โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเด็กที่ผู้ปกครองแสดงความประสงค์ เพื่อลดการติดเชื้อ-สนับสนุนการเรียนออนไซต์ พร้อมจัดสนามสอบพิเศษ ย้ำนักเรียนไทยไม่เสียโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เนื่องจากมีความห่วงกังวลแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในสายพันธุ์โอไมครอน แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา แต่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีการเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่เล็งเห็นถึงประสิทธิภาพและความสำคัญสูงสุดของรูปแบบการเรียนในแต่ละองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์ การพัฒนาร่างกาย และจิตใจ
เมื่อเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) นั้นทำให้อาจมีความใกล้ชิดร่วมกับบุคคลรอบข้าง คุณครู เพื่อนร่วมชั้นเรียน และบุคคลอื่นๆ ซึ่งผลการให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็กช่วงอายุ 5 - 11 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. 2565) ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วกว่า 754,990 ราย และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 16,369 ราย
กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น พบในช่วงอายุ 3 -11 ปี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเด็กช่วงอายุ 5 – 11 ปี เพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันรวมไปถึงมีการเปิดเรียนในโรงเรียนบางแห่ง โดยอาการปกติของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้ประมาณ 5 วัน ซึ่งแพทย์จะสังเกตอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการจนครบ 14 วัน
โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคในเด็กพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในเด็กนั้นไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัด แต่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมอง หัวใจ มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จากการสำรวจเตียงในเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UhosNet) กรมการแพทย์ พบว่ามีมากกว่า 500 เตียง
นายธนกร กล่าวว่า ในส่วนของการเข้ารับการรักษาในเด็ก เบื้องต้นจะมีการคัดกรองประเมินระดับความรุนแรงตามอาการของผู้ป่วย หากเด็กมีอาการไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ไม่มีอาการซึม สามารถรับประทานอาหารได้ มีผู้ดูแล และภายในที่พักอาศัยมีห้องน้ำแยก จะสามารถเข้ารับการดูแลในรูปแบบของ Home Isolation (HI) หรือรักษาที่บ้านได้โดยมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง มีการส่งเครื่องมือวัดไข้ เครื่องมือวัดออกซิเจน ยา ถุงขยะติดเชื้อ อาหาร รวมทั้งของเล่นให้เด็กด้วย
สำหรับเด็กที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว มีระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วน้อยกว่า 96% ให้รีบไปพบแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้าน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อเยาวชน โดยเฉพาะสนับสนุนพัฒนาการด้านการศึกษา และสุขภาพควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
"ขอให้เน้นย้ำการดูแลผู้ป่วยเด็กให้ปลอดภัย ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยต้องขอชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ทุ่มเทต่อการดำเนินงานเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาโดยตลอด" นายธนกร กล่าว
นอกจากนี้ นายธนกร เปิดเผยต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เน้นย้ำนักเรียนจะต้องไม่เสียโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2565 ภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างเข้มข้น
ขณะนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ข้อสรุปยืนยันให้สิทธิ์เด็กนักเรียนติดเชื้อโควิดอาการเล็กน้อยและกลุ่มมีความเสี่ยงสูงได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคน โดยจัดสนามสอบที่กำหนดเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าสอบที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการสอบโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเดินทางมายังสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุข หรือจากสนามสอบจัดให้เท่านั้น
นายธนกร กล่าวอีกว่า การจัดสอบตามหลัก VUCA ผู้สอน ผู้จัดสอบ ต้องได้รับวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดการสัมผัส และเว้นระยะห่าง สถานที่จัดสอบ ต้องดำเนินการตามมาตรการ COVID Free Setting อีกทั้ง ผู้สอบ ผู้จัดสอบ ต้องประเมินความเสี่ยง และควรตรวจ ATK เมื่อมีอาการและมีความเสี่ยงสูง ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ทุกคน พร้อมขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับ หน่วยงานด้านการศึกษาในจังหวัด และผู้จัดสอบในพื้นที่ต่างๆ ดำเนินการจัดการสอบให้ เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด
สนามสอบต่างๆ จะต้องเข้มมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด ให้มีพื้นที่แยก สำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วนแยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มผู้ติดเชื้อ และในส่วน กทม. แลปริมณฑล ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ไปยังสถานที่สอบหรือศูนย์พักคอยต่างๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเรียนที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่วง มี.ค.นี้ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดอีกด้วย