สธ.เผยพบผู้เสียชีวิตจากโอไมครอน 2 รายแรก ในจังหวัดสงขลาและอุดรธานี มีปัจจัยเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิดภายในประเทศไทยว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,929 ราย เสียชีวิต 13 ราย โดยผู้เสียชีวิตที่ยืนยันสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้พบ 2 ราย สำหรับรายแรกอยู่จังหวัดสงขลา เป็นหญิงไทย อายุ 86 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียงและอัลไซเมอร์ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว มีประวัติเสี่ยงหลานชายเดินทางกลับมาจากจังหวัดภูเก็ตและตรวจพบเป็นผู้ป่วยยืนยันสายพันธุ์โอไมครอน แพร่เชื้อให้แก่คนในครอบครัว โดยมีไทมไลน์ดังนี้
วันที่ 6 ม.ค. 2565 ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ ทราบข่าวลูกสาวตรวจพบเชื้อโควิด ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผลเป็นบวกจึงส่งต่อเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่
วันที่ 7 ม.ค. 2565 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์เก็บตัวอย่าง ส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผลพบติดเชื้อ ผู้ป่วยมีใข้ 38.5C ไอ หายใจลำบาก แพทย์รับไว้ที่แผนก เอ็กซเรย์ปอด ผล infltration both lungs, on ETT แพทย์จ่ายยา Dexamethasone 10mg., Remdesivir
วันที่ 12 ม.ค. 2565 ผู้ป่วยเสียชีวิต เวลา 09.20 น. ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ผลพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงผู้ติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิตรายที่สองว่า อีกรายเจอที่จังหวัดอุดรธานี เป็นหญิงไทย อายุ 84 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด มีประวัติเสี่ยงลูกชายไปพบปะสังสรรค์แล้วเพื่อนลูกชายติดโควิด จึงเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยมีไทมไลน์ดังนี้
วันที่ 9 ม.ค. 2565 ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT -PCR เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของลูกชาย
วันที่ 10 ม.ค. 2565 ผลตรวจพบเชื้อ โรงพยาบาลประสานเพื่อเข้ารับรักษา ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธการเข้ารักษาในโรงพยาบาล แพทย์อนุญาติให้เข้าสู่ระบบ Home Isolation ตามความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติ แพทย์ให้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ตามแผนการรักษา และจัดเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายและออกซิเจนปลายนิ้ว โดยออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้ ซึ่งก่อนติดเชื้อโควิดลูกชายที่ดูแลแจ้งว่าค่ออกซิเจน
ปลายนิ้วก็อยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีเหนื่อย หายใจไม่หอบ
วันที่ 11-12 ม.ค. 2565 ออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้
วันที่ 13-14 ม.ค. 2565 ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ไม่มีหายใจหอบ ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้ว 86-87%
วันที่ 15 ม.ค. 2565 ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หายใจหอบ คำออกซิเจนปลายนิ้ว <76% เปลี่ยนออกซิเจนจาก cannular เป็น mask c bag ให้ออกซิเจนปลายนิ้ว 90% ประสานผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล แต่ญาติปฏิเสธการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์ให้เพิ่มฟาวิพิราเวียร์ จาก 5 วันเป็น 10 วัน และเพิ่มมอร์ฟีน ให้เนื่องจากยาเดิมหมด เวลา 16.00 น. ผู้ป่วยตอบสนองได้น้อยลง หายใจหอบลึก และคลำชีพจรไมได้ หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตเวลา 19.45 น. รวมระยะเวลารักษา Home Isolation 6 วัน
“ก่อนหน้านี้เราก็ทราบว่าการเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิต โดยใน 2 ท่านนี้ ท่านนึงก็เป็นอัลไซเมอร์ และสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงนัก และอีกรายป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องใส่ออกซิเจนในส่วนสมรรถภาพของปอดอาจไม่ได้เป็นปกติเหมือนผู้สูงอายุทั่วไป แม้ว่าในภาพรวมของหลายประเทศโอไมครอนอาจจะดูไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดรุนแรงได้ ซึ่งทั้ง 2 ราย มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรง ขอแสดงความเสียใจแก่ญาติพี่น้องครอบครัวของทั้ง 2 ท่านด้วย” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโอไมครอนสะสมในไทยเจอเกือบหมื่นรายแล้ว แต่ผู้เสียชีวิต 2 ราย มาจากไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือไม่นั้น ตนเองชี้แจงว่าจริงๆ วัคซีนถึงได้รับ 2 เข็มก็ช่วยลดความรุนแรงได้ แต่การเกิดปัญหาใครป่วยหนักจนเสียชีวิตมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ซึ่ง 2 รายนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่ค่อยปกติ