สธ.-อว.-ศธ.-มท. เปิด 7 สนามสอบพิเศษ TCAS 65 รองรับกลุ่มนักเรียนป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว-เสี่ยงสูง แยกจากเด็กปกติ ด้านผู้คุมต้องใส่ชุด PPE ทปอ.คาดมีผู้ติดเชื้อเข้าสอบ 730 ราย ยันระบบไม่ล่ม เริ่มลงทะเบียน 7 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการจัดสอบในช่วงสถานการณ์โควิดว่า สถานการณ์โควิดสัปดาห์นี้ยังพบติดเชื้อรายวันสูง 2 หมื่นกว่ารายต่อเนื่อง ต้องป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด โดยพบว่ากลุ่มเด็กอายุ 0-18 ปี ติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสัปดาห์แรกของ ม.ค. พบร้อยละ 12 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของ ม.ค.จนถึงปัจจุบัน สาเหตุการติดเชื้อ กลุ่มอายุ 0-9 ปีมักติดเชื้อในครอบครัว เด็กอายุ 15-19 ปี มักติดเชื้อนอกบ้านหรือในชุมชน และอายุ 10-14 ปีติดเชื้อในโรงเรียน ทั้งนี้ การติดเชื้ออาจสูงกว่านี้หากละเลยการป้องกันและมาตรการ หากเข้มมาตรการขั้นสูงสุดก็จะป้องกันโรคได้ทั้งเด็กและบุคคลในครอบครัว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยโพล กรณีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันโรคของกลุ่มเด็ก นักเรียน นักศึกษา อายุต่ำกว่า 24 ปี ตั้งแต่ ต.ค.2564 พบว่า มีพฤติกรรมสวมหน้ากากมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป แต่การล้างมือและเว้นระยะห่างยังน้อยและลดลง โดย ม.ค.ล้างมือร้อยละ 83 และเว้นระยะห่างร้อยละ 70.1 ช่วง ก.พ.ล้างมือลดลงเหลือร้อยละ 73.4 และเว้นระยะห่างลดเหลือร้อยละ 62.5 จึงต้องให้ความสำคัญ 2 เรื่องนี้มากขึ้น
"ช่วง มี.ค.เป็นฤดูกาลสอบ ทั้งสอบปลายภาค สอบเลื่อนชั้น และสอบเข้าสู่มหาวิทยาลัย มาตรการป้องกันโควิดจึงต้องดำเนินการต่อไป การจัดสอบ ทั้งตัวนักเรียน ผู้จัดสอบ ต้องปฏิบัติตามหลัก VUCA โดยรับวัคซีนตามกำหนด สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือทุกครั้งเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของ สถานศึกษา สถานที่จัดสอบ ทำตามมาตรการ COVID Free Setting ทุกคนประเมินความเสี่ยงตนเอง และตรวจ ATK" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ข้อมูลการติดเชื้อจากสัปดาห์ที่ 1 ของเดือน ม.ค.2565 พบเกือบ 3.5 หมื่นราย ถึงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนก.พ. สูงถึง 1.4 แสนกว่าราย สอดคล้องกับการติดเชื้อกลุ่มเด็ก 0-18 ปี ที่มีการติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สาเหตุติดเชื้อส่วนใหญ่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว รองลงมาคือ มีประวัติเสี่ยงในชุมชน บางส่วนติดเชื้อสถานศึกษา หากแบ่งกลุ่มอายุ 0-9 ปีมักติดเชื้อในครอบครัว เด็กอายุ 15-19 ปีมักติดเชื้อนอกบ้าน หรือในชุมชน ส่วนเด็กอายุ 10-14 ปีมีการติดเชื้อในโรงเรียน
"เมื่อพิจารณาสัดส่วนของกลุ่มวัยติดเชื้อโควิด พบว่า 0-18 ปีมีจำนวนติดเชื้อสูงขึ้น โดยสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. พบว่า กลุ่มอายุ 0-18 ปีร้อยละ 12 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. และคงอยู่จนถึงปัจจุบัน" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
สำหรับผลสำรวจอนามัยโพล กรณีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันโรคของกลุ่มเด็ก นักเรียน นักศึกษา อายุต่ำกว่า 24 ปี ตั้งแต่เดือนต.ค.2564 พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 24 ปีมีพฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัยมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมน่าชื่นชม แต่พฤติกรรมการล้างมือและเว้นระยะห่าง ในเดือน ก.พ.เริ่มลดลง จากเดือนม.ค. พฤติกรรมล้างมือร้อยละ 83 และพฤติกรรมเว้นระยะห่างร้อยละ 70.1 กลับลดลงเหลือร้อยละ 73.4 และร้อยละ 62.5 ตามลำดับในเดือน ก.พ. ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น
ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานที่สอบ ว่า สำหรับการบริหารจัดการเป็นความร่วมมือของ 4 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันดำเนินการจัดการสอบให้ปลอดภัย ทั้งนี้ เรื่องการตรวจคัดกรอง ATK ไม่ได้แนะนำให้ตรวจทุกราย แต่ให้ตรวจรายที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง
โดยได้กำหนดให้แต่ละจังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์สอบตามความเหมาะสมอย่างน้อย 1 แห่ง อาจพิจารณาใช้พื้นที่แยกกักชุมชน (CI) หรือฮอสพิเทลเพื่อการจัดที่พัก การจัดระบบให้บริการอาหาร ตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ โดยเน้นแยกของใช้ เช่น จัดอาหารกล่อง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน รวมทั้งต้องจัดบริการรถรับส่งสำหรับผู้ติดเชื้อ เพื่อเดินทางมาสอบ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ส่วน กทม.และปริมณฑล มอบหมายให้ผู้จัดสอบทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ทปอ. มูลนิโรงพยาบาลราชวิถีจัดบริการรถแท็กซี่ฉุกเฉิน และจังหวัดอื่นๆ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับผู้จัดสอบในต่างจังหวัดพิจารณาการจัดบริการรถ
ส่วนสถานที่จัดสอบให้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียนในการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดให้มีพื้นที่แยก สำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นให้มีการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในการป้องกันโรคโควิดในสถานศึกษา เช่น การจัดการขยะติดเชื้อ และการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส
ด้านผู้คุมสอบปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ใช้เวลาในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม
สำหรับผู้เข้าสอบ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย รวมทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องตรวจสอบสถานที่สอบที่กำหนด ลงทะเบียนกับสถานที่สอบเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังเข้าสอบ งดพูดคุย เว้นระยะห่าง เดินทางไปสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือประสานหน่วยงานกรณีไม่มีรถ
"ก่อนการสอบ ต้องเน้นย้ำยกการ์ดสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งตัวผู้เข้าสอบ ผู้ปกครองด้วย เพราะช่วงระยะจะสอบหากป้องกันความเสี่ยง โดยไม่ติดเชื้อจะเป็นสิ่งที่ดี และการติดเชื้อดควิดไม่รุนแรงจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตการศึกษาของนักเรียน" นพ.สราวุฒิ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS 65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการจัดสอบผู้ติดเชื้อโควิด ทาง ทปอ. ได้ดำเนินการจัดสอบแบบสนามพิเศษ ซึ่งการจัดสอบประกอบด้วย สนามสอบ 213 แห่งทั่วประเทศ 77 จังหวัด สำหรับคนไม่ติดเชื้อ สามารถเข้าสอบได้ปกติ และได้จัดสนามสอบแยกให้กับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการแพร่กระจาย
โดยได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบแต่ละภูมิภาค ทั้งภาคกลาง กทม. คือม หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคเหนือ คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ม.ขอนแก่น และม.สุรนารี ภาคใต้ คือ ม.วลัยลักษณ์ และ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งศูนย์สอบ 6 แห่งจัดตามภูมิภาค
สำหรับผู้ติดเชื้อและสัมผสัสเสี่ยงสูงสามารถลงทะเบียนสนามสอบพิเศษได้ในระบบ student.mytcas.com ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.เป็นต้นไป จนถึงก่อนสอบวันสุดท้าย 1 วัน คือวันที่ 19 มี.ค. เนื่องจากสอบวันสุดท้ายคือวันที่ 20 มี.ค. แต่จะต้องลงทะเบียนก่อนสอบวิชานั้นๆ 24 ชั่วโมง เช่น สอบวันที่ 12 มี.ค. ต้องลงทะเบียนวันที่ 11 มี.ค. กรณีสอบวันที่ 13 มี.ค. ลงทะเบียนช้าสุดคือวันที่ 12 มี.ค. เป็นต้น โดยสามารถเลือกสนามที่ตนเองจะสอบได้ ซึ่งทั้ง 6 ศูนย์สอบเปิดรับผู้สอบทั่วประเทศ ส่วน จ.จันทบุรี จัดสนามสอบพิเศษอีกแห่งรับเฉพาะนักเรียนติดโควิดใน จ.จันทบุรีเท่านั้น สำหรับสนามสอบพิเศษของ มธ.ศูนย์รังสิตมีที่พักให้ผู้ป่วยโควิดด้วย ต้องระบุวันที่ต้องการเข้าพักและออกจากสนาม โดยเข้าพักวันแรกวันที่ 11 มี.ค. เพราะสอบช่วงแรกคือ วันที่ 12-15 มี.ค. และอีกช่วงคือ วันที่ 19-20 มี.ค.นี้
รศ.ดร.ชาลี กล่าวอีกว่า ห้องสอบมีขนาดใหญ่พอสมควร ระยะห่าง 2 เมตรทั้งแนวนอนและแนวตั้ง โดยผู้คุมสอบ ศูนย์สอบเป็นผู้จัดหา หรือขอความร่วมมือสาธารณสุขจัดหา และการคุมสอบจะมีชุด PPE สวมใส่ด้วย ส่วนห้องน้ำก็แยกจากห้องน้ำปกติ จึงไม่ต้องกังวล ส่วนอาหารก็จัดบริการโดยส่วนกลาง เป็นอาหารกล่อง ทานแยกกัน บริการภายในศูนย์พิเศษเท่านั้น ไม่มีการปะปนกับใคร
"มีการคาดการณ์จากข้อมูลระบาดวิทยาของเด็กอายุ 18 ปี จะมีการติดเชื้ออยู่ที่ 0.4 % เมื่อนำมาเทียบกับจำนวนผู้เข้าสอบประมาณ 180,000 คน จึงคาดว่าจะมีผู้เข้าสอบที่เป็นผู้ติดเชื้อ 730 ราย ทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรณีเด็กที่เพิ่งรู้ตัวว่าติดเชื้อในระยะเวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทำให้ลงทะเบียนสนามสอบพิเศษไม่ทันก็ถือว่าขาดสอบ" รศ.ดร.ชาลี กล่าว
รศ.ดร.ชาลี กล่าวตอบคำถามว่าเด็กที่ติดเชื้อแล้วรักษาหายก่อนการสอบเสร็จสิ้น ต้องกลับไปสอบสนามปกติหรือยังอยู่ในสนามสอบพิเศษหรือไม่ว่า เรานับตั้งแต่ตรวจ ATK พบบวกวันแรก เมื่อครบ 10 วัน สามารถกลับไปสอบสนามปกติได้ ไม่ต้องลงทะเบียนสนามสอบปกติแล้ว กลับไปสอบที่สนามได้เลย โดยแจ้งความจำนงว่าขอยกเลิกสนามสอบพิเศษ เนื่องจากมีรายชื่อที่ศูนย์สอบเดิมปกติอยู่แล้ว ไม่มีการถอนรายชื่อออก เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วลงทะเบียนจะมีการเพิ่มรายชื่อดับเบิลขึ้นมาที่สนามสอบพิเศษ และเตรียมข้อสอบดับเบิลขึ้นมาสำหรับคนที่ลงทะเบียนไว้
"ย้ำว่าไม่สามารถวอล์กอินมายังสนามสอบพิเศษได้ เพราะข้อสอบต้องเตรียมการให้ที่สนามสอบให้ทันเวลา กรณีพบเชื้อน้อยกว่า 24 ชั่วโมงก็ต้องขาดสอบ" รศ.ดร.ชาลี กล่าว
ส่วนกรณีป่วยโควิดต้องเข้ารักษา รพ. หรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินต่างๆ เท่ากับขาดสอบใช่หรือไม่ รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่า คนที่เป็นไข้ มาไม่ไหว เข้า รพ. ผ่าตัดไส้ติ่ง เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ถือว่าขาดสอบทั้งหมด เป็นมาตรการที่ดำเนินการทุกปี ไม่เฉพาะปีนี้ที่เป็นโควิด
รศ.ดร.ชาลี กล่าวถึงการลงทะเบียนจะมีปัญหาเรื่องระบบล่มหรือไม่ว่า ระบบลงทะเบียนไม่น่ามีปัญหา เพราะระบบ mytcas.com มีแบนด์วิชสูงมาก และการลงทะเบียนไม่ได้มีจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนคน เราคาดการณ์ไว้ว่าจะมีลงทะเบียนทั่วประเทศประมาณ 730 คน ซึ่งคิดจากประชากรกลุ่ม 18 ปี ที่มีอัตราติดเชื้อ 0.5% โดยเรามีผู้เข้าสอบ TCAS65 ประมาณ 183,000 คน แต่หากมีผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถขยายศักยภาพสนามสอบเพิ่มขึ้นได้