ศบค.รายงานพบคลัสเตอร์สถานศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นก่อนอนุบาล จนถึงมัธยมกระจาย 11 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่พบติดเชื้อสูงสุดที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน จ.ราชบุรี ติดเชื้อรวม 311 ราย หลังกลับมาจากปีใหม่ ชี้การตรวจ ATK อาจเจอผลลบลวงได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศว่า ศบค.พบคลัสเตอร์สถานศึกษาหลายจังหวัด ได้แก่ ราชบุรี น่าน เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย ยโสธร เลย และศรีสะเกษ
โดยพบโรงเรียนที่มีการติดเชื้อ ตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาล จนถึงระดับมัธยทศึกษา เป็นสถานศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน และมีทั้งโรงเรียนประจำ และโรงเรียนกีฬา
"สิ่งที่สำคัญที่แต่ละโรงเรียนรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เมื่อหน่วยงานสาธารณสุขลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมีมาตรการที่เข้มงวด บุคลากรฉีดวัคซีนค่อนข้างครบถ้วน แต่ปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อมักจะมาจากการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม เช่น การจัดแข่งขันกีฬา การจัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศน์ฉลองนักเรียนจบการศึกษา และมีการรับประทานอาหารร่วมกัน มีการเปิดหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นลักษณะปัจจัยเสี่ยงเดียวกับพิธีกรรมทางศาสนา หรือการจัดงานเลี้ยง งานบวช งานแต่งงาน" พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์คลัสเตอร์โรงเรียนที่จังหวัดราชบุรี เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน มีรายงานยืนยันจาก สสจ.ราชบุรี ว่ามีผู้ติดเชื้อรวมกันทั้งสิ้น 311 ราย โดยกรณีดังกล่าวเป็นโรงเรียนประจำที่อนุญาตให้นักเรียนกลับบ้านช่วงปีใหม่ และกลับมาในวันที่ 14-16 ม.ค. 2565
มีนักเรียนประมาณ 570 คน กลับมาจากที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งโรงเรียนได้มีการปฏิบัติตามมาตรการที่ถูกต้อง มีการคัดกรองตรวจ ATK ในเบื้องต้นตั้งแต่วันที่กลับมา ปรากฎผลตรวจเป็นลบทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มครูด้วย และต่อมาเมื่อตรวจคัดกรอง ATK เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ม.ค. 2565 พบว่าจากเดิมที่มีผลเป็นลบ กลายเป็นผลบวก ครั้งแรกที่เจอ 120 ราย ทางโรงเรียนได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างถูกต้อง รีบแจ้งไปที่สสจ.ราชบุรี โดยโรงพยาบาลปากท่อส่งเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือ มีการคัดแยกผู้ป่วย มีการแยกผู้ที่มีความเสี่ยงสูง มีการเก็บตัวอย่าง PCR ตั้งแต่ 24 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา
“รายงานวันนี้ผลเป็นบวก 311 ราย จากจำนวนนักเรียน และครู 6 ราย รวมเป็น 576 ราย โดยในวันนี้ทาง สสจ.ราชบุรี รายงานว่า นักเรียนได้เจ้ารับการรักษาแล้ว 26 รายในโรงพยาบาล และมีอีก 285 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม เบื้องต้นมีการปิดโรงเรียนไปก่อน มีการทำความสะอาด มีการสอบสวนโรค และดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสม” พญ.อภิสมัยกล่าว
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาสู่คำถามว่า การที่ตรวจ ATK มีความแม่นยำเพียงพอหรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การตรวจ ATK นั้น มีความสำคัญ แต่ต้องพึงระวังว่าสามารถเกิดผลลบลวงได้ไม่เกิน 10% หรืออยู่ประมาณ 5-7% ซึ่งทางกระทรวงสาธาณสุขได้มีคำแนะนำว่า แม้ว่าจะตรวจ ATK เป็นลบ แต่ถ้าสำรวจประวัติแล้ว มีการเดินทางมาจากหลายพื้นที่ มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก มีประวัติสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยง ขอให้กักตัวก่อนเป็นเวลา 7 วัน คล้ายกับมาตรการสถานประกอบการ โรงงาน ที่ต้องมีการแยกกักก่อน
หากมีผล ATK เป็นบวก เรียกว่าท่านเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย มีคำแนะนำให้กักตัว 7 วัน สังเกตอาการตนเอง พอวันที่ 8-10 แม้จะผลเป็นลบ ก็อนุญาตให้ทำงานได้แต่ยังต้องแยกพื้นที่กับผู้อื่น มีการเฝ้าระวังมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล และไม่ไปในที่สาธารณะ เลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะช่วงหนาแน่น
"การติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์มาจากการทำกิจกรรม ขอให้โรงเรียนจัดมาตรการซีล เช่น โรงงานหากมีหลายแผนก ก็จะมีพื้นที่รับประทานอาหารเฉพาะแผนก เมื่อเกิดการติดเชื้อก็จะไม่ทำให้ฝ่ายอื่นปิดไปด้วย ตรงนี้ช่วยได้เพราะบางทีพบนักเรียนติดเชื้อ 2-3 รายไม่มีความจำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน มาตรการตรงนี้คาดว่า สธ. และ ศธ. มีคู่มืออยู่แล้ว ต้องช่วยกันกำกับให้เข้มงวดมากขึ้น ขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองการร่วมด้วยช่วยกัน จะทำให้เด็กๆ ได้กลับเข้าโรงเรียนและสนับสนุนพัฒนาการที่ดีของเด็กต่อไป" พญ.อภิสมัย กล่าว
นอกจากนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนยังพบในร้านอาหาร ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ พิธีกรรมทางศาสนา อย่างที่เน้นนย้ำว่ามีรายงานต่อเนื่อง ได้แก่ คลัสเตอร์งานแต่งงาน พบที่น่าน จันทบุรี สระบุรี และคลัสเตอร์งานบวชที่ร้อยเอ็ด