OR โชว์วิสัยทัศน์ใหม่ ‘Empowering All Inclusive Growth’ ตั้งงบลงทุน 2 แสนล้าน เดินหน้า 4 พันธกิจ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนธุรกิจ ‘นอน-ออยล์’ เป็น 65% ลุยสร้างปั๊มชาร์จรถ EV เป็นมากกว่า 7,000 แห่ง ภายในปี 2030 พร้อมจับมือ ‘พันธมิตรท้องถิ่น' รุก 20 ประเทศ ดัน OR ขึ้นแท่น ‘แบรนด์ระดับโลก’
..............................
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยในงานเปิดตัววิสัยทัศน์ใหม่และทิศทางการดำเนินธุรกิจของ OR โดยระบุตอนหนึ่งว่า นับจากนี้ไป OR จะเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะทำให้ผู้คน ธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชน เข้ามามีโอกาสร่วมเติบโตไปกับ OR หรือที่เรียกว่า Inclusive Growth
“นับจากนี้ไปวิสัยทัศน์ใหม่ของ OR คือ Empowering All Inclusive Growth หมายความเป็นไทยว่า OR จะสร้างโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน” น.ส.จิราพร ระบุ
น.ส.จิราพร ระบุว่า เพื่อทำให้วิสัยทัศน์ใหม่ของ OR ประสบความสำเร็จและจับต้องได้ OR จึงกำหนดเป้าหมาย ในปี 2030 ไว้ 3 ด้าน ได้แก่
1.Living community โดย OR มุ่งมั่นและตั้งใจว่า ธุรกิจที่ OR ทำหรือธุรกิจที่ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นธุรกิจที่ทำให้สังคมชุมชนมากกว่า 1.5 หมื่นชุมชน หรือ 12 ล้านชีวิต มีสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2.Healthy Environment โดย OR มีเป้าหมายลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ของเสียจากการประกอบธุรกิจ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมลงมากกว่า 1 ใน 3 ก่อนจะเข้าสู่เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 และเป็น Net Zero Carbon ในปี 2050
3.Economic Prosperity โดยนับจากนี้ต่อไป OR จะเติบโตแบบ Inclusive Growth โดยจะเติบโตร่วมกับพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นสังคม ชุมชน คู่ค้า ลูกค้า ผู้ถือหุ้น คนไทยทั้งหมด และคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ OR เข้าไปทำธุรกิจ รวมทั้งเรามุ่งมั่นให้ธุรกิจทั้งรายเล็ก รายใหญ่ พนักงานและผู้ถือหุ้น OR กว่า 1 ล้านราย มีความมั่งคั่งดีขึ้นกว่าวันนี้
น.ส.จิราพร ระบุว่า OR ได้ปรับโมเดลการทำงานเป็น Inclusive Growth Partnership Model และเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็น outside in จากเดิมที่เป็นแบบ inside out โดย OR จะทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าและลูกค้าของพาร์ทเนอร์ว่าต้องการอะไร เมื่อไหร่ เมื่อทำความเข้าใจได้แล้ว จะดูว่าพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ OR ต้องการอะไร ขาดอะไร มีจุดแข็งอะไร เพื่อให้พาร์ทเนอร์เติบโตไปพร้อมกับ OR โดยมีลูกค้าเป็นเป้าหมายสำคัญ เป็นต้น
“เมื่อเราเปลี่ยนโมเดลการทำงานเป็น outside in องคาพยพ กระบวนการทำงานของ OR ในยูนิตต่างๆ จะปรับให้มีความยืดหยุ่น เพื่อเปิดรับพาร์ทเนอร์เข้ามามีส่วนในการใช้ core asset ของ OR เมื่อวิถีเป็นดังนี้ ผลิตภัณฑ์ของ OR และผลิตภัณฑ์ของพาร์ทเนอร์ จะอยู่ในใจของผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง และในทุกการเคลื่อนไหว รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว OR จะปรับหน่วยงานและตั้งหน่วยงาน ที่มีวิธีการทำงานแบบใหม่” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ OR ตั้งงบลงทุนไว้ 2 แสนล้านบาท โดยธุรกิจของพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมกับ OR ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% นั้น จะมีส่วนสำคัญในการเติบโตของ OR และภายในปี 2030 OR ตั้งเป้าหมายว่าจะมี EBITDA (กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย) สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท และบรรลุเป้าหมายของ OR ทั้ง 3 ด้าน คือ Living community , Healthy Environment และ Economic Prosperity
