นายกฯตั้งใจทำเพื่อประเทศ ฟื้นความสัมพันธ์ซาอุดิอาระเบียสำเร็จ พร้อมเดินหน้าทั้งด้านการค้า การลงทุน แรงงาน ท่องเที่ยว จ่อจัดเวทีระดมความคิด ขานรับโอกาสสู่จังหวัดชายแดนใต้ ก.พ.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนกับผลสำเร็จจากการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ
นายกรัฐมนตรีเดินทางในครั้งนี้ ถือเป็นผู้แทนคนไทยทุกคนทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และคนไทยที่อยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย ภูมิใจแทนคนไทยทุกคน ที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียให้การต้อนรับอย่างเต็มที่ สมเกียรติ ซึ่งได้นำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติ และเริ่มการวางแนวทางความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ในอนาคต ทั้งด้านแรงงาน การค้าและการลงทุน และการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พี่น้องคนไทยและประเทศชาติ นำความร่วมมือ ซึ่งจะเป็นการพัฒนามหาศาลกลับมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง
นายธนกร กล่าวอีกว่า เป็นผลสำเร็จจากความพยายามของรัฐบาล ที่สามารถทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างหลากหลายจากการปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน เพราะตลาดซาอุดีอาระเบียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ และเป็นตลาดการลงทุนสำคัญของไทย จะทำให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้ามากขึ้น
โดยข้อมูลจากหอการค้าไทย ในปี 2564 ไทยมีการทำการส่งออกไปซาอุดีอาระเบียประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมดจากประเทศไทย หากไทยสามารถทำการค้ากับซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มขึ้น จะทำให้สัดส่วนทางการค้า และการส่งออกไปประเทศซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออกทั้งหมด ได้เหมือนปี 2532 ซึ่งหมายถึงปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจไทยในตลาดสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอาหาร และอาหารแปรรูป อาหารฮาลาล สินค้าเกษตร เครื่องจักรกล เครื่องประดับ อุปกรณ์ไฟฟ้า Medical Hub และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงสินค้าที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม คือสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งล้วนเป็นสินค้านำเข้าสำคัญของซาอุดีอาระเบีย และสอดคล้องกับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยด้วยเช่นกัน
สำหรับผลประโยชน์ด้านแรงงาน จะทำให้ทั้งแรงงานมีฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือได้กลับไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ ช่วงที่ซาอุดีอาระเบียมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งในอดีตเคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน สามารถสร้างรายได้ส่งกลับไทยมากกว่า 9 พันล้านบาทต่อปี
ส่วนด้านการท่องเที่ยว กระทรวงการต่างประเทศ คาดว่าจะมีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าหลังการปรับความสัมพันธ์ ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวซาอุดิอาระเบียในไทย น่าจะอยู่ประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 5 พันล้านบาท ซึ่งชาวซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพสูงในแง่การจับจ่ายใช้สอย เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะส่งเสริมไทยในด้าน medical hub และ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Thailand Wellness
"ผลประโยชน์ของประเทศไทยและต่อพี่น้องชาวไทยที่เกิดจากการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีล้วนมาจากความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีต่อประเทศชาติ นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกเสียงที่ชื่นชมผลสำเร็จของการทำงานในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังใจสำคัญในการทำงานต่อไปของนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรองรับโอกาสที่ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน แรงงาน และการท่องเที่ยว ที่เข้ามาพร้อมกับการเปิดความสัมพันธ์ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมถึงประชาชนโดยเร็ว" นายธนกรกล่าว
ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ยังนำไปสู่การเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียอย่างสมบูรณ์ และการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆอันจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ในการนี้ พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้กำหนดแนวทางต่อยอดโอกาสจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม และผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมสัมมนา หัวข้อ "โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯฟื้นความสัมพันธ์" ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ ข้าราชการ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบีย และประชาชนทุกสาขาอาชีพ กว่า 500 คนที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งศอ.บต. จะรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดิอาระเบียต่อไป อีกทั้ง จะได้นำเสนอต่อการประชุมเอกอัครราชทูตและทูตานุทูตโลกอิสลามประจำประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลาม ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. ด้วย
นางสาวรัชดา กล่าวเสริมว่า การจัดประชุมเอกอัครราชทูตโลกอิสลามและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลามดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนการทำงานของ ศอ.บต ปี 2565 ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาตอนี และสมาคม ชมรมและกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเก่าจากโลกมุสลิม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ครอบคุลมด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมของประชาชนและอื่น ๆ รวมทั้ง การเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ทั้งที่สำเร็จการศึกษาจากโลกมุสลิมแล้ว ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศที่ตนเองสำเร็จการศึกษา การนำชมพื้นที่การทำงานที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างทรัพยากรบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"การเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือและประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน การศึกษาและวิจัย ความมั่นคง การท่องเที่ยวและกีฬา และยังส่งผลบวกต่อความรู้สึกของชุมชนมุสลิมในประเทศที่มองซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันจะทำให้การประสานงานและการขับเคลื่อนงานพัฒนาระหว่างจังหวัดชายแดนใต้กับซาอุดีอาระเบียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายขอบเขตและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือในทุกๆด้าน” นางสาวรัชดา กล่าว