‘รังสิมันต์’ อภิปรายเดือด ย้อนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาปี 58 ทำ ‘พล.ต.ต.ปวีณ’ มือทำคดี ถูกบีบให้ออก ต้องลี้ภัยไปออสเตรเลีย ถาม ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ รู้เรื่องหรือไม่ ทำไมไม่ปกป้องตำรวจน้ำดี
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายเป็นการทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ.2565 รวม 30 ชั่วโมง แบ่งเป็นเวลาของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีเวลา 22 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล และ ครม. 8 ชั่วโมง
เมื่อเวลา 18.07 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย.2564 กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) จากกลุ่มเทียร์ 2 ลงไปอยู่เทียร์ 2 watch list หรือเกือบแย่สุดจากทั้งหมด 4 ระดับ เมื่อดูรายละเอียดมีสิ่งน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น มีการลักลอบขนคนผิดกฎหมายข้ามชายแดนระหว่างเมียนมา-ไทย มีการเรียกเก็บเงิน 1-7 หมื่นบาท โดยขบวนการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจ ทหาร ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตรวจเงินเข้าเมือง ตำรวจพื้นที่บางคนปกปิดข้อมูลไว้ไม่ให้ถูกฟ้องคดี แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนก็ได้รับประโยชน์ด้วย
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราเคยมีความพยายามในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ครั้งที่ใหญ่ที่สุด เท่าที่ประเทศนี้เคยมีมา เอาตัวคนผิดมาลงโทษได้ตั้งแต่นายหน้าค้ามนุษย์ ตั้งแต่คนทั่วไปจนถึงทหารระดับสูง กรณีที่ว่าคือการค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่นำทีมสืบสวนและดำเนินคดีโดย พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เมื่อปี 2558
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า พล.ต.ต.ปวีณ ได้สาวถึงนักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ และทหารหลายนาย โดยชื่อที่ใหญ่ที่สุดคือ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่นที่ 16 ทำให้ไทยถูกเพิ่มระดับใน TIP Report มาเรื่อยๆ ขณะที่ พล.ต.ต.ปวีณ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ทั้งนี้ คำให้การของ พล.ต.ต.ปวีณ ที่ให้ต่อทางการประเทศออสเตรเลีย เพื่อใช้ในการขอลี้ภัย เป็นกระบวนการตามกฎหมายของออสเตรเลีย เป็นการให้การโดยสาบานว่าเป็นความจริง โดยมีลายเซ็น พล.ต.ต.ปวีณ กำกับไว้ทุกหน้า
นายรังสิมันต์ กล่าวย้ำว่า พล.ต.ต.ปวีณ เป็นตำรวจมือฉมัง มีผลงานปราบมาเฟียแท็กซี่ภูเก็ต สืบสวนคดีโรงพักตำรวจทั่วประเทศ และคดีค้ามนุษย์ จนนำไปสู่การออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง เช่น เจ๊ง้อ หนึ่งในขบวนการค้ามนุษย์รายใหญ่ในระนองที่เสียชีวิตไปแล้ว ตนเองทราบมาว่า เจ๊ง้อ มีสายสัมพันธ์โยงใยไปถึงนายทหารระดับอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่อยู่ในรัฐบาลนี้ด้วย และเพิ่งมีข่าวว่า ลูกสาวเจ๊ง้อ เพิ่งถูกจับเมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่คดีผ่านไปแล้ว 6 ปี และเพิ่งจับได้หลังจากไทยถูกลดระดับเพียงไม่กี่เดือน
นอกจากนั้น ยังมีอีกชื่อสำคัญที่รับเงินในขบวนการค้ามนุษย์ คือ พล.ท.มนัส ที่มีรายการธุรกรรม 14 ล้านบาท ซึ่ง พล.ต.ต.ปวีณ มารู้ทีหลังจากสื่อมวลชน เนื่องจาก พันตำรวจ อ. ไม่ยอมส่งหลักฐานให้ สลิปการโอนเงินเป็นหลักฐานสำคัญในการออกหมายจับในเวลาต่อมา ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่คุมตำรวจในเวลานั้นรู้บ้างหรือไม่
