สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4 แถลงชี้มูล 'ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ' นายก อบจ.เลย-พวก ซื้ออุปกรณ์ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานงบ 5 ล้านบาท วิธีพิเศษ ไม่เป็นตามระเบียบ กำหนดคุณลักษณะเฉพาะเอื้อประโยชน์ให้องค์การค้าของ สกสค.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 แถลงข่าวว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ได้มีการนำผลคดีสำคัญหรือเป็นที่สนใจของสังคมในเขตพื้นที่ภาค 4 หรือภาคอีสานตอนบน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและในการกำกับดูแล มาเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเพื่อประโยชน์ ในการป้องปรามการทุจริตและเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น
ในการนี้ มีคดีสำคัญที่สื่อมวลชนติดตามความคืบหน้า ที่สมควรแถลงให้ทราบคือเรื่องกล่าวหา นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย กับพวก ว่าจัดซื้ออุปกรณ์ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน งบประมาณ 5,000,000 บาท เพื่อมอบให้โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยา อ.วังสะพุง จ.เลย ด้วยวิธีกรณีพิเศษ กับองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการและมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะที่เอื้อประโยชน์ให้องค์การค้าของ สกสค. ที่ทำสัญญาฝากขายไว้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฎพยานหลักฐานฟังได้ว่า
1. อบจ.เลย ได้จัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วงเงิน 5,000,000 บาท โดยใช้รายละเอียดจากใบเสนอราคาขององค์การค้า สกสค. มาใช้ประกอบในโครงการเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และได้รับการจัดสรรงบเงินอุดหนุน 5,000,000 บาท ตามที่เสนอขอ กระทั่งดำเนินการซื้ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ตามโครงการจากองค์การค้า สกสค. 5,000,000 บาท โดยการขอสนันสนุนดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากความต้องการของโรงเรียน
2. ในขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างต้องถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 20 ที่ว่า “ก่อนดำเนินการซื้อหรือจ้างทุกวิธี ให้เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายงานเสนอผู้สั่งซื้อหรือผู้สั่งจ้าง” และข้อ 22 ที่ว่า “เมื่อผู้สั่งซื้อหรืผู้สั่งจ้างให้ความเห็นชอบตามรายงานที่เสนอตามข้อ 20 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่พัสดุดำเนินการตามวิธีการซื้อหรือการจ้างนั้นต่อไปได้” แต่นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายก อบจ.เลย กับพวก หาได้กระทำตามขั้นตอนเช่นนั้นไม่ กลับอนุมัติให้จัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษกับองค์การค้า สกสค. ตามข้อ 22 โดยมิได้มีรายงานเสนอผู้สั่งซื้อหรือผู้สั่งจ้าง ตามข้อ 20 อันเป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอน ไม่ชอบด้วยระเบียบดังกล่าว
3. นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 5,000,000 บาท จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 15 ที่ว่า “การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีประกวดราคา ได้แก่ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 200,000 บาท” และข้อ 38 ที่ว่า “การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีประกวดราคา ให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ มีหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมดูแล และจัดทำหลักฐานการเผยแพร่ข่าวและการปิดประกาศประกวดราคาภายในระยะเวลาที่กำหนด ... ทั้งนี้ แม้การจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในวิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยต้องดำเนินการจัดซื้อให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 19 ประกอบข้อ 52 ที่ว่า “(1) เป็นผู้ผลิตพัสดุหรือทำงานจ้างนั้นเอง
(2) มีกฎหมายหรือมติ ครม. กำหนดให้ซื้อหรือจ้าง และกรณีนี้ให้รวมถึงหน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายหรือมติ ครม.กำหนดด้วย”แต่นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ หาได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวไม่
4. กรณีที่จะได้รับสิทธิพิเศษตามมติ ครม. โดยไม่ต้องใช้วิธีสอบราคาหรือประกวดราคา และสามารถจัดซื้อจัดจ้างกับองค์การค้า สกสค.โดยตรงนั้น จะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่องค์การค้า สกสค. ได้รับสิทธิตามนัยมติ ครม.เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2524,วันที่ 11 กันยายน 2527,วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 รวม 4 ประการ
(1) สิทธิพิเศษในการจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ตามแบบที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำหนด ที่องค์การผลิตออกจำหน่ายได้โดยตรง ฯลฯ
ในส่วนนี้ พบข้อเท็จจริงว่าองค์การค้า สกสค. ดำเนินการในลักษณะเป็นผู้รับฝากขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง องค์การค้า สกสค. ไม่ได้เป็นผู้ผลิตออกจำหน่ายเองโดยตรง จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษตามมติ ครม.ดังกล่าว ดังนั้นการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ของ อบจ.เลย จึงไม่อาจจัดซื้อด้วยวิธีกรณีพิเศษได้ จะต้องจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคา นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อตกลงทางการค้าระหว่างบริษัทเอกชนกับองค์การค้า สกสค. คือบริษัทจะจ่ายให้องค์การค้า สกสค. 5 % คิดเป็น 250,000 บาท จากการที่ อบจ.เลย ตกลงซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว 5,000,000 บาท จึงเป็นเหตุให้ อบจ.เลย ได้รับความเสียหาย ต้องจ่ายเงินที่ ไม่สมควรจ่าย เป็นเงิน 250,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติ
1. นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายก อบจ.เลย มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดอันอาจเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
2. นายเยี่ยมยรรยง อ่อนโก้ก หัวหน้าสำนักปลัด อบจ.เลย,นางศิริพร สีดาราช,นางทองดี ศุภสาร, นางสาวฉวีวรรณ บัวระภา มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงานการไต่สวน คำวินิจฉัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังอัยการสูงสุด ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน และผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
สำหรับ นายธนาวุฒิ เป็นสามี นางใยอนงค์ ทิมสุวรรณ มีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี