ศบค.เผยเปิดรับลงทะเบียน Test&Go วันแรก 1 ก.พ.นี้ ปรับรูปแบบใหม่ใช้ยาแรง-คุมเข้ม เพิ่มตรวจหาเชื้อโควิดโดยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง หลังพบมี นทท. 22 คนหายตัวหลังพบว่าติดเชื้อ ย้ำ กทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ. 2565) จะเปิดระบบลงทะเบียนนักท่องเที่ยวเข้าไทยรูปแบบ Test&Go เวอร์ชันใหม่ โดยเพิ่มเงื่อนไข การตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกและวันที่ 5 และผู้เดินทางต้องมีข้อมูลการจองโรงแรมที่พักทั้ง 2 วัน หากผลตรวจพบเชื้อจะได้เข้าสู่ระบบการรักษากับโรงพยาบาลคู่สัญญา พร้อมทั้งกำหนดระบบประกันสุขภาพให้ชัดเจน รวมถึงคงพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ให้เป็นระบบสำรอง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับเดือน ม.ค. 2565 มีรายงานผู้เดินทางเข้าประเทศ ฝ่าฝืนข้อกำหนด จำนวน 22 คน พบมากที่สุดคือกรณีตามตัวไม่พบ หลังตรวจ RT-PCR ผลติดเชื้อ โดยนักท่องเที่ยวไม่ได้พักอยู่ในโรงแรมเดิม หรือมีเงินไม่เพียงพอ ดังนั้นเงื่อนไขใหม่ คืนวันที่ 5 ถ้าผลแล็บยังไม่ออกจะต้องพักค้างคืน รอจนกว่าผลตรวจจะออก กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานควบคุมโรคติดต่อจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด เทียบเคียงกับการฝ่าฝืนไม่สวมแมสก์ ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับตั้งแต่ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับตั้งแต่ 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
“ขอให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฎหมายไทย และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบว่าที่อื่นโทษแรงกว่าไทย เช่น ฝ่าฝืนไม่กักตัวในโรงแรมที่กำหนด ไม่สวมหน้ากากอนามัย สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับกว่า 1 หมื่นดอลลาร์ ไต้หวัน ปรับ 1 แสน ถึง 1 ล้านเหรียญไต้หวัน ฮ่องกง ปรับ 25,000 เหรียญ จำคุก 6 เดือน แคนาดา ฝ่าฝืนไม่ตรวจหาเชื้อใน Day 0-8 ปรับ 7.5 แสนเหรียญ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดเป็นกลุ่มก้อนในประเทศว่า จากการสอบสวนโรคยังพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจาก ร้านอาหาร/สถานบันเทิง สถานพยาบาล กทม. ติดเชื้อ 30 คน ชลบุรี 8 คน ลพบุรี 3 คน บุรีรัมย์ 3 คน เป็นต้น
ส่วนคลัสเตอร์โรงเรียน พบใน เพชรบุรี สุรินทร์ ชลบุรี มุกดาหาร และบุรีรัมย์ ซึ่งการติดเชื้อในเด็กนักเรียนเกิดขึ้นได้ โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดคุยกันว่า ติดเชื้อได้ แต่อย่าปิดเรียนทั้งโรงเรียน ซึ่งเป็นข้อสั่งการของผอ.ศบค.ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา มีการประชุมมองดูประโยชน์ของเด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนแทน โดยอาจจะปิดเฉพาะห้องเรียนที่พบมีการติดเชื้อหรือชั้นเรียน แต่ไม่ควรปิดทั้งโรงเรียนและในวันนี้เริ่มนำร่องฉีดวัคซีนในเด็กชั้นประถม เริ่มต้นจากกลุ่มเด็กป่วย มีโรคเรื้อรัง จึงขอให้ผู้ปกครองเตรียมความพร้อมนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด
นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อคลัสเตอร์โรงงาน ร้านทำผม การจัดพิธีกรรมทางศาศนา ร้านอาหาร สถานบันเทิง รวมถึงการติดเชื้อในค่ายทหาร
ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม.ที่ยังสูงนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ศบค.ชุดเล็ก เห็นว่า กทม. มีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความสามารถดูแลผู้ป่วยที่มียังคงทรงตัว จึงขอความร่วมมือชาว กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และดูแลสุขอนามัยส่วนตัว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดหาชุดตรวจ ATK เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตรวจหาเชื้อได้ด้วยตัวเอง ในช่วงบ่ายนี้จะมีการประชุม ยืนยันรัฐจะดำเนินการให้มีชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอ ที่ประชุมย้ำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหาชุดตรวจ ATK โดยต้องมีจุดจำหน่าย ซื้อขายได้ง่ายทั่วทั้งประเทศ หากประชาชนต้องการตรวจเพื่อประกอบในการแสดงหลักฐาน ภาครัฐและโรงพยาบาลรัฐต้องให้บริการในราคาต้นทุน