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อด้วยว่า ยังพบว่ามีการใช้เส้นสายพวกพ้องเพื่อช่วยเหลือ พล.ท.มนัส ให้ได้รับการประกันตัว ขณะที่ พล.ต.ต.ปวีณ ถูกกดดันจากตำรวจและทหาร แต่ท้ายที่สุดทีมสอบสวน พล.ต.ต.ปวีณ ก็สรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุดเป็นเอกสาร 699 แฟ้ม คิดเป็นกระดาษ 271,300 แผ่น ออกหมายจับผู้ต้องหา 153 คน ทั้งหมดเหมือนจะจบลงได้ด้วยดี คดีปัจจุบันดำเนินไปถึงศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษ 75 คน แต่สำหรับ พล.ต.ต.ปวีณ กลับเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2558 ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานในเวลานั้น ย้าย พล.ต.ต.ปวีณ ให้รักษาราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รองผบช.ศชต.) ซึ่งการส่งไปชายแดนใต้ ซึ่งมีเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์อย่างแน่นหนา เป็นเขตอิทธิพลทหาร เขาจึงเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกหมายเอาคืน อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.ปวีณ เคยขอให้ทบทวนคำสั่ง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงนำไปสู่การยื่นใบลาออก เพื่อรักษาชีวิตตัวเองเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558
“ผมมีโอกาสได้พูดคุย พล.ต.ต.ปวีณ เป็นการส่วนตัว เขาบอกว่าคดีนี้มีเรื่องให้สืบสวนอีกมาก อยากให้ลองคิดว่า ขบวนการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่ ต้องขนคนจำนวนมากเข้าน่านน้ำไทย แต่จับตัวทหารเรือยศนาวาโท 1 คน ทหารบก 3 คนนอกเหนือจาก พล.ท.มนัส เป็นไปได้หรือไม่ที่ นาวาโทคนเดียวคุมทั้งทะเลอันดามัน และสั่งเปิดทางให้ขบวนการค้ามนุษย์ล่องเรือมาได้” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า การขัดขวางการสอบสวนของทีม พล.ต.ต.ปวีณ ที่เกิดขึ้น เพื่อตัดตอนคดีนี้ เอาแค่ไม่ให้สาวได้ไกลว่า พล.ท.มนัส ที่เสียชีวิตอย่างปริศนาในเรือนจำ ซัดทอดอะไรไม่ได้อีกแล้วใช่หรือไม่ ตนยังได้รับข้อมูลจากคนที่เคยนอนร่วมห้องขังกับ พล.ท.มนัส ที่เคยพูดถึงคดีตัวเองว่า ตอนทำรับผลประโยชน์กันทุกคน แต่ตอนโดนทำไมโดนอยู่คนเดียว ถ้าออกไปได้ จะเอาคืนให้หมด
นายรังสิมันต์ อภิปรายด้วยว่า คำให้การ พล.ต.ต.ปวีณ ที่ให้ไว้กับทางการออสเตรเลีย ระบุว่า ไม่กี่วันหลังจาก พล.ต.ต.ปวีณ ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558 ได้รับโทรศัพท์และพูดคุยกับนายตำรวจและนายทหารที่เสนอให้เลือกว่าจะไปทำงานที่หน่วยงานอื่นหรือจะทำคดีค้ามนุษย์ต่อ รวมถึงให้ไปถอนใบลาออกจาก ผบ.ตร. แต่ต่อมาก็ได้รับคำยืนยันให้ลาออกและอยู่เงียบๆ พล.ต.ต.ปวีณ จึงไม่สามารถไว้วางใจผู้บังคับบัญชาได้ และตัดสินใจขอลี้ภัยไปออสเตรเลียเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2558
นายรังสิมันต์ กล่าวย้ำว่า กรณีดังกล่าวขอตั้งคำถามไปที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในขณะนั้นได้คุ้มครอง พล.ต.ต.ปวีณ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน ก.ตร.ได้ปกป้องหรือไม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้คุ้มครองตำรวจน้ำดีแบบนี้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายรังสิมันต์ อภิปรายจบ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายประเด็นทีเกี่ยวข้องกับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นรถไฟฟ้าและการแก้ปัญหาไขความยากจน
