รัฐสภาถกกฎหมายลูกพรรคการเมือง ‘ชลน่าน’ ปัดสอดไส้เปิดช่องคนนอกบงการพรรค แต่ป้องกันการถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ขณะที่ ‘ก้าวไกล’ ยันหลักการ พรรคตั้งง่าย ยุบยาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 มิ.ย.2564 ที่ประชุมรัฐสภามีระเบียบวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... รวม 10 ฉบับ ในวาระแรก แบ่งเป็น
ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ฉบับ เสนอโดย 1.คณะรัฐมนตรี 2.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ 3.นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐกับคณะ 4.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกับคณะ
ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....จำนวน 6 ฉบับเสนอโดย 1.คณะรัฐมนตรี 2.พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติกับคณะ 3.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ 4.นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐกับคณะ 5.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกับคณะ 6.นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐกับคณะ
โดยการพิจารณาครั้งนี้ จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ.2565 กำหนดเวลาการอภิปรายวันละ 12 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น ประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง ผู้เสนอร่าง 5 ชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 6 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล 6 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง
ทั้งนี้ รัฐสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง รวม 4 ฉบับ แล้วลงมติ จากนั้นจึงจะพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง รวม 6 ฉบับ จึงจะลงมติอีกครั้งหนึ่ง โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดการประชุมเมื่อเวลา 09.45 น.
รัฐสภาถกต่อ กม.ลูกพรรคการเมือง 'เพื่อไทย'ปัดเปิดช่องคนนอกครอบงำ
เมื่อเวลา 18.40 น. ที่ประชุมรัฐสภาได้เริ่มพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ. .... จำนวน 6 ฉบับ
โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำเสนอ อภิปรายว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีอุปสรรคบางประการ มีการจำกัดเสรีภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้สมาชิกพรรค ชำระค่าสมาชิกพรรค ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพของบุคคล และมีปัญหาทางปฏิบัติ การกำหนดเหตุยุบพรรคมากเกินไปที่อาจมีการใช้กฎหมายยุบพรรคการเมืองได้ง่ายเกินไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน พรรคเพื่อไทย จึงขอเสนอสาระสำคัญที่ควรแก้ไขมีทั้งสิ้น 29 มาตรา เช่นเรื่องการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ควรใช้คุณสมบัติเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. จึงขอให้มีการยกเลิก เรื่องการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มีการกำหนดให้เขาต้องจ่ายค่าสมาชิก เพื่อมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองสร้างปัญหา สุ่มเสี่ยงใช้เงื่อนไขนี้ ทำให้เกิดการกระทำผิด จึงขอยกเลิกบทบัญญัติมาตรานี้ แล้วไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคแทนว่า จะมีการเก็บค่าสมาชิกพรรคอย่างไร
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การแก้ไขมาตรา 28-29 ที่มีการพูดถึงกันมาก พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหามีการยัดไส้ เปิดโอกาสให้คนภายนอกมาครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง แต่สิ่งที่พรรคเห็นและปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือ มีการใช้มาตรานี้กลั่นแกล้งทางการเมือง พรรคจึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมโดยใช้คำว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง มิให้รวมถึงการชี้แนะ การให้คำปรึกษา การให้ข้อมูล เพื่อประกอบการทำกิจกรรมพรรคการเมือง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการตีความเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง
ด้าน นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า รัฐบาลสมัย คสช.ที่ออกกฎหมายทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะผู้ร่างไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้มีโอกาสร่าง ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอ ยืนบนหลักการว่า พรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นสถาบันการเมืองที่สะท้อนความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคการเมืองต้องตั้งง่าย แต่ยุบยาก ไม่บังคับการเก็บค่าสมาชิก รวมทั้งต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอุดหนุนเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองมาเป็นตามสัดส่วนจำนวนสมาชิกพรรค เพราะจะทำให้พรรคเข้มแข็ง มีทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ยกเลิกการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีเงินทุนประเดิม 1 ล้านบาท เป็นต้น
