแรงลดลง และมีการรวบรวมข้อมูล ประเมินมาโดยตลอด
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่สำคัญเรามีคณะผู้เชี่ยวชาญทำวิจัยเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด-19 ร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ ยกตัวอย่าง การศึกษาของศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
โดยวิจัยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ป่วย 62 ราย ได้รับยาตามสูตรมาตรฐานปกติที่รักษาผู้ป่วย คือ ขนาด 1,800 มิลลิกรัม(มก.) วันละ 2 ครั้งในวันที่ 1 ต่อด้วยขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันต่อมา และกลุ่มที่ 2 จำนวน 31 รายไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วยในโครงการจะได้รับยาเฉลี่ย 1.7 วันหลังเริ่มมีอาการป่วย
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ จะเห็นว่าการให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่ายาฟาวิพิราเวียร์ทำให้อาการดีขึ้น จึงได้ข้อสรุปว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ให้วันละ 1,800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันแรก และต่อด้วยขนาด 800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันต่อมานานอีก 4 วัน เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยได้สำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญกว่าการไม่รับยา
นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับยาอาการจะดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มไม่ได้รับยาอาการจะดีขึ้นเพียง 32.3% กลุ่มที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และวันที่ 13 และวันที่ 28 จะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา จึงเป็นที่มาที่คณะแพทย์มีความเชื่อมั่นการใช้ยานี้ และรูปแบบการใช้ยาก็กินง่าย ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล เพียงแต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยรักษาช้า หรือมีอาการหนัก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีนัก สธ.จึงมีคำแนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ที่มีอาการไม่หนัก และรักษาเร็ว
"ที่ผ่านมารักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยไปเป็นล้านคนแล้ว ขอยืนยันให้เชื่้อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าด้อยค่ายาที่รักษา เคยมีปัญหาด้อยค่าวัคซีน ทำให้หลายคนเสียโอกาสการรับ บางคนกลัวการรับวัคซีน จนหลายรายน่าเสียใจที่ต้องเสียชีวิต เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีน" นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามถึงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น จนทำให้ผู้ป่วยเลือกรับยาหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดว่าฟ้องในลักษณะใด แต่สามารถทำได้ตามสิทธิของหลักรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะแพทย์ต้องนำสิ่งที่ดีที่สุดมารักษาผู้ป่วย ย้ำว่าโควิดเป็นโรคใหม่ ระยะแรกที่ยังไม่มีข้อมูลว่ายาใดรักษาได้ผล แต่เรามีข้อมูลเชิงทฤษฎีว่ายาบางตัวยับยั้งไวรัสได้ ก็ต้องนำมารักษาผู้ป่วยพร้อมทำวิจัยการใช้ยานั้นๆ เป็นข้อดีที่เราสามารถพัฒนาข้อมูลมาใช้ในประเทศได้
“ยืนยันว่า สธ.คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องของการเลือกรับ ต้องเรียนว่าเวลาไปหาแพทย์ คือการไปหาผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีการคุยกัน โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าควรรับยาอะไร การให้ยาแต่ละบุคคลต้องเลือกให้เหมาะสมกับคนที่มีพื้นฐานต่างกัน เช่น บางคนเป็นเบาหวาน ความดัน ต้องดูแลรายบุคคล ดังนั้น จะอยู่กับความเหมาะสม หากเลือกยาเองแล้วไม่ถูก ก็เป็นอันตรายกับผู้ป่วยเอง” นพ.โอภาส กล่าว