จากนั้น นายรังสิมันต์ ลุกขึ้นประท้วงและขอให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงประเด็นที่ตนเองอภิปราย พร้อมถามว่า “ท่านจะใจดำอำมหิตแบบนี้จริงๆหรือ”
ต่อมา นางกรณิศ งามสุนคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้ประท้วงและขอให้ถอนคำพูด ทำให้ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ประธาน ขอให้นายรังสิมันต์ ถอนคำพูด แต่นายรังสิมันต์ ยืนยันว่าจะไม่ถอน
ทำให้ นายสุชาติ กล่าวว่า ตามข้อบังคับ หากขอให้ถอนคำพูดแล้วไม่ถอน ประธานจะขอเชิญออกจากห้องประชุม ทำให้นายรังสิมันต์ ยืนยันว่า จะไม่ถอนคำพูด และยินดีออกจากห้องประชุม
'ชัยวุฒิ'เผยกำลังศึกษา Single Gateway คุมอินเทอร์เน็ต รับมือมิจฉาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 เวลา 13.30 น. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงต่อสภาถึงปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งรัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งเราทำมาโดยตลอด ส่วนปัญหาที่พบว่ามีความแพร่หลายมาก เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ประชาชนมีโทรศัพท์มือถือกว่า 100 ล้านเครื่อง เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 70% ทั้งนี้ระบบการสื่อสารเราเป็นระบบเปิด ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร มิจฉาชีพก็ใช้ช่องทางนี้ในการติดต่อประชาชน ใช้ความโลภ ความอยากได้ และความกลัวในการหลอกลวงประชาชน ปัจจุบันเราดำเนินคดีไปแล้วหลายพันคดี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชา
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนจะทำอีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญคือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต ขอเรียนว่าเราอาจจะต้องแกกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาและจะเร่งนำเข้าสู่สภา เพราะวันนี้อำนาจรัฐบาลในการปิดกั้น ข้อมูลหรือเว็บไซต์สิ่งที่ผิดกฎหมายในระบบออนไลน์ยังทำได้ช้า ทำได้ไม่เต็มที่ เป็นข้อจำกัด ทำให้เราเห็นว่ามีการใช้อินเทอร์เน็ตหลอกลวงประชาชนและทำผิดฎหมายจำนวนมาก จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายในอนาคตแน่นอน ก็ขอความร่วมมือเพื่อนสมาชิกให้ช่วยให้ความเห็นชอบต่อไป
อีกเรื่องที่รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก คือการที่เราจะควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต การส่งข้อมูลข่าวสารในประเทศให้ปลอดภัย ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง เราพูดถึง Single Gateway เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ รัฐบาลก็คุมไม่ได้ พอเป็นระบบเปิด ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการส่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงคนร้ายที่ใช้เป็นช่องทางในทำร้ายประชาชน
“เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายมาก ซึ่งรัฐบาลศึกษาอยู่คือเรื่อง Single Gateway หลายประเทศ นำระบบนี้มาใช้ แก้ปัญหาอาชญากรรม แก้ปัญหาสิ่งผิดกฎหมายได้อย่างชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” นายชัยวุฒิ กล่าว
'ประยุทธ์'ปัดยกสมบัติชาติให้เอกชน เจรจาเหมืองทองอัคราตามคำแนะนำอนุญาโตฯ
เมื่อเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงต่อสภา ว่า กรณีเหมืองทองอัคราเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535-2544 รัฐบาลช่วงนั้นได้เห็นชอบตามกฎหมาย เชิญชวนให้มีการลงทุน ด้วยการลดค่าภาคหลวง ออกใบอนุญาตสำรวจ ใบอนุญาตประทานบัตร สนับสนุให้มีการทำเหมืองทองใน จ.พิจิตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เดินทางไปต้อนรับการเปิดเหมืองผลิตทองคำ ทำประโยชน์ให้กับประเทศและผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจากต่างประเทศ ปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดิมอยู่