นายวรภพ กล่าวอีกว่า เมื่อจุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองมาจากประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ควรมีอำนาจใดที่จะมีสิทธิตัดสินยุบพรรคการเมืองได้ เพราะมันคือการทำลายหลักการประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ พรรคการเมืองไม่สามารถอยู่ได้ หากไม่มีประชาชนสนับสนุน ประชาชนจึงควรเป็นผู้ตัดสินพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง โดยโทษยุบพรรคกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้เป็นบ่อนทำลายพรรค ทำให้พรรคตั้งยากแต่ยุบง่าย และอ่อนแอ ดังนั้น การยุติและยกเลิกการใช้อำนาจที่นอกเหนือจากประชาชนอย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลจึงเสนอยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง
ส่วน นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวว่า เหตุที่พรรคเสนอแก้ไขมาตรา 28-29 เรื่องบุคคลภายนอก มาชี้นำ ครอบงำพรรคการเมืองจนขาดความเป็นอิสระ เพราะต้องการให้มีการเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ควรมีกฎกติกามาบีบรัดการเจริญเติบโตของพรรคการเมือง ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเมื่อมีอำนาจ อาศัยเป็นช่องทางมายุบพรรคการเมืองได้ง่ายๆ ที่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลมีทั้งหมด 13 มาตรา มีที่มาคือการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง จึงมีเหตุผลและความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง มีหลายประเด็นทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อนและผูกพันการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมสมาชิก ทำให้กระทบกับการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ยุ่งยากเป็นภาระประชาชน และพรรคการเมืองที่ต้องทำงานธุรการที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมือง ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายและใช้บุคลากรจำนวนมาก ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็ง อีกทั้งกระบวนการทำไพรมารีโหวตที่นั้นมีความซับซ้อน จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ส่วน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 28-29 ไม่ได้ทำเพื่อพรรคเพื่อไทย แต่ที่ผ่านมามีการใช้มาตรานี้ กลั่นแกล้งทางการเมือง ทั้งนี้ถ้ามีการแนะนำทั่วไป เรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ซึ่งมีประโยชน์กับประชาชน โดยพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ทำเพื่อพรรคเพื่อไทย ทำเพื่อทุกพรรคไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง
ทั้งนี้เมื่อเวลา 21.40 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุม และนัดประชุมใหม่อีกครั้งวันที่ 25 ก.พ.2565 เวลา 09.00 น.
มติรัฐสภารับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 4 ฉบับ
เมื่อเวลา 17.40 น. หลังจากใช้เวลานานกว่า 9 ชั่วโมงในการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... รวม 4 ฉบับ ที่ประชุมรัฐสภา ได้พิจารณาลงมติรับหลักการร่างกฎหมาย วาระแรก ทั้ง 4 ฉบับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมมีมติ เห็นด้วย 609 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ฉบับที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และคณะ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 420 ต่อ 205 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ฉบับที่เสนอโดย นายวิเชียร ชวลิต และคณะ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 598 ต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ฉบับที่เสนอโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 418 ต่อ 202 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง
ทั้งนี้ รัฐสภา มีมติใช้ฉบับที่ ครม.เป็นผู้เสนอเป็นร่างหลัก กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยไม่กำหนดระยะเวลาการพิจารณา ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นัดแรก วันที่ 1 มี.ค.2565 เวลา 10.00 น.
