สธ.เปิดหลักเกณฑ์ UCEP Plus ย้ำกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเหลือง-แดงยังรักษาฟรีทุกที่ ส่วนกลุ่มไม่มีอาการ รักษาฟรีตามสิทธิ์-โครงการ 'เจอแจกจบ' ย้ำหากเข้าโรงพยาบาลเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เริ่ม 16 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลง UCEP COVID Plus และการเข้ารับบริการตามสิทธิ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีผู้ป่วยโควิด-19 (UCEP Plus) ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป โดยให้ผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย หรือกลุ่มสีเขียว กลับไปรักษาตามสิทธิที่มี เนื่องจากขณะนี้ โควิด-19 ลดระดับความรุนแรงของโรค
ส่วนกรณีที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ในกลุ่มสีเหลือง และสีแดง จะสามารถใช้สิทธิฉุกเฉิน วิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป ที่สามารถไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และรักษาจนกว่าจะหาย
นพ.ธเนศ กล่าวว่า UCEP ปกติ คือฉุกเฉินวิกฤต อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหัวใจฉุกเฉินหยุดเต้น ระดับสีแดงอันตรายถึงชีวิตข้ารักษา โรงพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน โดย โรงพยาบาลต้องรักษาจนพ้นวิกฤต หรือภายใน 72 ชั่วโมงส่งกลับต้นสังกัด โรงพยาบาลไปตามจ่าย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรียกเก็บจาก สปสช. ที่เห็นชอบเมื่อวาน UCEP Plus กรณีโควิด-19 คือมีอาการมากระดับสีเหลืองสีแดง เข้ารักษา โรงพยาบาลใดก็ได้ และรักษาจนหาย
สำหรับข้อดี คือ การรวมผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ที่สามารถอยู่รักษาจนหายไม่ต้องหา โรงพยาบาลเพื่อส่งต่อ เพื่อความสะดวกของประชาชน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ประชาชนไม่ต้องควักจ่าย โดยจะมีการคัดกรองผู้ป่วยซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลนั้นๆ ที่จะคัดแยกระดับความฉุกเฉิน และแจ้งผลให้แก่ญาติของผู้ป่วยรับทราบ และนำเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เว้นแต่ว่า ญาติของผู้ป่วยปฏิเสธที่จะให้ไปรักษาตามสถานที่ที่กำหนด หากญาติหรือผู้ป่วยประสงค์ไปรักษาที่อื่นเอง จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
"โครงการดังกล่าวคงจะทำให้ โรงพยาบาลสามารถมีพื้นที่ดูแลกลุ่มผู้ป่วยหนักจริงๆ และสามารถให้บริการอื่นๆ ได้ในอนาคต ซึ่งจะมีผลในวันที่ 16 มี.ค.นี้เป็นต้นไป โดยย้ำว่า ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง รักษาฟรีทุกที่" นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว หากต้องการเข้ารักษาใน โรงพยาบาลเอกชน หรือ นอนในฮอสปิเทล (Hospitel) จะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ว่า ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวนั้น หากหลังวันที่ 16 มี.ค.เป็นต้นไป การรักษาจะต้องไปตามสิทธิ หาก โรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่คู่สัญญากับประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง
แต่โดยรวมขณะนี้ ที่ยังมีสิทธิอยู่ก็ยังสามารถไปได้ทุก โรงพยาบาล แต่นโยบายของ สธ.เองก็ชัดเจนที่จะให้รักษาที่บ้าน (HI) หรือเป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความรวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่รักษาแบบ เจอ แจก จบ สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้หรือไม่ เพื่อนำไปเบิกเงินจากบริษัทประกัน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ โดยในใบจะรับรองว่าเจ็บป่วยด้วยโรคนี้จริง และรักษาด้วยระบบอะไร ส่วนการนำไปเบิกประกันนั้น ต้องเป็นไปตามสัญญาในกรมธรรม์ บางอย่างก็ครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน แต่สถานพยาบาลสามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ได้
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย UCEP เดิมเราใช้กรณีฉุกเฉินวิกฤต เช่น หมดสติไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น หายใจหอบเหนื่อย อาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน กลุ่มอาการหลัก UCEP แต่ทั้งหมดเป็นกรณีไม่มีผลตรวจโควิด ใช้ได้ทั้งอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกกรณี สพฉ.จัดทำเกณฑ์ประเมินฉุกเฉินวิกฤตกรณีโควิดเพิ่มเติมจากเดิม 25 กลุ่มอาการ เพิ่มเป็น 26 อาการ