กระทั่งปี 2554 รัฐบาลต่อมา ได้ระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตร 1 แปลงยาวนานมาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เป็นปัญหาที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับขั้นตอนการออกใบอนุญาต และเรื่องอยู่ในศาลปกครองจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษตกค้างจากการทำเหมือง ต่อมารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำหน้าที่ เป็นข้อเท็จจริงว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาก่อน และได้พิจารณาการนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้อย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นมีข้อโต้แย้งมาก เป็นหน้าที่ที่ต้องทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ และกรอบนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมือง ลดปัญหาหมักหมม รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ภายหลังการปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ พ.ศ.2560 มีการออกนโยบายทำเหมืองแร่ใหม่ในปีเดียวกัน มีเอกชนเข้ามาขอใบอนุญาตใหม่และขอต่อใบอนุญาตเดิมกว่า 100 ราย เป็นการดำเนินการตามปกติ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ก็เป็นบริษัทหนึ่ง แม้จะมีผู้ถือหุ้นมีคดีความฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดสิทธิต่อบริษัทที่จะเดินเรื่องขอต่อใบอนุญาต ตามที่ประทานบัตรหมดอายุในปี 2555 ที่ขอต่ออายุไว้เมื่อปี 2554 แต่ยังถูกระงับการต่ออายุ และปี 2563 อีก 3 แปลงที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ ซึ่งจะหมดภายหลังที่บริษัทหยุดกิจการปลายปี 2559 และได้ขอต่ออายุไว้แล้วก่อนที่จะหมดอายุ
บริษัทอัคราฯทำตามขั้นตอนเช่นเดียวกับเอกชนรายอื่น เป็นที่มาของการได้รับการต่อใบอนุญาตต่อประทานบัตร 4 แปลงปลายปี 2564 ไม่ได้เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนอะไรกับรัฐบาลทั้งสิ้น รัฐบาลไม่ได้ตั้งเงื่อนไขใดๆ เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ฯ ฉบับใหม่
“ประเด็นสำคัญคือการต่อใบอนุญาต 4 แปลง เป็นแปลงเดิมตั้งแต่ปี 2536 และ 2543 ตามลำดับ หากผมจะถูกตีความว่าการต่อใบอนุญาตเป็นการยกทรัพยากรธรรมชาติหรือสมบัติชาติให้เอกชนตามอำเภอใจ ข้อกล่าวหานี้เป็นการกล่าวหาตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้น หรือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ขัดต่อนโยบายการทำเหมืองตั้งแต่อดีตที่ผูกพันมาจนถึงปัจจุบัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ตนได้เรียนหลายครั้งแล้วว่า การเจรจาทุกครั้งเกิดจากคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นทางออกที่ดี สำหรับกรณีพิพาทนี้มีความไม่เข้าใจกันอยู่หลายประการ ซึ่งการเจรจาบนความไม่เข้าใจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
การใช้มาตรา 44 ตนไม่เข้าใจว่าผู้อภิปรายมีความพยายามและปรารถนาอย่างยิ่งยวดเพื่อชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อประโยชน์ของใครก็แล้วแต่ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่เสียประโยชน์ เหมือนผู้อภิปรายอยากให้ประเทศและตนเองเสียหาย อยากให้ตนมีความผิดในการใช้มาตรา 44 หรือ กฎหมายปกติตามคำแนะนำของกระทรวง
