กทม.เตรียมพร้อมรับการระบาดรอบใหม่ เผยมีเตียงรองรับแล้ว 1 หมื่น เน้น Home Isolation ดูแลผู้ป่วย พร้อมเร่งฉีดเข็ม 3 เปิดให้บริการ 101 จุด ลงทะเบียนผ่านแอปฯ QueQ ได้ ขณะที่วัคซีนเด็ก 5-11 ปี จะเข้ามาปลายเดือน ม.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านระบบ Cisco Webex ว่า วันนี้ กทม.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 790 ราย โดยมียอดติดเชื้อเฉลี่ย 7 วัน อยู่ที่ 647 ราย ในภาพรวมถือว่าสถานการณ์โควิดใน กทม.ยังทรงตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ แต่อัตราการติดเชื้อยังถือว่าต่ำกว่าการระบาดในช่วงที่ผ่านมา เพราะจากการตรวจเชิงรุก 4,000 ราย พบอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 1-2% จากเดิมพบอยู่ที่ 10%
ลักษณะการแพร่ระบาดของโควิดใน กทม. ยังพบการแพร่ระบาดใน 2 ลักษณะ คือ 1.) ชุมชน เกิดจากการไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ และ 2.) ร้านอาหาร หรือร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเมื่อไปร้านดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมนานกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่
ส่วนคลัสเตอร์อื่น ๆ อย่างคลัสเตอร์แรงงานหรือโรงงาน ขณะนี้ยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ เช่นกัน ส่วนคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ ปัจจุบันเหลือพื้นที่เฝ้าระวัง 3 แห่ง ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 14 วันแล้ว
สำหรับการเตรียมความพร้อมเรื่องเตียง ขณะนี้กทม.มีเตียงรองรับแล้ว 10,000 เตียง มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 1,700-1,800 เตียง คิดเป็น 18.59% อย่างไรก็ตามเน้นย้ำให้ประชาชนที่มีความแข็งแรง หรือมีอาการเล็กน้อยทำการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งจะมีโรงพยาบาลในสังกัดและเครือข่าย 222 แห่งให้การดูแล เพื่อให้สามารถสำรองเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยโควิดอาการหนัก เน้นย้ำว่าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงก็จะมีแพทย์ประเมินสถานการณ์เพื่อรับตัวเข้าไปดูแลในโรงพยาบาลต่อไป ทั้งนี้หากมีผู้ป่วยใช้เตียงเพิ่มมากขึ้น ก็พร้อมเพิ่มเตียงภายใน 24 ชั่วโมง
“เราจัดเตรียมความพร้อมรับ worst case หลังมีข่าวการระบาดรุนแรงในต่างประเทศ อย่างอังกฤษที่เคยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากวันละ 8 แสนราย มาเป็น 2.4 แสนราย แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการก็จะใช้ระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ไม่ต้องมาเข้าโรงพยาบาลเพื่อแบ่งเบาภาระระบบสาธารณสุข จะได้ให้บุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยงานอย่างอื่น” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ขณะที่ประชาชนใน กทม.ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วจำนวน 9.3 ล้านโดส คิดเป็น 120% เข็มที่สอง จำนวน 6 ล้านโดส คิดเป็น 111% และเข็มที่สามเกือบ 2 ล้านโดส คิดเป็น 25% ทำให้มีอัตราการป่วยหนักลดลง แตกต่างจากการระบาดที่ผ่านมา แต่ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนเข้าไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ในจุดให้บริการ 101 จุด ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 31 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง และศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด อาคารกีเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยสามารถจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือโทรไปยังโรงพยาบาลโดยตรงได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวอีกว่า สำหรับจุดฉีดที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) จะเป็นจุดเก็บตกผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่ง และเข็มที่สอง ประชาชนสามารถเดินทางไปเข้ารับวัคซีนได้ที่จุดฉีดวัคซีนนี้ นอกจากนั้น ขณะนี้ ทางห้างสรรพสินค้าก็ได้ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน คือ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ที่คาดว่าจะเปิดเร็ว ๆ นี้ และมีที่โรงพยาบาลนวมินทร์ โรงพยาบาลธัญญา ปาร์ค โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เซ็นทรัลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากที่สุด
สำหรับการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งมาว่าปลายเดือน ม.ค.นี้ จะได้วัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็กและวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองที่ไม่กล้าฉีดไฟเซอร์ อยากได้วัคซีนเชื้อตาย แต่จะได้รับการจัดสรรเท่าใดนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพราะจะมีการประชุมกันในอีก 1-2 วัน แต่ตอนนี้ กทม.เริ่มสำรวจความประสงค์ของผู้ปกครองอยู่ และตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ที่โรงเรียนเช่นเดิม เพราะเคยมีประสบการณ์การฉีดวัคซีนเด็กมัธยมมาแล้ว
“สำหรับแผนการฉีดเข็มที่ 3 นั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ประกาศออกมาก กทม.เราดำเนินแนวทางตามสาธารณสุขอยู่ หากมีประกาศออกมา เราจะทำตามมาตรฐาน” พญ.ป่านฤดี กล่าว
ส่วนกรณีสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังให้ปิดอยู่ แต่ร้านใดที่อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นร้านอาหารจะต้องผ่านการประเมิน SHA Plus หรือ Thai Stop Covid 2 Plus ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนถึงวันที่ 15 ม.ค.นี้ ซึ่งจะมีสำนักงานเขตเข้าไปตรวจสอบและให้คำแนะนำในการเปิดเป็นร้านอาหารต่อไป ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรคมาก และลักษณะของคลัสเตอร์ที่พบมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อกันเองภายในหมู่ผู้ไปรับประทานอาหาร ไม่มีการติดไปสู่พนักงงานผู้ให้บริการ ซึ่งหมายความว่าร้านอาหารสามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ดี