ทั้งนี้ การทำให้วิสัยทัศน์ใหม่ ‘OR 2030’ ประสบความสำเร็จนั้น OR ได้กำหนดพันธกิจใหม่ใน 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้าน Mobility โดยเราตั้งเป้าหมายจะเป็น Seamless Mobility คือ มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากกว่า 7,000 แห่ง, ศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ หรือ FIT AUTO ทุกสาขา สามารถให้บริการซ่อมรถ EV ได้ และการใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์รูฟ (Solar Roof) มากกว่า 5,400 แห่ง
2.ด้าน Lifestyle หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับชีวิตผู้คน ซึ่งเราจะทำเรื่อง All Lifestyle โดยทำให้ผลิตภัณฑ์ของ OR และพาร์ทเนอร์ เข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้รูปแบบ Partnership Model โดยมีเป้าหมายว่า ธุรกิจของพาร์ทเนอร์จะมีสัดส่วนมากกว่า 50% และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทุกแพลตฟอร์มของ OR วันละ 14 ล้านคน
3.ด้าน Global Market หรือในด้านต่างประเทศ ที่ผ่านมา OR มีการขยายธุรกิจไปต่างประเทศรวม 10 ประเทศ ในรูปแบบ capital intensive คือ ตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ โดยใช้เงินลงทุนของ OR ทั้ง 100% ซึ่งทำให้ความคล่องตัวลดลงและใช้เงินลงทุนสูง
ดังนั้น เมื่อ OR จะก้าวสู่การเป็น Global Brand โดยการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ OR จะใช้วิธี Asset Light Model คือ ส่งออกสินค้าของ OR และพาร์ทเนอร์ไปต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และความผูกพันเชื่อมั่นในสินค้า จากนั้นจะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นในต่างประเทศ โดย OR มีเป้าหมายว่า ในปี 2030 นั้น OR จะมีบริษัทร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ มากกว่า 20 ประเทศ และพาแบรนด์ไทยไปสู่แบรนด์โลกขั้นต่ำ 10 แบรนด์
4.ด้าน OR Innovation โดยไม่ได้เน้นเฉพาะ high technology (เทคโนโลยีขั้นสูง) แต่มีจุดมุ่งหมายไปที่การแก้ไขปัญหาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
“เทรนด์แนวโน้มพลังงานสะอาดกำลังมา และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากพันธกิจทั้ง 4 ด้าน ซึ่ง OR จะลงทุนด้วยเม็ดเงิน 2 แสนล้านบาท ตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2030 นั้น ผลของการลงทุน จะสัดส่วน EBITDA เปลี่ยนแปลงไป โดยธุรกิจ Mobility จะเปลี่ยนจาก 75% ในปัจจุบัน มาเป็น 35% โดยที่ธุรกิจ Mobility ยังคงขยายตัวอยู่ แต่สิ่งที่เป็น Lifestyle , Global และ Innovation จะขยายตัวมากกว่า โดย Lifestyle จะมีสัดส่วนเป็น 35% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 28%
ขณะที่ธุรกิจ Global จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 18% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 4% ผ่านการลงทุนที่เรียกว่า Asset Light Model ส่วน Innovation และธุรกิจอื่นๆ จะมีสัดส่วนใน EBITDA อีกประมาณ 19% ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพอร์ตของ OR จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของผู้บริโภคและทิศทางของธุรกิจในอนาคต ผ่านรูปแบบ Partnership Model” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร ระบุด้วยว่า สำหรับเงินลงทุน 2 แสนล้าน OR จะจัดสรรไปในด้าน Mobility ในสัดส่วน 35% กลุ่ม Lifestyle ประมาณ 30% และจัดสรรไปในเรื่อง Global Market และ OR Innovation ในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยในเรื่อง Mobility นั้น OR เหลือเพียงการสร้างความแข็งแกร่งและเปิดรับพลังงานใหม่ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินลงทุนสูงแต่อย่างใด
นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน OR กล่าวว่า แม้ว่ารถยนต์ EV จะเข้ามาดัสรัปฯ (Disruption) ธุรกิจน้ำมัน แต่สำหรับ OR มองว่า รถ EV จะเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ของ OR โดยปัจจุบัน OR มีสถานีบริการน้ำมันกว่า 2,000 แห่ง และในจำนวนนี้มีการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV charging) 100 แห่ง และภายในปีนี้จะขยายเป็น 450 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในเส้นทางหลัก แหล่งท่องเที่ยว และย่านธุรกิจ
