คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับ 5 คดี รวมเรื่องทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ เป็นคดีพิเศษ พร้อมให้ออกประกาศ กคพ.แทนฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 1/2565 โดยใช้รูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รองประธานกรรมการคดีพิเศษ คณะกรรมการคดีพิเศษ และมีนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการเลขานุการการประชุม
ครั้งนี้เป็นการประชุมที่สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ผลการประชุมมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1.ที่ประชุมรับทราบผลการประเมินการฝึกอบรมตามโครงการฝึกอบรมหลักสูตรสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์สูงมาก และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรอบรม โดยเน้นการฝึกภาคสนามมากขึ้น รวมทั้งให้มีการฝึกอบรมร่วมกันหน่วยงานของรัฐร่วมกัน
2.ที่ประชุมมีมติให้ความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จำนวน 5 เรื่องประกอบด้วย
-
เรื่องที่ 1 กรณี การทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด
(อ่านข่าวประกอบ : DSI รับคดีทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ เสนอ คกก.คดีพิเศษ) -
เรื่องที่ 2 กรณี กลุ่มบุคคลกระทำการเป็นขบวนการนายหน้าจัดให้มีการรับตั้งครรภ์แทน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย (อุ้มบุญ)
-
เรื่องที่ 3 กรณี ขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในจังหวัดหนองคาย กรณี เด็กชายแทนไท (นามสมมุติ)
-
เรื่องที่ 4 กรณี ขอให้ดำเนินการกับโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมประกอบกิจการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้าน บริเวณหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
-
เรื่องที่ 5 กรณี การขุดตัก ทำลาย และยึดถือครอบครองทางสาธารณะในบริเวณพื้นที่ บึงปรีดา ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
3.ที่ประชุมเห็นชอบให้ออกประกาศ กคพ. ว่าด้วยกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แทนฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ด้านอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องปรับปรุงรายละเอียดการกระทำความผิดให้เหมาะสม