‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่งกลับให้ ‘ศาลปกครองชั้นต้น’ รับคดีฟ้องเพิกถอนประกาศสาธารณสุขฯ กำหนด หลักเกณฑ์ฯ ‘หีบห่อผลิตภัณฑ์ยาเส้น’ ระบุเป็นการยื่นฟ้องในระยะเวลาที่กำหนด
................................
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้อง ในคดีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและพวก รวม 28 ราย (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้อง รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ.2562
สำหรับคดีนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและพวก ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึง 28 ซึ่งประกอบอาชีพเกี่ยวกับการผลิตยาเส้น การพับซองยาเส้น และหรือผลิตยาเส้นปรุง ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย จากการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ในการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ.2562 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อนออกประกาศ ตามเจตนารมณ์มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560
ขณะเดียวกัน ประกาศดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชนที่ผลิตและแปรรูปยาเส้นโดยตรง และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ซึ่งอาชีพหรือกิจการขนาดเล็กหรือขนาดย่อม เนื่องจากประกาศฉบับนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เชิงบังคับให้ผู้ประกอบการต้องผลิตซองบรรจุ กล่อง วัสดุ กระดาษห่อหุ้มซองตามที่ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ กำหนด
ส่งผลให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายเล็กที่เคยผลิตหรือว่าจ้างโรงพิมพ์ผลิตซองบรรจุ กล่อง วัสดุ กระดาษห่อหุ้มซอง ในรูปแบบ ต้องไปว่าจ้างโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าในการผลิตแทน และหากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายเล็กไม่ดำเนินการตามแบบที่กำหนด ก็จะเข้าข่ายความผิด เจ้าหน้าที่อาจทำการยึด จับกุมและลงโทษทางอาญาได้ ดังนั้น การใช้อำนาจของ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ จึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร
ผู้ฟ้องทั้ง 28 ราย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ.2562 และให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน
รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง นำประกาศกระทรวงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางการติดต่อเพื่อการเลิกสูบยา ในฉลากยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2555 มาบังคับใช้เช่นเดิม
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากประกาศฯได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2562 แล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 12 ก.พ.2563 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นจากกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับการฟ้องคดีนี้ มิใช่คดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 เอง
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 ขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ร่วมกันดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ฯลฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง นำประกาศกระทรวงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางการติดต่อเพื่อการเลิกสูบยา ในฉลากยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2555 มาบังคับใช้เช่นเดิม นั้น
ศาลฯเห็นว่า คำขอดังกล่าวเป็นคำขอที่ต่อเนื่องจากคำขอหลักของผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 ที่ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ.2562 ดังนั้น เมื่อศาลฯไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนคำขอหลักของผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 ไว้พิจารณาได้ คำขออื่นๆ ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลสนับสนุนคำขอหลักย่อมไม่อาจรับไว้พิจารณาได้เช่นกัน
จากนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องไว้พิจารณา โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทยาเส้นหรือยาเส้นปรุง พ.ศ.2562 กำหนดให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 270 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศนี้จึงมีผลบังคับใช้
ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2563 เป็นต้นไป การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 28 นำคดีมาฟ้องต่อศาลฯเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนดระยะเวลาฟ้องตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542