“ขอให้ไปดูสาระรายละเอียดในมาตรา 44 เขาเขียนไว้ว่าเป็นเรื่องของการตรวจสอบ ให้ทุกเหมือง ทุกประเภท ก็ทำให้อยู่ในกรอบกฎหมาย หลายเหมืองถูกปิดเวลาเดียวกัน เมื่อแก้ไขแล้ว ขออนุญาตเปิดใหม่ได้ทุกตัว แต่กรณีนี้อาจมีความไม่เข้าใจ เขามองประเด็นแรกว่าเราต้องการยึดเหมืองเขา ซึ่งมันไม่ใช่ ขณะเดียวกันการพูดคุยกันดีในอนุญาโตตุลาการ มีแนวโน้มเชื่อว่าการลงทุนก็คงเดินหน้าต่อไป ต้องให้ความเป็นธรรมเขาที่เขาต่อใบอนุญาต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า หากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต คงไม่ใช่ตนคนเดียว ต้องย้อนกลับไปรัฐบาลปีไหนก็ไม่รู้ ทำไมไม่แก้มาตั้งแต่ตอนนั้น ย้อนไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ขอให้เข้าใจว่าปัญหาที่มาอภิปรายในสภา บางเรื่องเคยได้รับการแก้ไขหรือไม่ ก็ไม่เคย บางเรื่องมาแก้ไขรัฐบาลนี้ ก็ไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่ฟัง บางอย่างอยู่ในกระบวนการก็มาตีให้แตกตั้งแต่ต้น ถามว่าประเทศไทยจะไปตรงไหน มีวิธีการที่แก้ไขที่ดีกว่านี้หรือไม่ ขอให้เสนอมา
“ผมขอแค่นี้ ขอให้สภาเป็นสถานที่รับฟังข้อเสนอแนะ ผมพร้อมจะฟัง แต่ท่านก็มุ่งหวังว่าจะตีรัฐบาล จะให้นายกรัฐมนตรีออกให้ได้ ผมว่าไม่ถูกครับ ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เมื่อวานมาบอกให้ผมลาออก ยื่นใบลาออก เก็บไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน ผมยังไม่ลาออกอะไรทั้งนี้น ขอบคุณครับ สวัสดีครับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านั้น รวมถึงการลำดับเหตุการณ์การขออนุญาตเปิดเหมืองทองอัครา ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
'จิราพร'จี้ตอบคดีเหมืองทองอัครา คนรับผิดชอบคือ'ประยุทธ์'หรือประเทศ
เมื่อเวลา 09.30 น. น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องคดีเหมืองทองอัครา ว่า พรรคเพื่อไทยได้นำเรื่องนี้มาอภิปรายเป็นครั้งที่ 4 แม้จะมีการตั้งคำถามหลายประเด็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่เคยตอบตรงคำถามและปกปิดเป็นความลับ ทำให้ยิ่งสลับซับซ้อนกลายเป็นคดีระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับประเทศ
น.ส.จิราพร กล่าวว่า คดีเหมืองทองอัครา ที่มี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลียเป็นบริษัทแม่ได้ฟ้องร้อง ราชอาณาจักรไทย ถูกเลื่อนออกคำชี้ขาด 4 ครั้ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ครั้งล่าสุดถูกเลื่อนจากวันที่ 31 ม.ค.2565 เป็นการเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด และมีข้อสังเกตว่าทุกครั้งที่มีการเลื่อนออกคำชี้ขาด ประเทศไทยก็ทยอยคืนสิทธิ์ในการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ ให้สิทธิ์อื่นๆ เกือบทุกครั้ง
- 'รัฐบาลไทย' อนุมัติประทานบัตรฯ 4 ฉบับ พื้นที่ 'เหมืองทองคำชาตรี' ให้ 'คิงส์เกต'
- โฆษกรัฐบาลโต้ 'เพื่อไทย' ปัดรัฐไฟเขียว 'คิงส์เกต' เปิดเหมืองทองใหม่
“คำถามที่เคยถามตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้ว้างใจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยตอบ วันนี้จะขอถามอีกครั้งว่า สรุปแล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับ บริษัทคิงส์เกต จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการ แล้วเดินหน้าเจรจากัน หรือจะเลือกไม่เจรจาแต่สู้คดีจนถึงที่สุด” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวอีกว่า หากไทยจะสู้คดีนี้จนถึงที่สุด ไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และต้องจ่ายสิ่งที่เรียกว่าค่าโง่ ไม่ว่าจะรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ วันนี้ถ้าแพ้คดี ประชาชนอยากรู้คำตอบที่สุดก็คือ คนที่ต้องรับผิดชอบคือ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ประเทศ
