บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ เผยผลการทดลองพบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เหมาะใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งในกลุ่มผู้เคยรับวัคซีนชนิดเดียวกัน mRNA หรือเชื้อตาย กระตุ้นภูมิดีสู้โอไมครอนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลลัพธ์เชิงบวกจากการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดลองเรื่องความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน (D7220C00001) พบว่าเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม สามารถเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์เบต้า เดลต้า อัลฟ่า และแกมม่า ในขณะเดียวกันอีกการวิเคราะห์หนึ่งที่ใช้ตัวอย่างการทดลองเดียวกันนี้ ค้นพบอีกว่าการตอบสนองของแอนติบอดีเพิ่มขึ้นต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการทดลองดังกล่าว สังเกตในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือวัคซีนชนิด mRNA มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากอีกการทดลอง (RHH-001) ซึ่งเป็นผลการทดลองในระยะที่ 4 รายงานในระบบจัดเก็บเอกสารวิชาการก่อนการตีพิมพ์ออนไลน์ใน 'The Lancet' ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นที่สามนั้น เพิ่มระดับแอนติบอดีได้เป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาก่อน
จากข้อมูลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่สามได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงวัคซีนที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ กำลังส่งข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม
- ไทยป่วยโควิดใหม่ 8,167 สะสมแตะ 2.3 ล้าน ตาย 14 ราย ชลบุรีติดเชื้อใหม่อันดับหนึ่ง
- กทม.เตรียมพร้อมรับการระบาดรอบใหม่ เร่งฉีดเข็ม 3-วัคซีนเด็ก 5-11 ปี มาปลาย ม.ค.นี้
เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ กล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าช่วยปกป้องผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกจากโรคโควิด และข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม ซึ่งรวมถึงการใช้กับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนประเภทอื่นมาก่อน เนื่องด้วยความเร่งด่วนอย่างต่อเนื่องของโรคระบาด และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สามารถเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ เราจะดำเนินการยื่นขอทะเบียนอนุญาตทั่วโลกเพื่อนำวัคซีนตัวนี้มาใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม
ศาสตราจารย์ เซอร์ แอนดริว เจ พอลลาร์ด ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายตรวจสอบ Oxford Vaccine Group มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาที่สำคัญนี้แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม หลังจากที่ได้รับวัคซีนสองเข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีน mRNA หรือวัคซีนเชื้อตาย ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดีเพื่อสู้กับโรคโควิด วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้นเหมาะที่จะเป็นทางเลือกที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับประชากรของหลายๆประเทศที่กำลังพิจารณาโปรแกรมการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อเป็นการเพิ่มป้องกันหลังจากที่ได้รับหลังได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม
ส่วนการทดลองเรื่องความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน (D7220C00001)แสดงให้เห็นว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้รับการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากการทดลองนี้ คาดว่าจะเปิดเผยได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
นอกจากจากการศึกษาก่อนหน้าจะสนับสนุนว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามได้ทั้งหลังการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันและต่างชนิดกัน ในการวิเคราะห์ย่อยของผลการทดลอง COV001 และ COV002 แสดงให้เห็นว่า การใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามหลังจากการได้รับวัคซีนครบสองเข็มไปแล้ว 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีและรักษาการตอบสนองของทีเซลล์ให้อยู่ในระดับคงที่ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่สามยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้วัคซีน 2 เข็ม
ที่สำคัญในการทดลอง COV-BOOST แสดงให้เห็นอีกว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม จะเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมทั้งต่อสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์ดั้งเดิม ในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนไฟเซอร์ (BNT162b2) มาก่อน
ภาพจาก : PAHO.org