ศบค.เผยยังวางใจสถานการณ์โควิดไม่ได้ แม้สัปดาห์นี้กราฟเริ่มมีแนวโน้มจะลง แต่หลายพื้นที่ยังติดเชื้อสูง โดยเฉพาะ 10 จังหวัดมีรายงานป่วยใหม่สูงสุด ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่า ขณะที่ กทม. พบคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ติดเชื้อแล้ว 228 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด ว่า ตั้งแต่ปีใหม่การติดเชื้อมีทิศทางสูงขึ้น แต่สัปดาห์นี้แนวโน้มกราฟทำท่าว่าจะลง แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะหลายจังหวัดในประเทศมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ต้องดูรายงานแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนที่ ศบค.ห่วงคือ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งบ้านเราการติดเชื้อเป็นโอไมครอน 80% เดลต้า 20% ดังนั้นจะสรุปว่าเป็นการติดเชื้อโอไมครอนไม่รุนแรง ก็ยังวางใจไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ กทม.จะติดเชื้อลดลงเหลือ 2,892 ราย ก็ยังสูงอยู่ กระทรวงสาธารณสุขทำกราฟว่า ตั้งแต่ต้นปีถึง 6 สัปดาห์ มีจังหวัดที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่า คือ กทม. ปริมณฑล โดยเฉพาะ 10 จังหวัดที่มีรายงานสูงสุด เช่น กทม.จาก 9,774 ราย เพิ่มเป็น 17,852 ราย, สมุทรปราการ จาก 5,859 ราย เป็น 6,940 ราย, ชลบุรีจาก 3,057 ราย เป็น 4,862 พันราย, นนทบุรี จาก 3,021 ราย เป็น 4,398 ราย, ภูเก็ต 2,706 ราย เป็น 3,046 ราย, นครราชสีมา จาก 1,269 ราย เป็น 2,222 ราย, ราชบุรี จาก 1,161 ราย เป็น 2,079 ราย, สมุทรสาคร 967 ราย เป็น 2,064 ราย, นครศรีธรรมราช 1,125 ราย เป็น 1,971 ราย และนครปฐม จาก 956 ราย เป็น 1,893 ราย
หลายจังหวัดแม้ไม่ได้เพิ่มอย่างกลุ่ม 10 จังหวัดแรก แต่มีทิศทางเพิ่ม เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ปทุมธานี มหาสารคาม ระยอง ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี และเพชรบุรี เป็นกลุ่มจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
คลัสเตอร์ที่สำคัญยังเป็นร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์, ตลาด ซึ่งที่ติดเชื้อซ้ำซาก คือ แออัด ระบายอากาศไม่ดี ผู้ค้าไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา ลูกค้าแออัด ไม่จำกัดจำนวนคน ไม่เข้มงวดการตรวจ ATK, สถานประกอบการ โรงงาน มักติดเชื้อในส่วนของการกินอาหารร่วมกัน เพราะเจอทุกวันไว้วางใจ เปิดหน้ากากพูดคุย ไม่เว้นระยะห่างเพียงพอ และมักรับเชื้อจากบ้านมากระจายที่ทำงาน ทำงานไม่เคร่งครัดมาตรการ ไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา เน้นย้ำมาตรการ Bubble & Seal เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไปยังแผนกอื่น, งานประเพณี มีทั้งงานศพ พิธีกรรมไม่ได้เกิดโอกาสแพร่เชื้อ แต่หลังพิธีกรรมมีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกัน ตั้งวงดื่มสุรา ละเล่นหมอลำ ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญติดเชื้อ
ทั้งนี้ พบว่า 2 เขตของ กทม.มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเกิน 100 คน คือ เขตราชเทวีและป้อมปราบศัตรูพ่าย ส่วนอีก 9 เขต ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย แต่เกิน 60 ราย ได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ จตุจักร หนองแชม ห้วยขวาง สะพานสูง ดุสิต บางพลัด และบางแค
ในเขตดอนเมือง พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน จากแคมป์คนงาน ติดเชื้อยืนยัน 228 ราย จากทั้งหมด 758 ราย คิดเป็น 30.01% และยังมีแคมป์คนงานอื่นๆ อีก 5 แคมป์ ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์แคมป์คนงานก่อสร้างที่พบการติดเชื้อ พบว่าความเสี่ยงเกิดในช่วงเวลาพัก มีการรวมกลุ่มสูบบุหรี่ ใช้กระติกน้ำ และแก้วใบเดียวกัน กินอาหารร่วมกัน จุดสัมผัสร่วม เช่น ห้องน้ำไม่ได้ทำความสะอาด รถรับส่งคันคนงานเบียดเสียดแออัด
นอกจากนี้ กทม.ยังพบการติดเชื้อในโรงเรียน 13 แห่ง มีทั้งโรงเรียนอนุบาล มัธยม โรงเรียนประจำ ปัจจัยส่วนใหญ่พบนักเรียนติดเชื้อจากครอบครัว พอมาโรงเรียน ไม่ได้มีการคัดกรองและเกิดการแพร่เชื้อในชั้นเรียน จุดสัมผัสร่วมคือตู้กดน้ำดื่ม โต๊ะอาหาร คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ รถรับส่งด้วย รวมถึงจัดพิธีจบการศึกษา สังสรรค์รวมกลุ่ม ย้ำว่าช่วงนี้ผ่อนคลายเพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน แต่ยังต้องเข้มงวดมาตรการ การรวมกลุ่มต้องงดเว้น ฝากพ่อแม่ผู้ปกครองประเมินไทยเซฟไทยทุกวัน รวมถึงบุคลากรครูช่วยคัดกรองความเสี่ยง หากมีอาการให้แจ้งไปโรงเรียนก็จะป้องกันได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่ กทม. แต่ กทม.ยืนยันศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อเพียงพอ โดยมีผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) จำนวน 19,040 ราย รับใหม่ 1,829 ราย ส่วนผู้ที่เข้ารับการรักษาในชุมชน (Community Isolation) 27 แห่ง ใช้บริการ 1,144 ราย ศักยภาพการรองรับและเตียงสีเหลืองสีแดง ใช้งาน 40% ยังมีเตียงเหลือ แต่ที่ สธ.กังวลคือการฉีดเข็มสามยังลดความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ และเมื่อต้องผ่อนคลายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เปิดเรียน เปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ เน้นย้ำประชาชนเฝ้าระวังป้องกันส่วนบุคคลเข้มงวด สถานประกอบการหากมีพนักงานยังไม่รับวัคซีนให้ติดต่อเข้ารับวัคซีน เข้มมาตรการสาธารณสุขจะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