"โดยหลักๆ จะต้องมีการตรวจพบผล ATK เป็นบวก หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ มีภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดตันทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง หรือมีอาการชัก เป็นต้น หรืออาจจะมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีภาวะหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ มีภาวะออกซิเจนในเลือดก่อนที่จะได้รับออกซิเจน น้อยกว่าร้อยละ 94 หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามความเห็นแพทย์ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอายุสูงกว่า 60 ปี โรคประจำตัวอื่นๆ โดยแพทย์ที่ทำการรักษาจะเป็นผู้คัดแยก ทั้งนี้ เงื่อนไขในการใช้บริการ UCEP Plus จะให้เป็นไปตามที่สถานพยาบาลกำหนด” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนของการใช้บริการจะเหมือนกับ UCEP ปกติทุกประการ โดยอาจจะโทรศัพท์ไปที่สายด่วน 1669 และมีรถไปรับเข้า โรงพยาบาลของรัฐ จะเข้าสู่ระบบปกติของรัฐอยู่แล้ว แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชน ก็จะเข้าสู่ยูเซ็ป พลัส โดย โรงพยาบาลจะประเมินเบื้องต้น และแจ้งอาการเข้าไปที่ สพฉ. หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถใช้สิทธิได้ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ เว้นแต่ว่าจะมีอาการแย่ลงถึงจะใช้ได้
ทั้งนี้ สพฉ.ได้เตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไว้ กรณีมีข้อสงสัยประการใดในเรื่องของการใช้สิทธิ หรือเข้าไป โรงพยาบาลแล้ว ไม่ได้รับสิทธิ อาจจะประสานไปยังศูนย์คุ้มครองฯ นี้ ผ่านโทรฯ 0 2872 1669 รวมถึงสถานพยาบาลสามารถใช้หมายเลขในการประสานงานเรื่องการกรอกข้อมูลในโปรแกรมได้เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคอะไร ยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ เดิมมีบริการยูเซ็ป โควิด (UCEP Covid) แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป และในระบบยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ จึงเกิดยูเซ็ป พลัส ขึ้น หากผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถไปรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกยังสถานพยาบาลตามสิทธิได้ทันที และสามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ก็สามารถไปรักษาที่ โรงพยาบาลใดก็ได้เช่นกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในบางกรณีอาการกลุ่มเขียวอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โรงพยาบาลที่รักษาอยู่อาจจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลอื่นๆ โดยประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และจะทำการรักษาจนกว่าจะหาย อย่างไรก็ตาม หากรายใดไปใช้สิทธิและมีการเรียกเก็บค่ารักษา สามารถโทรฯ ร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1330
“การรักษาที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 16 มีนาคมนี้ รัฐบาลยังดูแลค่าใช้จ่ายให้ท่านทุกกรณี เปลี่ยนแปลงนิดเดียวเพียงแค่ หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวให้ไปรักษาตามสิทธิเท่านั้นเอง” ทพ.อรรถพร กล่าวย้ำ
ทพ.อรรถพร กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาคู่สาย 1330ว่า หลังจากที่เพิ่มคู่สาย และระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วย ขณะนี้คู่สายที่ สปสช.เตรียมไว้มีประมาณ 3,200 คู่สาย และเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสายโทรเข้า 44,447 สาย สำหรับส่วนที่กังวลคือ เมื่อมีโทรศัพท์เข้ามา และเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับสายอยู่ที่ 13% แต่ก็ยังสูงกว่าที่เตรียมการไว้
"ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามีหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ ไลน์ของ สปสช.เพื่อบันทึกข้อมูลเอง โดย สปสช.จะทำการจับคู่ไปยังสถานบริการที่สามารถให้บริการได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ที่ท่านสามารถเดินทางไปรับบริการได้ทันที ภายในสัปดาห์นี้ 1330 จะโทรฯ กลับไปหาผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับทุกราย เพื่อซักถามอาการ และจัดส่งยาไปให้ตามความจำเป็น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ขอยืนยันว่า ระบบ HI ยังคงมี หากไม่ใช่กลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนครบ ท่านอาจจะรักษาอยู่ที่บ้าน หรืออาจจะไปยัง โรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้เช่นกัน” ทพ.อรรถพร กล่าว