กลุ่มผู้นำฝ่ายค้านในสภา จัดเวทีฟังปัญหาประชาชน ย้ำหมดเวลา ‘ประยุทธ์’ อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีที่เปิดสภา พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กทม. กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2565 ในชื่อ ‘ฝ่ายค้านรับฟังปัญหาทั่วไทยเพื่อประชาชน’
โดยมีเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชน หัวข้อ ‘หมดเวลานายกฯ ก่อนประเทศหมดเวลา’ นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร , นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย , นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล , พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย , นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ , นายเทวกฤต พรหมมา รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ , นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการ
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คิดอยู่นานว่านายกรัฐมนตรีหมดเวลา แต่เขาบอกยังมีเวลาถึงปี 2566 ซึ่งเราคงรออีกนาน แต่ตนมองว่าเราไม่ควรให้เวลานายกรัฐมนตรีคนนี้มาตั้งแต่แรก เหตุผลเพราะมาจากรัฐประหารปี 2557 ที่เป็นการสมคิดคิดกับกลุ่มการเมือง เพื่อยึดอำนาจปกครองประเทศ เอารัฐบาลประชาธิปไตยออกไป ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทราบดีว่า ตนเข้ามารัฐประหารว่าความถูกต้องชอบธรรมไม่มี เป็นรัฐบาลทำลายระบอบประชาธิปไตย จึงใช้คำพูดว่า ขออยู่ไม่นาน และแต่งเพลงออกมา อยู่ไปอยู่มาแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตำแหน่งมันหอมหวาน และคิดอยู่ยาวสืบทอดอำนาจต่อไป แต่จะใช้ระบบเผด็จการหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งโลกไม่ยอมรับ จึงสร้างรัฐธรรมนูญที่มีกลไกที่ดูเหมือนประชาธิปไตย แต่ความจริงคือการสืบทอดอำนาจ ผ่านการสร้างรัฐธรรมนูญปี 2660 และทำประชามติซ้อนว่าต้องนายกรัฐมนตรีคนนอก ส.ว. 250 คนเลือก และบีบบังคับห้ามรณรงค์ออกเสียงประชามติ
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่องค์กรอิสระไม่มีวินิจฉัยผลร้ายแก่ พล.อ.ประยุทธ์ นี่คือความเป็นมาของรัฐบาลชุดนี้ จนอยู่มา 7 ปี จะครบ 8 ปี 23 ส.ค.2565 เรามีความสุขแล้วหรือกับรัฐบาลแบบนี้ เรามีอะไรที่เป็นความสุขบ้าง มีเพียงนายทุนขนาดใหญ่ทั้งหลายรวยเอาๆ แต่ประชาชนกลับไม่เคยมีความสุข ทั้งข้าวของแพง หนี้สาธารณะชนชนเพดานจนต้องขยายเพดาน ภัยพิบัติทั้งหลาย การระบาดโควิด การทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูปการเมืองไม่มีอะไรคืบหน้า มีแต่การเมืองแบบแจกกล้วย การแตกแยกในบ้านเมือง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคู่ขัดแย้งในสังคมเสียเอง ดังนั้นในเดือน พ.ค.นี้ เปิดสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ทันที
ด้านนายพิจารณ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างกีดกันพรรคเพื่อไทย ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเป็นการเลือกตั้งบัตรใบเดียว และมีสูตรคำนวนพลิกผัน และมีการแจกกล้วย ร่างเพื่อพล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเปรียบเป็นตาข่าย 2 ชั้น ส่วนวาระ 8 ปี เป็นตาข่ายที่ 3 ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนใดอยู่นานไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีสำนึกด้วย หลักสากลผู้นำอยู่อำนาจนานมีแนวโน้มไร้ธรรมาภิบาล แทรกซึมระบบข้าราชการ องค์กรอิสระต่างๆ ดังนั้นควรลาออกก่อนถึง ส.ค.นี้ ก่อนจะมีใครยืนตีความรัฐธรรมนูญ
นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศบอบช้ำมามากแล้ว เราต้องการผู้นำเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เข้าใจปัญหาประชาชนสื่อสารด้วยความเข้าใจกัน ทันยุคทันสมัย นำเทคโนโลยีบริหารประเทศ และบริการภายใต้สถานการณ์วิกฤต ต้องการผู้นำพลเมืองโลกเคารพสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาคุกคามนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวที่เห็นต่าง ม.112 กว่า 190 คน ซึ่งดัชนีทุจริตตกลงเรื่อยๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญปราบโกง บริหารโควิดล้มเหลวธุรกิจมากมายเปิดตัวลงคนตกงานมากมาย กู้เงินมากที่สุดแต่ไม่เห็นผลงานจากการใช้งบประมาณ และยังเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ภายใต้รัฐบาลนี้ สุดท้ายนี้คือขนวนระเบิดเวลามาตรา 272 วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่รอศาลรัฐธรรมนูญจุดชนวนระเบิดเวลา ดังนั้นนายกฯ ควรลาออกไป
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ร่างกายหมดสภาพ ความรู้ไม่มี ความดีไม่ปรากฏและพรรคยังแตก ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงมี 2 ทาง คือ ไม่ยุบสภา ก็ต้องลาออก เพราะถ้ามาเจออภิปรายเดี๋ยวร่วง แต่ยืนยันว่าการันตีได้เลยว่า เลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน ซึ่งในการอภิปรายครั้งหน้าขอฝากให้พรรคร่วมฝ่ายค้านดูแลอย่าให้ใครเป็นงูเห่าเพิ่มอีก ตนเห็นใจพรรคใหญ่ที่คุมยาก ตนเป็นพรรคเล็กไม่กี่คนคุมง่าย พร้อมทั้งอยากให้ช่วยกันดีลฝ่ายรัฐบาลให้ได้ก็จะดี ซึ่งตนกำลังพยายามอยู่แต่ไม่มีเงิน จึงพยายามได้พูดคุยเข้ามาเป็นพวกเท่านั้น