สธ.ยอมรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ทั่วประเทศครองเตียง 46.4% แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบ-ใส่ท่อช่วยหายใจไม่พุ่ง เชื่อระบบสาธารณสุขยังรองรับไหว ขณะที่ฉีดวัคซีนสะสม 120 ล้านโดส เสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง 4 ราย ส่วนเด็ก 12 ปี ระบุไม่เกี่ยววัคซีน พบเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกับ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการบริหารจัดการเตียงโควิด และอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด
โดย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์โควิดตั้งแต่ 16 ม.ค.-16 ก.พ. 2565 ในช่วงเดือน ม.ค. (16 ม.ค. 2565) มีจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล 33,286 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 495 ราย คิดเป็น 0.6% ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 115 ราย คิดเป็น 0.1% และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย เฉลี่ยเดือน ม.ค. ประมาณ 18 ราย
ขณะที่ในช่วงเดือน ก.พ. (16 ก.พ. 2565) มีจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล 64,900 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 728 ราย คิดเป็น 0.5% ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 163 ราย คิดเป็น 0.1% และมีผู้เสียชีวิต 27 ราย เฉลี่ยเดือน ก.พ. ประมาณ 23 ราย
“จำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศในเดือน ก.พ.นี้ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ แม้จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 728 ราย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่เพิ่มตามจำนวนผู้รักษา เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะพบว่าลดลงกว่าเดือนที่ผ่านมาด้วยซ้ำ จาก 0.6% ตอนนี้อยู่ที่ 0.5% ขณะที่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 50 ราย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และคิดเป็น 0.1% เท่านั้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์โควิดของผู้ป่วยเด็กนั้น จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จะพบว่าในช่วงเดือน ม.ค. 2565 (1-31 ม.ค. 2565) มีจำนวนผู้ป่วยเด็กทั้งหมด 207 ราย ขณะที่ในช่วงครึ่งเดือน ก.พ. 2565 (1-16 ก.พ. 2565) มีจำนวนผู้ป่วยเด็กทั้งหมด 147 รายแล้ว ยอมรับว่า จำนวนผู้ป่วยเด็กในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า ประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก โดยเดือน ก.พ.เข้าระบบ HI แล้ว 2,179 ราย จากเดิมในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จะมีผู้เข้าระบบ HI ในแต่ละวันเฉลี่ย 500 ราย
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของหน่วยบริการสาธารณสุขทุกสังกัดใน กทม.พบว่า มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ HI รายใหม่ในแต่ละวันได้ถึง 5,540 ราย ส่วนศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation (CI) ตอนนี้มี 3,481 เตียงใน 27 แห่ง อัตราครองเตียง 1,701 ราย ว่าง 1,780 ราย
“โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศว่าจะมีการเปิดเพิ่มอีก 13 แห่ง รวมกว่า 1,000 เตียง เพราะฉะนั้นเราจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดใน CI เพิ่มเป็นประมาณ 5,000 เตียง รวมแล้วในแต่ละวัน กทม.จะรับผู้ป่วยสีเขียวเข้าระบบ HI และ CI ได้ประมาณวันละ 10,000 ราย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงจำนวนเตียงในโรงพยาบาล ร่วมกับฮอสพิเทล (Hospitel) แต่ไม่รวม HI และ CI ใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ว่า มีเตียงสะสม 174,029 เตียง ครองเตียง 80,756 เตียง ว่าง 93,273 เตียง คิดเป็นอัตราครองเตียง 46.4% อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เตียงเฉพาะ กทม.ทั้งหมด 55,369 เตียง ครองเตียง 25,359 เตียง ว่าง 30,010 เตียง อัตราครองเตียง 45.8%