นอกจากนั้นยังขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อสภาอย่างตรงไปตรงมาว่า การเปิดทางให้บริษัทนำผงเงิน ผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกไปขาย การให้สิทธิ์สำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิ์ต่อประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความหรือไม่ หากไม่ เหตุใดการฟ้องร้องจึงยังไม่เป็นที่ยุติ แต่รัฐบาลไทยไปเปิดเหมืองให้เขาทำต่อแล้ว
“การเจรจาประนีประนอมยอมความ เพื่อนำไปสู่การถอนฟ้อง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากให้มีการตัดสิน มาตรา 44 ใช่หรือไม่” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวด้วยว่า หากคณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาด ต้องชี้สถานะทางกฎหมายของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ในเวทีสากล
“หากมีการว่าชี้สถานะของมาตรา 44 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ก็จะกลายเป็นสึนามิสะเทือนรัฐบาล อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตีความเป็นองค์กรอาชญากรรม กลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนแรกของไทย ที่ต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะเหตุนี้หรือไม่ จึงพยายามเจรจาให้ถอนฟ้อง เพราะหากถูกตัดสินว่า มาตรา 44 ผิด ก็จะกลายเป็นอาฟเตอร์ช็อคที่สะเทือน พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐประหารทั้งหมด” น.ส.จิราพร กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ใช้สิทธิ์เสนอแนะปัญหาประเด็นเหมืองทองอัครา ว่า ตนเคารพในความเห็นและเจตนาที่ดีของ ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่ต้องบอกว่ามีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนจากความถูกต้องอย่างมาก ทั้งนี้หากย้อนกลับไป กรณีข้อพิพาทเรื่องเหมืองทองคำ ถูกสะสมมาอย่างยาวนาน ทั้งการคัดค้านการทำเหมือง ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีเหมืองทองอัครา เคยมีการสุ่มตรวจประชาชนรอบเหมือง และตรวจพบสารพิษและโลหะหนักในเลือด
“แม้จะยังไม่สรุปว่าเป็นผลโดยตรงจากการทำเหมืองแร่หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว แสดงถึงความเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ การใช้มาตรา 44 ไม่ได้เป็นการลุแก่อำนาจ แต่เป็นการปฏิบัติต่อเหมืองแร่ทองคำทุกแห่งเท่าเทียมกัน” ร.อ.จองชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ ร.อ.จองชัย มีการอภิปราย ได้มีการทักท้วงจากฝ่ายค้านหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่า การอภิปรายเป็นการทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ควรให้ฝ่ายค้านได้ตั้งคำถามและเสนอแนะประเด็นปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีครั้งใดที่ฝ่ายรัฐบาลจะมาอภิปรายหรือตอบคำถามแทน ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้น ชี้แจงว่า แต่ละฝ่ายอภิปรายในเงื่อนเวลาของตัวเอง ฝ่ายรัฐบาลก็จัดสรรเวลาส่วนหนึ่ง หากจะอภิปรายหรือประท้วงก็หักเวลาฝ่ายนั้น ขอให้ฟัง ร.อ.จองชัย อภิปรายอีกหน่อยเพื่อดูว่ามีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลอย่างไร หากเป็นไปตามลักษณะชี้แจงแทน ก็จะมีการตักเตือนต่อไป