สธ.เปิดฉากทัศน์ใหม่ เดือน มี.ค.ติดเชื้อทรงตัว ป่วยหนัก-ใส่ท่อช่วยหายใจยังเพิ่ม เตือนโอไมครอนค่อนข้างทำอันตรายกลุ่ม 608 แนะผู้สูงวัย-ป่วยเรื้อรัง-หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีน พร้อมจ่อปรับการรายงานตัวเลขโควิดเป็นแบบเฉลี่ย 14 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด และแนวทางการควบคุมป้องกันและการรักษาพยาบาลว่า สถานการณ์โควิดโอไมครอนทำให้การติดเชื้อทั่วโลกสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง และเริ่มลดลง ส่วนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทย ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ดูแลได้ ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.18% ส่วนใหญ่ 90% เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 หรือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่ช่วงเดลต้าระบาดมีผู้เสียชีวิตที่ไม่ใช่กลุ่ม 608 ราว 30% แสดงว่าโอไมครอนค่อนข้างทำอัตรายต่อกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว
จากการจำลองฉากทัศน์การระบาดของโควิด มี.ค. การระบาดจะอยู่ในแนวระนาบ แล้วค่อยๆ ลดลง แต่ฉากทัศน์ของผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับ 1,000 ราย เทียบกับช่วงเดลต้าระบาดจะมีมากถึง 6,000-7,000 ราย ส่วนคาดการณ์ผู้ป่วยอาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจจะมีประมาณ 400-500 ราย เทียบกับช่วงเดลต้าระบาดมีมากถึง 1,300 รายต่อวัน
ดังนั้นคาดการณ์ว่า จากนี้จะมีผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจราวๆ 500 ราย คิดว่าไม่สูงกว่านี้ ส่วนอัตราการเสียชีวิต จะอยู่ที่ประมาณ 50 รายต่อวัน ไม่มากกว่านี้ และจะค่อยๆ ลดลง จึงขอให้ประชาชนฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และเน้นการควบคุมโรคเป็นคลัสเตอร์ ในสถานที่เสี่ยงอย่างร้านอาหารกึ่งผับบาร์
“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะมีการปรับการรายงานยอดติดเชื้อใหม่ เป็นเฉลี่ย 14 วัน เพื่อให้เห็นความชัดเจน ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยที่ 20,000 ราย ผู้ป่วยอาการรุนแรง 980 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 280 ราย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
สำหรับสถานการณ์เตียง ภาพรวมทั้งประเทศครองเตียง 59% แยกเป็น เตียงระดับ 3 ดูแลผู้ป่วยรุนแรง 21.9% เตียงระดับ 2.2 ผู้ป่วยสีเหลืองแก่ 13% ระดับ 2.1 ผู้ป่วยสีเหลือง 23 %และระดับ 1 อาการน้อยหรือไม่มีอาการ 67.8 % โดยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยระดับ 2.1-3 จะใช้เตียงอยู่ประมาณ 20% ซึ่งใช้ไป 1 ใน 5 ของศักยภาพที่มีอยู่ ส่วนที่เป็นเตียงเขียวจะเพิ่มบริการให้คนอยู่บ้านเพราะเชื้อรุนแรงลดลงและดูแลตนเองได้ เพื่อเข้าสู่การจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป
ส่วนการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ทั่วประเทศ ขณะนี้มีสำรองแล้วกว่า 16,904,718 เม็ด รวมถึงองค์การเภสัชกรรยังมีแผนจัดหาและผลิตยาเพิ่มอีก 87.6 ล้านเม็ด โดยวันที่ 28 ก.พ.ได้จัดส่งกระจายไปทุกภูมิภาคอีก 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มี.ค.จัดส่งไปอีก 15 ล้านเม็ด ที่มีข่าวว่าจะขาดยาไม่เป็นความจริง เพราะมีการเตรียมยาอยู่ในแผนงานและพื้นที่จำนวนมาก
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงการปรับเพิ่มบริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด แบบผู้ป่วยนอกว่า ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ บริหารการรักษาให้สมดุล เพราะผู้ป่วย 90% อาการน้อย โดยมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาเพียง 5%
คาด มี.ค.ติดเชื้อเริ่มทรงตัว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ดูตามเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะระบาดมาก 1-2 เดือนแล้วค่อยๆ ลดลง ขณะนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มขาขึ้นมาราว 2 สัปดาห์ คาดว่าจะสูงอยู่อีกประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรงตัว และลดลงได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มาตรการยังเข้ม มีการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่อยู่โรงพยาบาล 200,000 รายนั้น เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบเพียง 0.45% และใส่ท่อช่วยหายใจ 0.13% ส่วนเรื่องสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 นั้น ความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกกว่า BA.1 แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน
“หากพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป ติดเชื้อจะเริ่มทรงตัว และค่อยๆลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว