ปปง. สั่งยึดอายัดทรัพย์กลุ่มบุคคลผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตยักยอกเงิน สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จ.เพชรบุรี 27 รายการ 1.6 ล. หลัง แจ้งความพนักงานสอบสวน เสียหาย 102.7 ล. ที่ดิน 5 แปลง สิทธิเรียกร้องในกรมธรรม์ 22 รายการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.45/2565 วันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ราย นางศรีประภา บุตรเล็ก กับพวก คดีร่วมกันกระทําการโดยทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จํากัด รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 102,765,916 บาท ทรัพย์สินที่ยึดอายัดทั้งสิ้น 27 ราย ราคาประเมิน 1,688,472.37 บาท ประกอบด้วยที่ดิน ใน จ.เพชรบุรี จำนวน 5 แปลง และ สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันชีวิต 22 รายการ
มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากสถานีตํารวจภูธรไร่สะท้อน ตามหนังสือที่ ตช 0022(พบ).6(15)/501 ลงวันที่ 1 เมษายน 2564 เรื่อง ส่งข้อมูลเพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์ แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กล่าวคือ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จํากัด ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรไร่สะท้อน (อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี) เพื่อดําเนินคดีแก่ นางศรีประภา บุตรเล็ก นางมณี คิดอยู่ นางสาวสุดจิตต์ คงดี และนางสาวนลินนิภา หรือศิริรัตน์ กลิ่นทอง ซึ่งได้ร่วมกันกระทําการโดยทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จํากัด รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 102,765,916 บาท (หนึ่งร้อยสองล้านเจ็ดแสน หกหมื่นห้าพันเก้าร้อยสิบหกบาทถ้วน) ต่อมาศาลจังหวัดเพชรบุรีรับคําฟ้องไว้พิจารณาตามคดีหมายเลขดํา ที่ อ 799/2564 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยผู้กระทําความผิดได้กระทําในฐานเป็นผู้มีอาชีพ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก , 354 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางศรีประภา บุตรเล็ก กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ประชุม มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.526/2564 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนางศรีประภา บุตรเล็ก กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านางศรีประภา บุตรเล็ก กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้า ลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิด ฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 27 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอน เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในทางทะเบียนได้ และสังหาริมทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิต อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถ โอน ยักย้าย ปกปิด ซ่อนเร้น ได้โดยง่าย หากมิได้ออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางศรีประภา บุตรเล็ก กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 27 รายการ พร้อมดอกผล กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 5 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 5 และมีคําสั่งให้อายัด ทรัพย์สิน จํานวน 22 รายการ ได้แก่ รายการที่ 6 ถึงรายการที่ 27 มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย (ดูรายละเอียดทรัพย์สินในตาราง)