สำหรับ กมธ.วิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... มีทั้งหมด 49 คน แบ่งเป็น ครม. 8 คน ส.ว. 14 คน ส.ส. 27 คน จาก เพื่อไทย 8 คน พลังประชารัฐ 6 คน ภูมิใจไทย 3 คน ก้าวไกล 3 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน เศรษฐกิจไทย 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน
‘วันชัย’จี้ กกต.ปราบโกงเชิงรุก‘ระวี’พรรคเล็กค้านแก้ กม.เลือกตั้งทำเสียงตกน้ำ
เมื่อเวลา 11.40 น. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า ตนเคยได้ยิน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พูดหลายครั้ง หลายโอกาส ตำหนิธุรกิจการเมือง ตำหนิการเลือกตั้งที่ทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะฉะนั้นถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการแก้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ส่วนตัวไม่ติดใจเรื่องบัตรใบเดียวหรือบัตรสองบัตร ไม่ติดใจว่าการคำนวณคะแนนจะทำแบบไหนอย่างไร จะแก้ไขบัตรเขย่งอย่างไร จะเบอร์เดียวหรือคนละเบอร์ระหว่างพรรคกับบุคคล แต่ตนสนใจเรื่องการแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตหรือกรทำกรเมืองแบบธุรกิจมโดยตลอด ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งไม่ว่าจะระดับใด รวมทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นที่ยอมรับกันว่าต้องสุจริตเที่ยงธรรม
นายวันชัย กล่าวว่า แม้แต่การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เล็กๆ ก็ใช้เงิน 12-20 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเขียนกฎหมายให้เข้มแข็งประการใด หากปฏิบัติไม่ได้จริง เชื่อว่าจะเป็นกระดาษใบหนึ่งที่เรียกว่ากฎหมาย ทั้งหมดต้องยอมรับว่าเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมให้ได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทำไม่ได้ เห็นกันจะๆ คาตา บางคนบอกไม่อยากใช้เงินซื้อเสียง แต่ถ้าไม่ซื้อ คนชั่วก็จะได้รับเลือกตั้ง เลยต้องซื้อเพื่อป้องกันคนชั่ว
“ขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่า กกต.นั้นสำคัญที่สุดในการควบคุม กำกับให้การเลือกตั้งสุจริต ตราบใดก็ตามที่กฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ ก็จะเป็นอย่างที่เราเห็น จึงขอกราบเรียนว่า มาตรการดำเนินการเชิงรุกตามกฎหมายที่แก้ไขวันนี้ ต้องแรงและเร็ว กกต.ต้องทำงานเชิงรุก” นายวันชัย กล่าว
ขณะที่เมื่อเวลา 14.40 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า ในฐานะตัวแทนพรรคเล็ก ตนขอนำเสนอการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คือ การคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหญ่เสนอให้เอาคะแนนพรรคทั้งหมดมาหารด้วย 100 จะได้คะแนนเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ประมาณ 3.7 แสนเสียง ซึ่งส่งผลให้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 2560 หายไป 3 ประการ คือ
1.ระบบ ส.ส.พึงมีหายไป ทั้งที่เป็นระบบยุติธรรมที่สุด เพราะคิดจากคะแนนจากทุกพรรคที่ถูกประชาชนเลือกมา ก่อนมาคำนวณว่า ส.ส.พึงมีจะมีจำนวนเท่าไร แต่ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบละเมิดเจตนารมณ์นี้ เพราะไม่ได้คิด ส.ส.พึงมี ทำให้พรรคการเมืองใหญ่จะทุ่มเงินมหาศาลเพื่อให้ได้ ส.ส.เขต เพื่อให้ได้คะแนนพรรคมาก แล้วจะได้จำนวน ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมี
2.คะแนนเสียงจะตกน้ำ เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต จะได้เฉพาะผู้สมัครที่ได้อันดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือตกหมด
3.การแก้ไขครั้งนี้จะทำให้เป็นละเมิดหลักการจัดสรรปันส่วนผสม
นพ.ระวี กล่าวอีกว่า พรรคเล็กเสนอว่าควรใช้วิธีคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพื่อให้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงอยู่ โดยให้นำคะแนนพรรคที่ประชาชนเลือก มาบวกกับคะแนนเขตที่ทุกพรรคได้รับการเลือกจากทุกเขตทั่วประเทศ สมมติ คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ 37 ล้านคน จะเท่ากับว่ามีคะแนนพรรค 37 ล้านเสียง คะแนนเขต 37 ล้านเสียง รวมกันเท่ากับ 74 ล้านเสียง แล้วนำมาหารด้วยจำนวน ส.ส. 500 คน ก็จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน มีตัวเลขประมาณ 1.5 แสนเสียง
ส่วนการคิดจำนวน ส.ส.พึงมีแต่ละพรรค ให้นำคะแนนแต่ละพรรคทั้งประเทศ มาบวกกับคะแนนที่แต่ละพรรคได้ในแต่ละเขต หารด้วยคะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. 1 คน จากนั้นจำนวน ส.ส.พึงมี และนำไปลบกับจำนวน ส.ส.เขตที่ได้ จะเท่ากับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นควรจะมี
นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นยังเสนอแก้ไขมาตรา 73 ใหม่ เนื่องจาก สภาพการเมืองปัจจุบันเข้าสู่วงจรอุบาทว์ การเลือกตั้งท้องถิ่นใช้ 1-20 ล้านบาท ส.ส.เขต พรรคการเมืองใหญ่ใช้ 20-50 ล้านบาท บางเขตกรณีพิเศษใช้ถึง 100 ล้านบาท พรรคใหญ่ใช้เงินหลายพันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาท เพื่อซื้อ ส.ส.เข้าสภา สร้างวัฏจักรความชั่วร้ายการเมืองไทย ส.ส.ที่ได้มา เป็น ส.ส.ที่ยกมือตามนายทุนพรรค ใครไม่ยกมือตามจะถูกบังคับตามมติพรรค ขับออกจากพรรค ส่วนเอกสิทธิ์ ส.ส.เป็นเพียงความฝันในการสภานี้ ดังนั้น
“ควรเพิ่มเติมข้อความมาตรา 73 เกี่ยวกับการซื้อเสียง ให้ระบุว่า พรรคใดก็แล้วแต่ ที่ผู้สมัครถูกจับได้จาก กกต.ว่ามีการซื้อเสียงแน่นอน ตั้งแต่ 3 เขตขึ้นไป แสดงว่าพรรคนั้นซื้อเสียง ต้องลงโทษผู้สมัคร ส.ส.และลงมติยุบพรรค” นพ.ระวี กล่าว
ถก กม.ลูกเลือกตั้ง รัฐบาล-ฝ่ายค้านเห็นแย้งเบอร์เดียวทั้งคนทั้งพรรค
เมื่อเวลา 10.00 น. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอสาระฉบับของ ครม. ในสาระสำคัญว่า ได้แก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1)พ.ศ.2564 มาตรา 83 มาตรา 96 มาตรา 91 ที่ให้มีส.ส.รวม 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คนและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และแก้ไขสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำเสนอสาระสำคัญว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... มี 31 ประเด็น และมีบทเฉพาะกาล เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องเขียนเนื้อหาเพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนการเลือกตั้ง ปี 2562
แม้กฎหมายลูกกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่มีปัญหาในการปฏิบัติ ไม่มีความเป็นธรรม เอื้อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม เขตติดต่อกันที่เขียนในกฎหมาย แต่ติดต่อแบบลากตามอำเภอใจ เว้าแหว่ง ไม่คำนึงถึงประเพณีของชุมชน และจำนวนประชากร บางเขตห่างกัน 5หมื่นคน เช่น ที่ จ.เชียงใหม่ เขต 1 และ เขต 2 ที่มีผลต่อการลงคะแนน ดังนั้นจึงกำหนดว่าในจังหวัดใดเลือกตั้งเกิน 1 คนให้แบ่งพื้นที่แต่ละเขตติดต่อกัน มีผลต่างจำนวนของราษฎรในเขตเลือกตั้งไม่เกิน 10% ซึ่งปัจจุบันมีมีฐานตัวเลขที่ 1.6แสนคนต่อเขต
นพ.ชลน่าน อภิปรายด้วยว่า กำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง โดยพรรคเพื่อไทยกำหนดเนื้อหาให้พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งนำเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอไว้ตอนแรกบัญญัติไว้ แต่ภายหลังสำนักงานกฤษฎีกาและรองนายยกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 จึงเปลี่ยนไปไม่ใช้เบอร์เดียวกัน ซึ่งตนไม่แน่ใจเจตนารมณ์ของการแก้ไขดังกล่าว
นพ.ชลน่าน อภิปรายว่า การแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ให้มีหมายเลขแตกต่างกัน เจตจำนงที่คิดได้ คือ ต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ทุกฉบับเห็นตรงกันโดยใช้หารจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เขียนชัดว่าการจัดสัดส่วนคะแนนเพื่อหาจำนวน ส.ส.ให้ใช้ตัวเต็ม เช่น พรรคเพื่อไทยได้ 40.8 ให้นำตัวเลข 40 จัดสรรตามรายชื่อ เมื่อคำนวณกับทุกพรรค ได้ส.ส. 90 คน จากนั้นให้นำ 10 คนไปหา ส.ส. จัดลำดับจากทศนิยม จากทุกพรรคที่ได้รับ เข้าระบบ เพราะไม่มีกำหนดขั้นต่ำ เพื่อให้พรรคเล็กพรรคน้อย ได้ ส.ส.เข้าสภา ซึ่งตนมองว่าเป็นวิธีที่เป็นธรรม
ด้าน นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า การกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคเป็นคนละหมายเลข เพราะเชื่อในวิจารณญาณของประชาชน เชื่อว่าประชาชนมีความสามารถเลือกพรรคและผู้สมัคร ส.ส.ที่ตัวเองชื่นชอบ การกล่าวอ้างว่าอาจทำให้ประชาชนสับสนนั้น หมายความว่ากำลังมองประชาชนไม่มีสามารถในการวินิจฉัย ซึ่งตนไม่เชื่อเช่นนั้น
ขณะที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ขอนำเสนอให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันต้องเบอร์เดียวกัน เพื่อความเรียบง่าย อยากถามว่าการเสนอแบบเบอร์เดียวกันมีปัญหาอะไร ทำไมบางฝ่ายจึงอยากได้เป็นแบบคนละเบอร์ นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเปิดเผยผลคะแนนดิบรายหน่วยสู่สาธารณะโดยไม่ต้องร้องขอ และให้มีการสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ เพื่อความโปร่งใส และผู้จัดการเลือกตั้ง ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาบัตรเขย่ง แก้เรื่องคะแนนนอกราชอาณาจักร และมีความรับผิดชอบ ซึ่งพรรคเห็นว่าข้อผิดพลาดเรื่องการขนส่งเหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ไม่ควรนำมาเป็นเหตุให้คะแนนของประชาชนตกหล่นได้ สุดท้ายสภาต้องเข้มแข็งด้วยการแก้ไขปัญหา ส.ส.ปัดเศษ โดยการกำหนดให้มีคะแนนขั้นต่ำ เนื่องจากสภาชุดปัจจุบันมี ส.ส.ปัดเศษที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองทางการเมือง อีกทั้งมีอำนาจในการต่อรองทำให้สภาล่มได้