ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง 4 ข้าราชการ คดีทุจริตซื้อรถ-เรือดับเพลิง มูลค่า 6 พันล้าน ไม่พบข้อบ่งชี้ว่ามีเจตนากระทำความผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง อ่านคําพิพากษา (ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.2/2564 หมายเลขเลขแดงที่ อม.อธ. 1/2565 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายสุวิทย์ ศิลาทอง , น.ส.สุทิพย์ ทิพย์สุวรรณ , พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนสิริ , พ.ต.ท.รักศิลป์ รัตนวราหะ ทั้ง 4 คนดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการจัดซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร โดยวิธีพิเศษ จําเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล
คดีนี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้จําเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ มีอำนาจหน้าที่ บริหารโครงการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
แต่การที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นําร่าง A.O.U. ให้คณะกรรมการบริหารโครงการพิจารณาก่อนลงนามในถึง 133,749,780 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 6,687,489,000 บาท เพียง 1 วัน จึงเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงในการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงที่มีราคาสูงมิให้จําเลยทั้งสี่ล่วงรู้ เพื่อให้การพิจารณาร่าง A.O.U. ผ่านไปได้โดยเร็ว
และร่าง A.O.U. ระบุให้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ทำให้จําเลยทั้งสี่เข้าใจว่าเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ การรับทราบและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง A.O.U. จึงเป็นกรณีที่จําเลยทั้งสี่เข้าใจว่าได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครโดยถูกต้องแล้ว พฤติการณ์ของจําเลยทั้งสี่ฟังได้ว่า จําเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารโครงการ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่าที่ทำได้ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้ว
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของจําเลยทั้งสี่ในฐานะ คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เห็นว่า เมื่อ A.O.U. เป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามมติของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุของกรุงเทพมหานคร และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของกระทรวงกลาโหม ปรากฏว่า กรุงเทพมหานครมีการเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อทำความตกลงกับสาธารณรัฐออสเตรียก่อนที่จะมีการแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการสลับขั้นตอนผิดไปจากการดำเนินการตามปกติ และยังเป็นการจํากัดอำนาจของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษให้ต้องจัดซื้อตามราคาที่กำหนดมาแล้ว ทั้งการแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่ดังกล่าวก่อน จะมีการลงนามซื้อขายในวันที่ 27 ส.ค.2547 เพียง 7 วัน เป็นการจํากัดให้จําเลยทั้งสี่มีเวลาดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ให้น้อยที่สุด
แม้ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีการแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่ก็มีการดำเนินการต่าง ๆ โดยมุ่งหมายเพื่อทำข้อตกลงซื้อขายมาโดยตลอด การแต่งตั้งจําเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นเพียงเพื่อให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ.2538
ประกอบกับคดีนี้เป็นการจัดซื้อจากต่างประเทศที่มี ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทนในราคาที่เท่ากัน จะอนุมานว่าจําเลยทั้งสี่ทราบข้อเท็จจริงว่ารถและเรือดับเพลิงมี ราคาสูงอยู่ก่อนแล้วย่อมเป็นการรับฟังเป็นผลร้ายแก่จําเลยทั้งสี่ พฤติการณ์แห่งคดีมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและเป็นไปได้ว่าจำเลยทั้งสี่เป็นเพียงกลไกที่ถูกใช้เป็นทางผ่านเพื่อนําไปสู่การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ตามที่มีการดำเนินการโดยส่วนอื่น ๆ มาแต่ต้น
จึงยังฟังไม่ได้ว่าการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในราคาสูงนั้นเกิดจากการที่จําเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบหรือสืบราคาเปรียบเทียบ
นอกจากนี้ ก็ไม่ปรากฏ ผลประโยชน์อย่างอื่นจากการกระทำดังกล่าวที่จะเชื่อมโยงให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยทั้งสี่ว่าต้องการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบแทนพยานหลักฐานตามทางไต่สวนฟังไม่ได้ว่าจําเลยทั้งสี่มีเจตนาปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษโดย มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออํานวยแก่ บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับ กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด
ทั้งคดีอาญาศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจะถือเอาข้อเท็จจริง ในคดีก่อนมาผูกพันเทียบเคียงสำหรับการกระทำที่แตกต่างกัน โดยที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีด้วยไม่ได้
คำพิพากษาที่โจทก์อ้างไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาในการกระทำความผิดร่วมกับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องจําเลยทั้งสี่มานั้น องค์คณะผู้พิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ศาลจึงพิพากษายืน