นอกจากนี้ OR ยังมีระบบหลังบ้านที่พร้อมให้บริการลูกค้า โดยมีดิจิทัลแพลทฟอร์มที่สามารถบอกลูกค้าได้ว่า มีสถานีชาร์จ EV อยู่ที่ใดบ้าง ระยะเวลาที่จะไปถึง รวมทั้งใช้ในการเปิด-ปิดหัวชาร์จ ไปจนถึงการชำระเงิน
“ในเรื่องจุดชาร์จและการซ่อมบำรุง วันนี้ OR เรามีความพร้อม เรามีการขยายเครือข่าย EV Station Plus ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ในส่วนการบำรุงรักษา เรามี FIT AUTO อยู่แล้ว ซึ่งเราจะพัฒนาปรับเปลี่ยนไปซ่อมบำรุงรถ EV ได้อย่างแน่นอน” นายบุญมา กล่าว
นายสมยศ คงประเวช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก OR กล่าวว่า วันนี้ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย OR จึงต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ทุกกลุ่ม และตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน โดย OR ได้จับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค รวมทั้งจะมีแบรนด์ต่างๆอีกหลายแบรนด์ ที่จะเข้ามาร่วมกับ OR ในการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค
“เรามั่นใจว่าพาร์ทเนอร์ ไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลาง เมื่อมาจับมือร่วมกับ OR แล้ว จะเกิดพลังร่วม ในขณะที่ OR มีความแข็งแกร่งเรื่องดิจิทัลแพลทฟอร์ม รวมทั้งมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว เช่น คาเฟ่อเมซอน ซึ่งจะช่วยให้พาร์ทเนอร์ต่างๆเติบโตไปพร้อมกับ OR และสิ่งที่ OR จะได้จากพาร์ทเนอร์ คือ การเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค” นายสมยศกล่าว
นายสมยศ ระบุว่า OR มีแผนจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม ,สุขภาพ ,เรื่อง well-being และการท่องเที่ยว เป็นต้น
“ในระยะสั้น จะเห็นการจับมือระหว่าง OR กับพาร์ทเนอร์เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายธุรกิจ Lifestyle ทุกประเภท เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค โดยวันนี้เรามีหลายดีลเลย ส่วนในระยะ 3-5 ปี เราจะเห็นธุรกิจไลฟ์สไตล์เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากพลังร่วมของพาร์ทเนอร์และ OR และในระยะ 5 ปีขึ้นไป ผู้บริโภคจะรู้สึกว่า OR Ecosystem จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นตอนเช้าจนเข้านอน เป็นวันสต๊อปโซลูชั่น All Lifestyle
นายทรงพล เทพนำโสมนัส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดต่างประเทศ OR กล่าวว่า การขยายธุรกิจของ OR ไปในต่างประเทศ จะใช้วิธีการหาพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น ที่พร้อมลงทุนและขยายธุรกิจไปพร้อมกับ OR รวมทั้งมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาเสริมแพลทฟอร์มในประเทศที่ OR ลงทุน อย่างไรก็ดี การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะพิจารณาว่า ประเทศนั้นๆ เศรษฐกิจมีความใหญ่และอัตราการเติบโตอย่างไร จำนวนประชากรและรายได้ต่อหัวเป็นอย่างไร เป็นต้น
“เราเน้นตัวเบา ขยายเร็ว ซึ่งแบรนด์หลักๆที่ไป คือ คาเฟ่อเมซอน และยังแบรนด์พาร์ทเนอร์ที่ OR เข้าไปลงทุน ซึ่งกำลังปรับโมเดลธุรกิจอยู่ ส่วนจีน เราไปมาแล้ว เราอยู่มาได้ 2-3 ปี ไปลงทุนคาเฟ่อเมซอน และธุรกิจหล่อลื่น ที่เวียดนามเราก็ไปแล้ว เราจับมือกับพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจคาเฟ่อเมซอน ซึ่งเวียดนามต้องบอกว่า เป็นประเทศที่มีประชากรเยอะมาก มีระดับอายุเฉลี่ยต่ำมาก 25-26 ปี เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ กำลังทรัพย์สูงมาก เราจึงพยายามเข้าไป” นายทรงพล กล่าว
น.ส.ราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ Orion กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจ OR Innovation จะเน้นไปที่การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่สะสมอยู่ เช่น ความไม่สะดวกกาย ไม่สะดวกใจในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม โดย OR จะลงทุน Innovation ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ โดยทีม Orion ของ OR และดำเนินการผ่านกองทุน venture capital 2 กอง