“ส่วนใหญ่ปริมาณเตียงจะอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะมีการดำเนินการฮอสพิเทล แต่มีบางส่วนที่ตึง เช่น กรมควบคุมโรค ขยายเพิ่มเข้าไปอีกเป็น 162 เตียง แต่ที่อื่นยังมีเตียงว่างอยู่ แต่หลังจากวันที่ 1 มี.ค. 2565 หากมีการยกเลิกยูเซ็ปโควิด (UCEP Covid) เตียงในฮอสพิเทล ก็อาจจะหายไปบางส่วน แต่เราก็เตรียมรองรับไว้ จึงอยากเน้นย้ำว่า ให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยใช้นโยบาย HI/CI First เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลเพียงพอรองรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ ทั้งนี้ เทียบจำนวนเตียงในช่วงพีคปีที่แล้ว วันที่ 10 ก.ย. 2564 มีเตียงใน กทม. รวม 76,000 เตียง แต่ขณะนี้เรายุบเหลือ 40,000 กว่าเตียง ต้องเรียนว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยทั่วไป (Non Covid) เสียโอกาสในการรักษาไปมาก เช่น การผ่าตัดถูกเลื่อน เพราะต้องเอาเตียงมาให้ผู้ป่วยโควิด แต่ขอให้มั่นใจว่า หากติดเชื้อมากขึ้น เราก็พร้อมขยายเตียงรองรับ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ตายจากวัคซีนโดยตรง 4 ราย
ด้าน นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิดว่า การฉีดวัคซีนสะสมจนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2565 จำนวน 120,009,906 โดส จำแนกเป็น 26,485,653 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 46,827,778 โดส ซิโนฟาร์ม 14,749,290 โดส ไฟเซอร์ 27,644,776 โดส และโมเดอร์นา 4,302,409 โดส พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ดังนี้
เสียชีวิตจากโควิดวันนี้ เป็นผู้สูงวัย-ป่วยเรื้อรังทั้งหมด ขณะที่มียอดฉีดเข็มสาม 27.7%
-
การแพ้รุนแรง 79 ราย จำแนกเป็น ซิโนแวค 43 รายคิดเป็น 0.16 ต่อแสน แอสตร้าฯ 22 รายคิดเป็น 0.05 ต่อแสน ซิโนฟาร์ม 3 รายคิดเป็น 0.02 ต่อแสน ไฟเซอร์ 11 รายคิดเป็น 0.04 ต่อแสน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำทุกตัว
-
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จำแนกเป็น 31 ราย เป็นแอสตราฯ 1 รายคิดเป็น 0.002 ต่อแสน ซิโนฟาร์ม 1 รายคิดเป็น 0.01 ต่อแสน ไฟเซอร์ 29 รายคิดเป็น 0.1 ต่อแสน
-
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ จำแนกเป็น 6 ราย เป็นแอสตราฯ 5 ราย คิดเป็น 0.01 ต่อแสน และไฟเซอร์ 1 ราย คิดเป็น 0.004 ต่อแสน
ส่วนผู้เสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนที่ได้รับรายงาน 2,081 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจาณาแล้ว 1,464 ราย สรุปได้ว่า เกี่ยวข้องกับวัคซีน 4 ราย แยกเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย แพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อค 1 ราย และมีอาการ Stevevs-Johnson syndrome และอาการแพ้ทางผิวหนัง 1 ราย เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน 177 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 116 ราย เลือดออกในสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 2 ราย อื่นๆ 40 ราย เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 938 ราย เช่น เลือดออกในสมอง 67 ราย ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย ปอดอักเสบรุนแรง 402 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 7 ราย โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 163 ราย นอกนั้นยังต้องหาข้อมูลเพิ่มติดตามต่อเนื่อง และที่ยังไม่สามารถสรุปได้
เด็ก 12 ปีเสียชีวิต ไม่เกี่ยวฉีดวัคซีน พบเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ
สำหรับ กรณีเด็กชายอายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า หลังฉีดวัคซีนเด็กชายมีอาการปกติ กลับบ้านมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีอาการปวดขาข้างซ้ายในวันเดียวกับที่ฉีด ต่อมา 3 วันหลังจากนั้น วันที่ 28 ม.ค. มีอาการปวดเข่า รักษาที่คลินิก อาการไม่ดีขึ้น มีอาการอ่อนแรงและปวดขามากขึ้นทั้ง 2 ขา วันที่ 2 ก.พ. ไปโรงพยาบาลเอกชนด้วยอาการอ่อนแรง ยกขาไม่ขึ้น ขาลายมีรอยจ้ำเขียว ยกไม่ขึ้น ปัสสาวะน้อย แพทย์สงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งต่อโรงพยาบาลกระบี่ได้ให้ยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตในวันที่ 3 ก.พ. ผลตรวจในห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดขาวสูง เพาะเชื้อจากเลือดพบเชื้อแบคทีเรีย
คณะผู้เชี่ยวชาญสรุปผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ ร่วมกับมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่พบการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน ข้อมูลการตรวจจากป้องปฏิบัติการสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นๆไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดช่วงเวลาใกล้เคียง