ศบค.ขอผู้ป่วยสีเขียว รักษาตัว Home Isolation สงวนเตียงสำหรับสีเหลือง-แดง ยันมีแผนรับมือชัดเจน อย่าวิตกความเห็นนักวิชาการ พร้อมชงนายกฯ เคาะมาตรการช่วยคนไทย 260 คนกลับจากยูเครนผ่าน Test&Go ขณะที่ กทม.พบคลัสเตอร์โรงเรียนถึง 18 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ในจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาเป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลถึง 38,479 ราย และจำนวนกว่า 98% เป็นผู้ป่วยอาการสีเขียว
ปัจจุบันผู้ป่วยเกิน 90% เป็นการติดเชื้อโอไมครอน กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำให้ผู้มีอาการน้อยรักษาตัวที่บ้าน สงวนเตียงให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองและแดง หรือที่มีความจำเป็นจริงๆ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ต้องทานยากดภูมิ คนกลุ่มนี้แม้อาการจะน้อยแต่ก็อาจกระทบกับโรคหลักได้ ทางโรงพยาบาลจึงจะพิจารณาให้อยู่ในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีเตียงเพียงพอ จึงให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากจึงอยากขอสวงนสิทธิให้กับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง
“ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาคาดการณ์ตัวเลขรายวันจะสูงมากขึ้น ยืนยันว่า ศบค.ติดตามตัวเลขอย่างใกล้ชิด อยากให้นักวิชาการเหล่านั้นให้ข้อมูลด้วยว่าภาครัฐ รวมถึงแต่ละภาคส่วนควรมีบทบาทอย่างไร อย่าให้ข้อมูลเพียงแค่ตัวเลข และจากการติดเชื้อตอนนี้จะเห็นว่าติดเชื้อเยอะในจังหวัดสีฟ้าที่มีการผ่อนคลายกิจกรรม ฉะนั้น จึงอยากขอให้งดการเดินทางและการรวมกลุ่มไปก่อน เราไม่สามารถล็อกดาวน์ได้อีก แต่ต้องปรับตัว” พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก โดยกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยูเครนที่มีการสู้รบและมีการสำรวจว่ามีคนไทยที่ยังติดค้างอยู่ในยูเครนต้องการความช่วยเหลือเพื่อเดินทางกลับบ้านประมาณ 250- 260 คน ซึ่งสถานทูตทั้งในและประเทศข้างเคียงได้พยายามประสานติดต่อ พยายามเลี่ยงการเคลื่อนย้ายคนไทยกลับบ้านโดยเครื่องบินพาณิชย์
โดยในวันนี้ได้มีการหารือในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และทางศบค.จะมีการนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในรายละเอียดเรื่องการเดินทางเข้าประเทศด้วยระบบ Test&Go การเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อในรายละเอียดด้วย
พญ.อภิสมัย รายงานสถานการณ์การติดเชื้อแบบคลัสเตอร์ที่มีตัวเลขลดลงต่อเนื่อง คือ การติดเชื้อในโรงงาน สถานประกอบการ
ส่วนสถานการณ์ใน กทม. มีผู้ติดเชื้อ 2,779 ราย พบการติดเชื้อที่มีจำนวนมากหลายเขต เช่น หลักสี่ จอมทอง ห้วยขวาง บางซื่อ หนองแขม บางแค ประเวศ สายไหม ทุ่งครุ และ ราษฎร์บูรณะ โดยคลัสเตอร์ที่พบมากที่สุด คือ คลัสเตอร์โรงเรียนถึง 18 แห่ง
ทั้งนี้ กทม.รายงานศักยภาพการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) มีการเปิดเพิ่มขึ้นอีก 31 แห่ง และเตรียมเปิดอีก 9 แห่ง สามารถเพิ่มเตียงเป็น 970 เตียง