สธ.เผยสถานการณ์โควิดยังน่าห่วง เส้นกราฟผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจขยับเพิ่ม คาดผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจจะมากกว่า 5 หมื่นรายเป็น 2 เท่าตัว หากไร้มาตรการเข้มงวด เร่งฉีดวัคซีนโควิดผู้สูงอายุให้ได้ก่อนสงกรานต์ ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศว่า สำหรับการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 มี.ค. 2565 พบว่า ขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนเกือบทั้งหมด โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดในประเทศอื่นๆ ด้วย สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 21,966 ราย วันนี้วันเดียวที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน RT-PCR 23,834 ราย
อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โอไมครอนก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเดลต้าแน่นอน แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมอยู่ใน รพ. จำนวน 184 ราย เมื่อวานนี้มี 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้น แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ด้วยยังมีผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานการณ์มีการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตอยู่" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลการเสียชีวิต 2เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ.2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 928 ราย โดยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็น 75% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 60% มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 8% มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 29% และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 2%
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากความเสี่ยงเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนกับไม่ได้รับวัคซีน พบว่า คนที่ไม่ได้รับวัคซีนที่เป็นผู้สูงอายุมีประมาณ 2.17 ล้านคน ซึ่งมีการเสียชีวิต 557 คน คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 257 ต่อล้านคน รับ 1 เข็ม อัตราเสียชีวิต 133 ต่อล้านคน ได้รับวัคซีน 2 เข็ม อัตราเสียชีวิต 43ต่อล้านคน เสียชีวิตลดลงถึง 6 เท่า และรับวัคซีน 3 เข็ม โอกาสเสียชีวิตลดลงถึง 41 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่าใกล้เคียงกับตัวเลขของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา(CDC) จึงเป็นที่มาที่กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นย้ำการรับวัคซีนในผู้สูงอายุ และหากรับวัคซีนมา 2 เข็มเกิน 3 เดือนขอให้ไปรับเข็มกระตุ้น
“ในกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนไปแล้วคิดเป็น 83% แม้จะมาก แต่ยังมีอีก 17% ยังไม่ได้รับวัคซีน ในจำนวนนี้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 10.5 ล้านคน เป็นการรับเข็ม 2แล้ว ราว 9.9 ล้านคน ได้รับเข็ม 3 กระตุ้นแล้ว 3.9 ล้านคน แสดงว่ายังไม่ได้รับเข็ม 3 อีกราว 6 ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุอีกราว 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิต จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ”นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังเร่งรัดฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ ทั้งการค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการเชิญชวน ทำงานอย่างหนักทุกภาคส่วน เพื่อเชิญชวนผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ลำปาง สำรวจความต้องการวัคซีนเข็ม 3 ของประชาชนในพื้นที่ 8.6 หมื่้นคน พบว่า ไม่ต้องการฉีด 29}418 คน คิดเป็น 37.8 % เนื่องจากกังวล กลัวผลข้างเคียง กลัวตาย 21.1% และคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว 14.3 % ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด และลังเล อยู่ระหว่างตัดสินใจ 5.8%
“ผู้สูงอายุไทยกว่า 2 ล้านคนเสี่ยงเสียชีวิตหากจิดโควิดโอมิครอน เนื่องจากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จึงควรพาผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน หากฉีดเข็ม 1 แล้วต้องเข้ารับเข็ม 2 ตามนัด และหากรับเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว ต้องรีบฉีดเข็ม 3 โดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีลูกหลานกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่”นพ.โสภณกล่าว
นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวรายงานการประเมินสถานการณ์การระบาดโควิดก่อนสงกรานต์ว่า จากฉากทัศน์ที่มีการนำเสนอที่ผ่านมา สถานการณ์ขณะนี้น่าเป็นห่วง อย่างเส้นกราฟผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น จากฉากทัศน์ทั้ง 3 ฉากทัศน์ มีโอกาสขึ้นเป็นฉากทัศน์สูงสุดได้ จึงต้องเข้มมาตรการทั้งหมด รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และจะทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินศักยภาพของระบบรักษาพยาบาล คาดว่า จุดสูงสุดการระบาดที่ทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค.
นพ.โสภณ กล่าวถึงยอดผู้ติดเชื้อจะยังสูงขึ้นตามที่คาดการณ์หรือไม่และในช่วงสงกรานต์ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ว่า ถ้าเราดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ พบว่า อยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เส้นล่างสุด หรือเส้นเขียวจะไม่เป็นจริงแล้วในเวลานี้ หากดูจากการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในไทย ซึ่งมีโอกาสเป็นเส้นของสีเหลืองและแดง ถ้าเป็นเส้นสีเหลืองจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่ม และน่าจะอยู่ประมาณ 50,000 กว่าราย ในช่วงหลังสงกรานต์ ประมาณวันที่ 19 เม.ย. 2565
“และหากไม่สามารถคงมาตรการที่เข้มงวดได้ ก็อาจจะมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50,000 รายต่อวัน แต่เชื่อว่า ถ้าเราสามารถจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ ก่อนถึงสงกรานต์เราจะเห็นจุดสูงสุดของการระบาดก่อนหน้านั้นได้ แต่ตอนนี้เป็นการคาดการณ์ที่ปกติทั่วไป” นพ.โสภณ กล่าว
เมื่อถามต่อว่า อัตราการติดเชื้อวัยไหนสูงสุด และการติดเชื้อในเด็กเป็นอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า จริงๆ ข้อมูลที่แจกแจงหากดูเป็นระลอก จะพบว่า ตัวที่เป็นร้อยละของการติดเชื้อในเด็กสูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับระลอกก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และเด็กในช่วง 0-2 ปี ติดเชื้อร้อยละ 2.4 วัย 3-4 ติดเชื้อร้อยละ 1.8 วัย 5-11 ติดเชื้อ 7.6% และวัย 12-17 ติดเชื้อ 6.6% ซึ่งสูงกว่าการระบาดในรอบที่แล้ว แต่กลุ่มอายุ 5-11 ปีนี้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อในครอบครัวได้
นพ.โสภณ กล่าวตอบคำถาม 'เจอ แจก จบ' ตาม รพ.มีการจำกัดการรักษา มีวิธีการรับมืออย่างไร ว่า นโยบายนี้ทาง รพ.จะเปิดโอกาสให้ผู้ติดเชื้ออาการน้อยเข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น ดังนั้น หัวใจสำคัญคือการกระจายกันไปรักษาใน รพ.ที่รับรักษาได้ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดเวลาไปรอ และมีโอกาสเสี่ยงแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายไปยัง 14 จังหวัด โดยรอบ ประชาชนสามารถกระจายไปตรวจรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านได้
ทางด้าน ทพ. อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้ปรับระบบสายด่วน 1330 เพิ่มคู่สาย 3,000 คู่สาย เพิ่มเจ้าหน้าที่รับสาย เพิ่มช่องทางลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์และไลน์ @nhso รวมถึงเพิ่มจิตอาสาเข้ามาช่วยตอบปัญหา จากเดิมที่มีผู้ป่วยตกค้างรอสายกว่าครึ่ง ขณะนี้เหลือที่คงค้างประมาณ 1 ใน 4 แต่เจ้าหน้าที่พยายามทะยอยโทรกลับ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอาการเข้ามาร่วมเพิ่มอีก 200 คู่สาย เชื่อว่าสถานการณ์ผู้ตกค้างจะลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้เพิ่มบริการให้ผู้ป่วยอาการน้อยและไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถเข้ารักษาในระบบผู้ป่วยนอกโดยสามารถติดต่อเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิและสถานพยาบาลที่ร่วมในระบบได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย