สธ.เผยโอไมครอนครองการระบาดในไทยแล้ว 85% มาจากต่างประเทศ 97% กระจายครบ 77 จังหวัดแล้ว พบมากสุดที่ กทม. 4,178 ราย รองลงมาเป็นชลบุรี ภูเก็ต คาดปลายเดือน ม.ค.จะมาแทนเดลต้าทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ในประเทศไทย ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน สำรับผู้ติดเชื้อสะสม 10,72 ราย โดยจังหวัดที่พบสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กทม. 4,178 ราย ชลบุรี 837 ราย ภูเก็ต 434 ราย ร้อยเอ็ด 355 ราย สมุทรปราการ 329 ราย สุราษฎร์ธานี 319 ราย กาฬสินธุ์ 301 ราย อุดรธานี 217 ราย เชียงใหม่ 214 ราย และขอนแก่น 214 ราย
สำหรับภาพรวมขณะนี้ พบว่า สัดส่วนเป็นโอไมครอน 87% และเดลต้า 13% เมื่อแยกเป็นกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ แบ่งเป็นโอไมครอน 97% ฉะนั้นจากนี้สันนิษฐานได้ว่าผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วงพบติดเชื้อจะเป็นโอไมครอนทั้งหมด ส่วนกลุ่มอื่นในประเทศ เป็นโอไมครอน 80% และเดลต้า 20%
"ข้อมูลในช่วง 11-17 ม.ค. ภาพรวมประมาณ 87% แต่เฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 97% จาก 1,437 ตัวอย่าง ขณะที่ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นโอไมครอน 80% เดลต้า 20 % เป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสายพันธุ์ย่อยในไทย ในกลุ่มคนทั่วไป วันนี้สัดส่วนทีจอโอไมครอน 85% เดลต้า 15 % แต่มีเดลต้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบประมาณ 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอไมครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าแน่นอน ส่วนกลุ่มที่วัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลต้าพอสมควร บุคลากรการแพทย์ 25% เป็นเดลต้า และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 รายที่มีการติดเชื้อซ้ำเป็นโอไมครอน 100% จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดิม เช่น เดลต้าจะมีภูมิสูง แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำป็นโอไมครอนได้ สะท้อนว่าภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมกันเชื้อโอไมครอนได้
"ในเชิงพื้นที่ตามเขตสุขภาพต่างๆ หลายเขตขึ้นไป พบโอไมครอน 70-80% ที่เพิ่มเยอะคือเขต 4,6,7 ขึ้นไปเกือบ 90% และเขต 13 กทม. 86% ส่วนใหญ่เป็นโอไมครอน ที่เหลือลดลง แต่ที่น่าสังเกตคือเขต 12 หรือชายแดนใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเดลต้า ดังนั้นพื้นที่นี้มีลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่นไม่มีสานบันเทิง และไม่มีการรั่วมาจากมาเลเซีย คนมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้ไปในพื้นที่มากมายทำให้ครึ่งหนึ่งเป็นเดลต้า แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยโอไมครอนอยู่ดี" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปว่าโอไมครอนมีการระบาดเร็ว คนที่มาจากต่างประเทศ 97% เป็นโอไมครอน ดังนั้นจากนี้อาจจะไม่ต้องตรวจสายพันธุ์แล้ว แต่ให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นโอไมครอน ส่วนในประเทศโอไมครอน 80% เดลต้า 20% ส่วนผู้เสียชีวิต ยังเกิดจากเดลต้าเกินค่าเฉลี่ย
"อย่าสันนิษฐานว่าติดเชื้อตอนนี้เป็นโอไมครอนแล้วอาการไม่รุนแรง แต่แท้จริงอาจจะเป็นเดลต้าแทนก็ได้ กลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำเกิดจากโอไมครอน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ดูข่าวนักการเมืองใหญ่บอกว่าฉีดวัคซีนแล้ว เคยติดเชื้อแล้วยังเป็นโอไมครอนซ้ำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโอไมครอนหลบวัคซีนได้ วัคซีน 2 เข็มอาจจะไม่เพียงพอกันการติดเชื้อ" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวในช่วงท้ายว่า คาดว่าสิ้นเดือนนี้ภายในประเทศจะเป็นโอไมครอนเท่ากับคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดลต้าจะหายไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การตรวจพันธุ์กรรมก็อาจจะลดลง แต่ยังทำอยู่เพื่อดูว่าโอไมครอนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ อาจจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม รวมถึงเฝ้าระวังคนเดินทางมาจากต่างประเทศด้วย และแม้แต่เดลต้าเดิม เราก็พบเดลต้าที่มีปัญหามากขึ้นเช่นกันจึงต้องเฝ้าระวังต่อไป ดังนั้น เรายังต้องอยู่กับโอไมครอน ถ้าไม่มีความรุนแรงมากนัก ทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้นในการดำเนินการ ทั้งนี้ ยังสนับสนุนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไม่ว่าสูตรไหน เพื่อลดการระบาดของโอไมครอน ลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต