เปิดบันทึกกฤษฎีกาถึง ครม.เผย 3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทำผิดซ้ำฯ ชี้ปัญหาการบังคับโทษทางอาญา คือ อำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่าง ศาล-ราชทัณฑ์ ควรแก้กฎหมายให้คำพิพากษามีความศักดิ์สิทธิ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn เผยแพร่หนังสือจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฉบับวันที่ 9 ธ.ค.2564 แจ้งข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.... โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ตามหนังสือที่อ้างถึงความว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงนสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป นั้น
โดยที่กระทรวงยุติธรรมได้มีหนังสือ ขอความอนุเคราะห์เร่งรัดการตรวจพิจารณา บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยได้แก้ใขเพิ่มเติมชื่อร่าง พ.ร.บ.เป็น “พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเทศหรือที่ใช้ความรุนแรง" โดยกระทรงยุติธรรมได้ตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายแล้ว และหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับผลการพิจารณา ต้องจัดส่งให้สภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำหรับหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รมว.ยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานปลัดกระทรวง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานกิจการยุติธรรม) สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้เสนอมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยตรงภายใน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างกฎหมายที่สำนักงานฯ ตรวจพิจารณา
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นี้ ดังต่อไปนี้
1.ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 12/2555 สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า มาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นข้อสันนิษฐานอันมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 11 ที่ว่า "บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยและผู้นั้นได้รับหลักประกันทั้งหลายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี"
อันถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุดิธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมีใช่ผู้กระทำความผิดอาญา เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ และระดับระหว่างประเทส อันได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Poltical Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก
ทั้งนี้ หลักนิดิธรรมเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ จึงมีข้อควรพิจารณาว่า ขนาดเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รัฐธรรมนูญยังห้ามมิให้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด และการควบคุมหรือคุมขังก็ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น ดังนั้น มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษและมาตรการคุมขังฉุกเฉินตามร่าง พ.ร.บ.นี้จึงอาจขัดแย้งกับมาตรา 26 มาตรา 28 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ
2.เมื่อได้พิจารณามาตรการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่จะนำมาใช้กับผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษเด็ดขาดก็ตาม มีประเด็นที่กระทบสิทธิและเสรีภาพบุคคลค่อนข้างมาก ซึ่งมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยร่างกฎหมายตังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่ควรยึดถือ ไม่ใช่มุ่งแต่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมาตรการตามร่างกฎหมายนี้เป็นเรื่องของวิธีการเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น การที่จะแยกหลักการเรื่องนี้ออกมาจากประมวลกฎหมายอาญาจะทำให้ความเป็นเอกภาพของกฎหมายอาญาตามระบบมีปัญหาได้และหากจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องนี้ คงต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงทั้งประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย เนื่องจากวิธีพิจารณาความอาญาก็คือเงาของกฎหมายอาญาที่ต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ แนวทางการยกร่างกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างเป็นหลักสากลที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อการบังคับโทษ (prison law) ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยมีการเรียนการสอนและไม่ใช่ประเด็นการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด ดังนั้น หากศึกษาให้ดีและปฏิบัติการตามกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้อย่างลึกซึ้งแล้วแทบจะไม่จำเป็นที่จะมีกฎหมายตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เลย สมควรปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น น่าจะเหมาะสมกว่า
3.ปัญหาสำคัญของการบังคับโทษทางอาญา คือ อำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่าง ศาลและกรมราชทัณฑ์ ในขณะที่ศาลมีอำนาจทำคำพิพากษาให้จำคุกได้ตามดุลพินิจของศาล แต่กรมราชทัณฑ์กลับลดโทษและพักการลงโทษที่ศาลพิพากษาไว้ได้เช่นกัน ทำให้ผู้กระทำความผิดถูกจำคุกจริงไม่ถึงตามระยะเวลาที่ศาลพิพากษาไว้
กลายเป็นคำพิพากษาของศาลถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายบริหารได้ เป็นปัญหาอำนาจที่ย้อนแย้งกัน ควรแก้ไขกฎหมายให้คำพิพากษาของศาลมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักประกันให้กับสังคมได้ มากกว่าที่จะออกร่าง พ.ร.บ.นี้ เพราะหากไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด แม้ออกร่างกฎหมายนี้ไปแล้วก็จะไม่อาจบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาวางนโยบายในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