‘บอร์ด กสทช.’ รับทราบผลประมูลคลื่นวิทยุ เอกชนเคาะราคาพุ่ง 710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากราคาตั้งต้น ด้าน ‘อสมท’ กวาดมากสุด 47 คลื่น ‘ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คฯ’ คว้า 13 คลื่น
...................................
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติรับทราบผลการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ จำนวน 71 คลื่นความถี่ ราคาตั้งต้น 398 ล้านบาท โดยผลการประมูลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลเสนอราคาประมูลเพิ่มขึ้นเป็น 710 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้น 77%
สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลที่เสนอราคาสูงสุด ได้แก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อสมท เสนอราคาประมูลสูงสุด 47 คลื่นความถี่ , บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด เสนอราคาประมูลสูงสุด 13 คลื่นความถี่ ,บริษัท เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จํากัด 3 คลื่นความถี่ ,บริษัท ดินดิน จํากัด 2 คลื่นความถี่ ,บริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จํากัด 2 คลื่นความถี่ ,บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จํากัด (มหาชน) 1 คลื่นความถี่
ห้างหุ้นส่วนจํากัด สุภัคพร กรุ๊ป 1 คลื่นความถี่ ,ห้างหุ้นส่วนจํากัด พีระยา มีเดียกรุ๊ป 1 คลื่นความถี่ และบริษัท สตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ จํากัด 1 คลื่นความถี่
พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า สํานักงาน กสทช. จะแจ้งให้ผู้เสนอราคาสูงสุดในแต่ละคลื่นความถี่มาลงนามรับรองราคาสุดท้ายที่ตนเสนอให้ครบถ้วน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสํานักงาน กสทช. จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะเสนอผลการประมูลให้ กสทช.รับรอง และประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลต่อไป
ส่วนขั้นตอนต่อไป ให้ผู้ชนะการประมูลมาชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แจ้งข้อมูลสิ่งอํานวยความสะดวกด้านกระจายเสียง และยื่นคําขออนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง พร้อมทั้งชําระค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล และหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงแล้ว ผู้รับใบอนุญาตจะสามารถเริ่มประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงได้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2565 เป็นต้นไป โดยมีระยะเวลาการ อนุญาต 7 ปี
พ.อ.ดร.นที ระบุว่า สำหรับเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูลนั้น ส่วนหนึ่งจะนําส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรายได้ส่วนใหญ่จะนําส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ จำนวน 71 คลื่นความถี่ ประกอบด้วย ความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ,ภาคเหนือ 16 คลื่นความถี่ ,ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 คลื่นความถี่และภาคใต้ 20 คลื่นความถี่
ส่วนราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงครั้งนี้ คลื่นวิทยุที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครฯและปริมณฑล มีราคาเริ่มต้นการประมูลสูงสุดอยู่ที่ 54,8300,000 บาท ส่วนคลื่นวิทยุที่ให้บริการในเขตภูมิภาค ราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท โดยการเสนอราคาแต่ละคลื่นจะแปรผันไปตามมูลค่าคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โดยการเสนอราคาต่อครั้งสูงสุดคือ 500,000 บาท และต่ำสุดคือ 4,000 บาท
“เบื้องต้นคาดว่าการประมูลครั้งนี้จะสร้างรายได้จากการประมูล ประมาณไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ส่วนเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป” นายไตรรัตน์กล่าว
สำหรับการประมูลจะแบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 60 นาที รอบแรกเริ่มประมูลเวลา 09.30-10.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลื่นความถี่ รอบที่ 2 เริ่มประมูลเวลา 11.30-12.30 น. จำนวน 22 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 คลื่นความถี่และภาคใต้ 12 คลื่นความถี่
รอบที่ 3 เริ่มประมูลเวลา 13.30-14.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 คลื่นความถี่และภาคเหนือ 6 คลื่นความถี่ และรอบที่ 4 เริ่มประมูลเวลา 15.30-16.30 น. จำนวน 13 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คลื่นความถี่และภาคใต้ 8 คลื่นความถี่ หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่
อ่านประกอบ :
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ครม.ไฟเขียว ‘อสมท’ ขอใบอนุญาตฯ เข้าร่วมประมูล ‘คลื่นวิทยุ’
‘กสทช.’เปิดประมูลคลื่นวิทยุ'บริการธุรกิจ' 74 คลื่น เริ่มต้น 448 ล.-เคาะราคา 21 ก.พ.65
กสทช.แพร่ประกาศ 3 ฉบับ เปิดผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตใช้คลื่นวิทยุ ‘บริการชุมชน-สาธารณะ’
เดือดร้อน 4 พันแห่ง!กสทช.ขีดเส้นสถานีวิทยุชุมชนเข้าสู่ ‘ระบบอนุญาต’ ดีเดย์ 4 เม.ย.65